พยากรณ์อากาศ

วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ในหลวง กับ สมเด็จย่า…ในวันสุดท้ายของแม่…




ในหลวงเฝ้าสมเด็จย่าอยู่จนถึงตีสี่ ตีห้า เฝ้าแม่อยู่ทั้งคืน จับมือแม่ กอดแม่ ปรนนิบัติแม่ จนกระทั่งแม่หลับ จึงเสด็จฯ กลับ…

       พอไปถึงวัง เขาโทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์ ในหลวงทรงรีบเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลศิริราช เห็นสมเด็จย่านอนหลับตาอยู่บนเตียง

       ในหลวงตรงเข้าไปคุกเข่ากราบลงที่หน้าอกแม่ พระพักตร์ในหลวง ตรงกับหัวใจแม่ ขอหอมหัวใจแม่…เป็นครั้งสุดท้าย ซบพระพักตร์นิ่งอยู่นาน แล้วค่อยๆ เงยพระพักตร์ขึ้น น้ำพระเนตรไหลนอง

 …

       ต่อไปนี้ จะไม่มีแม่ให้หอมอีกแล้ว เอามือกุมมือแม่ไว้ มือนิ่ม ๆ ทีไกวเปลนี้แหละ ที่ปั้นลูกจนได้เป็น กษัตริย์ เป็นที่รักของคนทั้งบ้านทั้งเมือง ชีวิตลูกแม่ปั้น

        มองเห็นหวีปักอยู่ที่ผมแม่ ในหลวงจับหวีค่อย ๆ หวีผมให้แม่ หวีให้แม่สวยที่สุด แต่งตัวให้แม่…ให้แม่สวยที่สุด ในวันสุดท้ายของแม่…

“พระองค์เจ้าโสมสวลี” ประทานถ้วยรางวัลแก่เด็กที่ชนะการประกวดสุขภาพเด็กของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย



(1 มิ.ย. 57) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปยังตึกศักรินทรภักดี วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย ประทานถ้วยรางวัลแก่เด็กที่ชนะการประกวดสุขภาพเด็ก ประจำปี 2557 ซึ่งฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2495 เพื่อส่งเสริมให้บิดา มารดา และผู้ปกครอง ดูแลเอาใจใส่ และให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงดูระหว่างกัน การประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 อายุตั้งแต่ 1-2 ปี 6 เดือน  และประเภทที่ 2 อายุตั้งแต่ 2 ปี 6 เดือน – 5 ปี มีเด็กสมัครเข้าประกวด และผ่านเกณฑ์ รวม 525 คน โดยมีเด็กที่ชนะการประกวด 16 คน

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล



วันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๕๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล จากนั้น ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลลงทะเลน้อย และพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลกับพันธุ์ปลาชนิดอื่น ๆ ลงทะเลอ่าวไทย ณ บริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล
ในโอกาสนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย
ปลานวลจันทร์ทะเล หรือชื่อเรียกอื่น ได้แก่ ปลาดอกไม้ ปลาทูน้ำจืด ปลาชะลิน มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า มิลค์ฟิช (Milkfish) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชาโนส ชาโนส (Chanos Chanos) อาศัยอยู่ทั่วไปในท้องทะเลเขตร้อน และมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบมากบริเวณทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เพชรบุรี และบางส่วนของจังหวัดตราด ทั้งนี้ ปลานวลจันทร์ทะเลจัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และไต้หวัน เนื่องจากมีรสชาติดี เจริญเติบโตเร็ว ทนทานต่อโรค สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ และเลี้ยงง่าย เพราะกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งตะไคร่น้ำ แพลงตอน ไรน้ำ รำข้าว ขี้แดด รวมถึงอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การที่กินพืชได้ ทำให้การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลใช้ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ที่กินเนื้อ เหมาะสมต่อการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงสร้างรายได้
ประเทศไทยสำรวจพบปลานวลจันทร์ทะเลเป็นครั้งแรกบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ และได้มีการเพาะเลี้ยงขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเลี้ยงปลาดังกล่าว ณ สถานีประมงคลองวาฬ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ทรงพบว่า ราษฎรในพื้นที่ได้นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อมาเลี้ยงในบ่อ ซึ่งสภาพน้ำแม้จะมีระดับความเค็มต่ำ แต่ปลานวลจันทร์ทะเลก็เจริญเติบโตได้ และสามารถขายได้ราคาดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นอาชีพ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจำนวนหนึ่ง ปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ขณะนั้นราษฎรยังมิได้ให้ความสนใจเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมากนัก เนื่องจากปลาชนิดนี้จะขยายพันธุ์เฉพาะแต่ในทะเลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี กรมประมงได้ทดลองเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๐๘ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเพื่อเป็นอาชีพ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริดังกล่าว ไปดำเนินการสานต่ออย่างจริงจัง
ราวปี ๒๕๔๘ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จึงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การเร่งให้วางไข่นอกฤดูกาล การผสมเทียม และการเพิ่มอัตราการอยู่รอดของลูกปลา พร้อมกับส่งเสริมให้ราษฎรนำปลา
ที่เพาะพันธุ์ได้ดังกล่าวไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพตามพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจะนิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้ในกระชัง บ่อพักน้ำ นากุ้งร้าง หรืออาจเลี้ยงร่วมในบ่อเดียวกับกุ้งขาว ทั้งนี้ การเลี้ยงรอบหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๘ เดือน จึงจะได้ปลาที่มีน้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ คือตัวหนึ่งราว ๖๐๐ – ๘๐๐ กรัม ใช้ต้นทุนการเลี้ยง ๒๕ – ๓๐ บาทต่อน้ำหนักปลา ๑ กิโลกรัม และสามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ ๖๕ – ๗๐ บาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของการส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล คือ ปลาชนิดนี้มีก้างมาก ระยะแรกจึงไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาด ส่งผลให้ราคาไม่ดึงดูดความสนใจแก่ผู้เพาะเลี้ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงแก้ไขปัญหาโดยหาแนวทางแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ให้สามารถบริโภคได้ง่ายขึ้น วิธีการหนึ่งคือเรียนรู้เทคนิคการถอดก้างปลามาจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งปลานวลจันทร์ทะเลสด เมื่อถอดก้างแล้ว จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลายเช่น ปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ ปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว รมควัน และต้มเค็ม เป็นต้นนอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ราษฎรรวมกลุ่มกันเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลอย่างครบวงจรในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ดังที่ปรากฏเป็นกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และกราบบังคมทูลรายงาน กับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ “กรมประมงกับความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล” จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรวีดิทัศน์การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล เวลา ๗ นาที และทอดพระเนตรปลานวลจันทร์ทะเลกับปลาทูจากการเพาะเลี้ยง เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๙๙ ตัว ลงทะเลน้อย วังไกลกังวล แล้วทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดต่าง ๆ ที่แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล
จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง และนางนิออน พันธ์แก้ว ผู้แทนกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเลก้างนิ่มอบชานอ้อย และปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังบริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๕๙ ตัว ปลากุดสลาด หรือชื่อสามัญว่า บลูสปอตด์ กรูปเปอร์ (Blue Spotted Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ปลาเก๋าปะการัง หรือ โครัล กรูปเปอร์ (Coral Grouper) จำนวน ๔๙ ตัว ปลาทราย หรือ โอเรียนทัล ซิลลาโก (Oriental Sillago)
จำนวน ๓๙ ตัว และปลาเก๋าเสือ หรือ ไทเกอร์ กรูปเปอร์ (Tiger Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ลงทะเลอ่าวไทย สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อเวลา ๑๘.๒๓ น.

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ” ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดพะเยา

 
วันที่ 3 ก.พ.2557 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังโรงเรียนเชียงม่วนวิทยาคม อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ทรงเยี่ยมหน่วย พอ.สว. และหน่วยแพทย์พระราชทาน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่โปรดให้ออกหน่วยบริการตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วย โดยจังหวัดพะเยา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นจังหวัดแพย์อาสาลำดับที่ 47 ในปี 2520 ปัจจุบันมีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ อาสาสมัครสายต่าง ๆ รวม 1,484 คน ในปี 2556 ได้ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.18 หมู่บ้าน 24 ครั้ง มีผู้ป่วยมารับบริการกว่า 1,800 ราย ในการนี้ ทรงเยี่ยมราษฎรบ้านมาง และใกล้เคียงที่มาเฝ้ารับเสด็จ พร้อมพระราชทานของเล่นแก่เด็กเล็ก  บ้านมางมีราษฎร 893 หลังคาเรือน ประชากร 1,961 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเจ็บป่วยจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลเชียงม่วน ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร และที่หน่วยปฐมภูมิบ้านมาง

จากนั้น ทรงเยี่ยมหน่วย พอ.สว. จังหวัดพะเยา และหน่วยแพทย์พระราชทาน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ออกหน่วยบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ทันตกรรมและแพทย์แผนไทยแก่ราษฎร รวม 348 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคระบบโครงสร้างและกล้ามเนื้อ, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคระบบกระดูกและข้อ มีผู้ป่วยส่งรักษาต่อโรงพยาบาลในจังหวัด, โรงพยาบาลส่วนภูมิภาค, โรงพยาบาลส่วนกลาง 14 คน นอกจากนี้มีผู้ป่วยนำเฝ้า 4 คน เพื่อมีพระวินิจฉัยอาการร่วมกับคณะแพทย์ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมหมวกไต กระจายไปที่สมอง, ผู้ป่วยอาการเส้นประสาทอักเสบ, และผู้ป่วยโรคไวรัสขึ้นสมอง ส่งรักษาต่อโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ส่วนผู้ป่วยโรคลมชักและโรคอ้วนส่งรักษาต่อโรงพยาบาลศิริราช

โอกาสนี้ มีพระดำรัสแก่คณะพอ.สว. จังหวัดพะเยา โดยมีพระดำรัสถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ติดตามผลการดำเนินงานโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่

 
 
วันที่ 3 ก.พ.2557 นายพลากร  สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยเลขาธิการ กปร.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนจากส่วนกลางในโครงการ “สื่ออาสา สืบสานพระราชดำริ” ไปเยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยฟ้าห่มปก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบเครื่องกันหนาวพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ จำนวน 71 ราย

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยฟ้าห่มปก เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2544  เพื่อให้ราษฎรชาวไทยภูเขาได้เข้ามาอาศัยและทำกินในพื้นที่โครงการ โดยให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน มีราษฎรเข้าร่วมโครงการ 4 ชนเผ่า ได้แก่ อาข่า มูเซอกะเหรี่ยง และลีซอ มีกิจกรรมปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และแหล่งอาหารของชุมชน  นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูกข้าวจ้าวพันธุ์ กข. 9, และกาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80  ให้ความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตร การดำรงชีวิตประจำวัน ปัจจุบันพบว่าสภาพป่ามีความสมบูรณ์ขึ้นนอกจากนี้ยังส่งเสริมงานศิลปาชีพ สร้างรายได้แก่ราษฎรเพิ่มขึ้นจาก 54,740 บาทในปี 2554 เป็น 69,290 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2556

กษัตริย์นักพัฒนา


ฉันก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เกิดในผืนแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ที่ดีและเก่งที่สุดในโลก พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้ “ชาวไทย” ที่อาศัยใต้ร่มบารมีของพระองค์เป็นสุข พระองค์ทรงรักและห่วงใยชาวไทยทุกคนเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกับพระองค์เอง

เพราะพระองค์ ฉันจึงรู้จักคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”

“เศรษฐกิจพอเพียง”เป็นปรัชญาที่ในหลวงทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยให้รอดพ้นจากภัยวิกฤต ดำรงชีวิตโดยยึดทางสายกลาง รู้จักประมาณตนในการครองชีพ ประหยัด เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิมจนเกินตัว มีความรักความเมตตาในเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สังคมชุมชนดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

คงด้วยปรัชญาของพระองค์นี้เอง ทำให้ประเทศไทยผ่านภัยพิบัติที่ร้ายแรงมาได้เกือบทุกครั้ง  พระองค์ทรงห่วงใยคนไทยเหมือนกับพ่อที่ห่วงใยลูก  

 พระองค์ทรงทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชาวไทยทุกคนให้ปลอดภัย พระองค์ทรงช่วยเหลือให้ชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอนให้รู้จักพึ่งพาตนเอง ให้รู้จักทำมาหากิน ทรงช่วยเหลือชาวไทยที่ทุกข์ร้อน

 ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พระองค์ทรงติดตามข่าวอุทกภัยอย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วง จนดึกดื่นเที่ยงคืนพระองค์ก็ยังไม่เสด็จบรรทม ทั้งทรงตั้งคำถามผ่านเครื่องโทรพิมพ์ไปทางหาดใหญ่ว่า “น้ำลดหรือยัง”

คำตอบผ่านกลับมาตอนประมาณตีสองตีสาม มีข้อความตอบด้วยความไม่พอใจว่า   “ถามอะไรอยู่ได้ ดึกดื่นป่านนี้แล้ว คนเขาจะหลับจะนอน” แต่ตอนท้ายก็ไม่ลืมบอกด้วยว่า “น้ำลดแล้ว”   

พระองค์ก็ไม่ทรงถือสา กลับเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังด้วยความเมตตา

นอกจากนี้ พระองค์ยังสอนให้คนไทยมีความสามัคคี ช่วยเหลือ แบ่งปัน รัก และเมตตาต่อกัน

ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมชาวไทยทุกคนจึงเทิดทูนพระองค์ไว้เหนือเกล้า ทำไมชาวไทยทุกคนจึงเชื่อมั่นในพระราชดำริของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติ คงเป็นเพราะความรักที่พระองค์พระราชทานแก่ชาวไทยตลอดเวลานั่นเอง   

เมื่อมีโอกาสจะเห็นได้ว่าชาวไทยทุกคนต่างพร้อมใจกันถวายความจังรักภักดี  ดังจะเห็นได้จากการพากันสวมเสื้อเหลืองเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี

ในวันนั้น แม้จะต้องยืนท่ามกลางแสงแดด และผู้คนที่เบียดเสียดกันอย่างแน่นขนัด  ไม่เพียงแต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังมาจากทุกถิ่นที่ ทุกเพศ ทุกวัย แม้กระทั่งผู้พิการก็เดินทางมา

 เพียงเพื่อได้พบพระพักตร์ของพระองค์ เพื่อให้ประจักษ์กับตาตัวเองว่า พ่อหลวงของพวกเขายังทรงมีพระสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงหรือไม่  

 เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์และแย้มพระสรวล น้ำตาแห่งความปีติของชาวไทยก็เอ่อล้นออกมาเกือบจะทุกคนโดยมิได้นัดหมาย นี่คงเป็นความรักและความผูกพันที่ชาวไทยมีต่อพระองค์ในฐานะพ่อผู้ปกครองประเทศ

 ความห่วงใยของพระองค์ที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยทำให้พระองค์ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะพระองค์ทรงทราบว่า ถ้าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ดีสิ่งมีชีวิตก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมาแต่ครั้งโบราณ

ดังนั้น อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพหลักที่คนไทยใช้ในการเลี้ยงครอบครัว น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กลไกธรรมชาติสมบูรณ์ เอื้อต่อการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ   พระองค์จึงดำรัสให้มีการฟื้นฟูป่าเพื่อรักษาแหล่งน้ำ รณรงค์ให้ประชาชนอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 

ทรงแนะนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยให้เกษตรกรหันมาปลูกและใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก เพราะหญ้าชนิดนี้ นอกจากจะรักษาหน้าดิน ทำให้ดินเกิดความชุ่มชื่น สามารถเก็บกักน้ำได้ ป้องกันน้ำท่วมแล้ว รากของหญ้าแฝกยังมีกลิ่นเหมือนน้ำมัน กลิ่นเหล่านี้จะรบกวนหนูนาและแมลงศัตรูพืชบางชนิด     หญ้าแฝกใช้เป็นแนวรั้วตามธรรมชาติได้และยังได้ประโยชน์ในทางนิเวศวิทยาไปพร้อมกัน

หรือการที่พระองค์ทรงทดลองนำพืชธรรมชาติ เช่น  สบู่ดำ มันสำปะหลัง ปาล์ม และพืชที่มีน้ำมันอยู่ในตัวทุกชนิด มาสกัดใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ที่เรียกว่า “ไบโอดีเซล” ซึ่งช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ข้อดีของ “ไบโอดีเซล” นอกจากไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีราคาถูกอีกด้วย 

พระอัจฉริยภาพของพระองค์แสดงให้เห็นถึงการใช้ธรรมชาติช่วยเหลือธรรมชาติด้วยกัน เมื่อธรรมชาติไม่ถูกทำลาย สิ่งที่ตามมาก็คือมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้ คือมีอาหาร มีที่อยู่ มีน้ำ มีอากาศที่ดี ฯลฯ เมื่อธรรมชาติเกิดความสมดุล เราก็อยู่ได้อย่างพอเพียงโดยไม่ต้องอาศัยสารเคมีและสิ่งที่อาจทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ฉันรู้สึกประทับใจพระองค์ท่านมาก ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงห่วงใยลูกหลานชาวไทยทุกคน พระองค์เป็นพ่อที่ดีของลูกๆ เป็นพ่อหลวงที่ดีของชาวไทย สอนให้คนไทยรู้จักการดำเนินชีวิตที่ “พอดี พอเพียง” ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้     

พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม แต่พระองค์ยังประสบความสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาคน

‘Lifetime  Achievement  in  Human  Development  Award’ คือรางวัลแรกที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติทำขึ้นถวาย เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวไทย อันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง”

ฉันภูมิใจที่ได้เกิดในผืนแผ่นดินไทย เพราะประเทศไทยทำให้ฉันมีพระมหากษัตริย์ ที่เสียสละ เอาใจใส่ ช่วยเหลือชาวไทยทุกคน  

ทุกๆ วันฉันสวดมนต์ภาวนาให้ในหลวงของฉันทรงพระเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ฉันขอสัญญาว่าฉันจะเชื่อฟังคำสอนของในหลวง ฉันจะตั้งใจเรียนเพื่อนำความรู้มาช่วยให้ประเทศไทยพัฒนา เพราะประเทศไทยทำให้ฉันดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีความสุข เพราะประเทศไทย ฉันจึงมีพระมหากษัตริย์ที่สอนให้คนไทยมีความสามัคคี ช่วยเหลือ แบ่งปัน และไม่ทะเลาะกัน

ทรงสอนให้คนไทยมีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้  

และเพราะประเทศไทย จึงทำให้ฉันมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นแบบอย่างของ “เศรษฐกิจพอเพียง”

ฉันรักประเทศไทย  และฉันก็รักในหลวงของฉันด้วย.

……………………………………………………..

ที่มา : เรียงความชนะการประกวดของด.ญ.ใบฝ้าย กาเจริญ ป.๖ ร.ร.ประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  กรุงเทพฯ

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

“ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ” ทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์

 
เมื่อ 23 ม.ค.2557 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ในการวางยาสลบสุนัขพันธุ์ปอมเมอร์เรเนี่ยน เพศผู้อายุ 7 ปี ชื่อ “มิกเซอร์” เข้ารับการผ่าตัด ตัดหัวกระดูกขาหลังข้างซ้าย เนื่องจากมีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมเรื้อรัง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา และการทำกายภาพบำบัดสุนัขมีอาการเจ็บปวด ไม่ใช้ขาลงน้ำหนัก จึงรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งจะลดความเจ็บปวดจากภาวะข้อสะโพกเสื่อมเรื้อรัง และทำให้สุนัขกลับมาใช้ขาได้อีกครั้ง ทรงวางยาสลบโดยการฉีดยานำสลบเข้ากล้ามเนื้อ และให้ยาสลบเข้าหลอดเลือด ทรงใช้ยาดมสลบเพื่อคงภาวะการสลบ ร่วมกับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง ตลอดจนทรงเฝ้าติดตามสัญญาณ-ชีพสัตว์ป่วย จนเสร็จสิ้นกระบวนการผ่าตัด และสัตว์ป่วยฟื้นเป็นปกติ
นอกจากนี้ ยังทรงวางยาสลบสุนัขพันธุ์ผสม เพศผู้ อายุ 13 ปี ชื่อ “โอเลี้ยง” เข้ารับการผ่าตัดทำหมันและตัดเนื้องอกบริเวณรอบทวารหนัก ชนิดเพอริแอนอล แกรนด์ ทูเมอร์ (Perianal glandtumor) ซึ่งมักพบในสนัขเพศผู้ อายุ 10 ปี และยังไม่ได้รับการทำหมัน เป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา ไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะ การผ่าตัดก้อนเนื้อออกร่วมกับการทำหมันถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุด

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ จ.ปัตตานี -นราธิวาส


วันที่15 ม.ค.2557 เวลา 10.03 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ ณ วัดนพวงศาราม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่แทนอุโบสถหลังเดิม ที่ถูกต้นไม้ใหญ่ล้มทับเนื่องจากพายุ เมื่อปี 2513 โดยทางวัดร่วมกับพุทธศาสนิกชนบูรณะซ่อมแซมอุโบสถขึ้นพร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานให้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ไว้ภายในพระมหาเจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สร้างขึ้นในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา

วัดนพวงศารามเป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี 2477 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชทานทรัพย์ร่วมสร้างอุโบสถและเสด็จมาทรงยกช่อฟ้าเมื่อปี 2513วัดนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำราชสกุลนพวงศ์ โดยหลวงประสานคดี หรือหม่อมราชวงศ์กมล นพวงศ์ ได้ร่วมสร้างวัดขึ้น ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์หรือ หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ ทรงรับไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ปัจจุบันมีพระราชวราจารย์เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดปัตตานียะลา นราธิวาส มีพระภิกษุจำพรรษา 8 รูป

เวลา 12.58 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินี เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 บ้านบูกาสาแลแม ตำบลปะโดอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ในพื้นห่างไกลทุรกันดาร โดยราษฎรได้ร่วมกันบริจาคที่ดินจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 106 คน ได้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครบทั้ง 8 โครงการ อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมครูให้รู้จักสร้างสื่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งจัดห้องสมุดของเล่นเพื่อการเรียนรู้ และสร้างพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมองแก่นักเรียน, โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเน้นให้เรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐานอาชีพในชีวิตประจำวัน โดยนำผลผลิตมาประกอบอาหารภายในโรงเรียนได้อย่างเพียงพอ ลดภาวะการขาดสารอาหาร และควบคุมไม่ให้เป็นโรคขาดสารไอโอดีน ตลอดจนให้ความรู้แก่หญิงมีครรภ์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเห็นประโยชน์หญ้าแฝก และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน อาทิ การจัดฝึกอบรมวิชาชีพแก่เด็กนักเรียน และผู้ปกครอง รวมทั้งราษฎรในชุมชนที่สนใจ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด กรมอาชีวศึกษา และวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี สนับสนุนงบประมาณและส่งวิทยากรไปฝึกอบรม ตามความต้องการของราษฎรในชุมชน อาทิ การแปรรูปถนอมอาหาร และทำขนม ซึ่งสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการรวมกลุ่มกันทำจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

โอกาสนี้ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานที่ไปออกหน่วยบริการตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยในพื้นที่ มีราษฎรที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง และครอบครัวยากจนไปขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ 19 คน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จอย่างทั่วถึง

เวลา 15.43 น. เสด็จออก ณ ห้องประชุม อาคารเรือนรับรองพิกุลทอง ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสายหยุด เพ็ชรสุข รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  นำคณะกรรมการจัดการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2556 เฝ้าทูลละอองพระบาท และนำนักเรียนจากโรงเรียนอัตตัรกียะก์อิสลามียะห์ จังหวัดนราธิวาส ที่ชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2556 และอาจารย์ที่ควบคุมทีม เฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานถ้วยรางวัล

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด บริเวณพื้นที่ลุ่ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความหลากหลายของจุลินทรีย์ในบริเวณพื้นที่พรุโต๊ะแดงที่ยังไม่ถูกรบกวน และโครงการศึกษาการใช้จุลินทรีย์จากพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร ที่มีพระราชดำริเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่แปลงโครงการแกล้งดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2556 โดยทรงให้ศึกษาความหลากหลายโครงสร้างประชากรจุลินทรีย์ในพื้นที่พรุโต๊ะแดง ควรเพิ่มเติมการศึกษาดินบริเวณรากต้นมะฮัง และพื้นที่บริเวณใจกลางพรุด้วย ซึ่งคณะทำงานวิจัยจุลินทรีย์ในพื้นที่พรุได้เข้าไปเก็บตัวอย่างดินบริเวณใจกลางพื้นที่พรุโต๊ะแดง จำนวน 3 จุด ตามระดับชั้นความลึกของชั้นดิน4 ชั้น และบริเวณรากพืช พบว่าจุลินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ กระจายอยู่ในชั้นดิน ทั้ง 3 จุด และมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นจุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนแบบอิสระและสร้างกรดออกซิน และกรดจิบเบอเรลลิก (Gibberellic) กระจายตัวมากที่สุดในชั้นดินและบริเวณรากพืช ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ให้พืชเจริญเติบโตได้ดี

โอกาสนี้ ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการศึกษาการยุบตัวในพื้นที่พรุ จังหวัดนราธิวาส ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2526 ถึง 2533 ในพื้นที่พรุบาเจาะ พรุ-โต๊ะแดง และพรุกาบแดง พบว่าอัตราการยุบตัวเฉลี่ยของพื้นที่พรุบาเจาะ และพรุกาบแดงที่เป็นพื้นที่เขตพัฒนา มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การยุบตัวของดินอินทรีย์ จะยุบตัวสูงกว่า พื้นที่พรุโต๊ะแดง ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์และเขตสงวน ที่ยุบตัวตามธรรมชาติ ส่วนผลการดำเนินงานโครงการศึกษาพันธุ์ข้าวประจำถิ่นในจังหวัดนราธิวาส ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ได้เก็บรวบรวมพันธฺ์ข้าวหอมกระดังงา ในปี 2552 จากแปลงเกษตรในพื้นที่อำเภอตากใบ จำนวน20 ตัวอย่าง มาศึกษาวิจัยตามกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยทดลองปลูกในแปลงนาภายในศูนย์ฯ จนได้สายพันธุ์ดีเด่น 6 สายพันธุ์ นำมาปลูกคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ 1 สายพันธุ์จึงนำมาศึกษาเปรียบเทียบผลผลิต ทดสอบการต้านทานโรคและแมลง รวมทั้งการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน วิเคราะห์คุณภาพทางเคมี พบว่า สายพันธุ์ที่ได้มีลักษณะเด่น เป็นข้าวเจ้า มีสีและมีกลิ่นหอม มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในรูปของข้าวกล้อง จึงดำเนินการขอรับรองพันธุ์ต่อไป        

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

ธ ทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม


…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาในปี ๒๕๕๐ พสกนิกรชาวไทย จะเฉลิมฉลองมหามงคลวโรกาสนี้อย่างมีสาระได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คนไทยจะบูชาคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ด้วยวิธีการอะไร
คนไทยสามารถบูชาคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ๒ วิธี คือ
(๑) อามิสบูชา บูชาด้วยสิ่งของ เช่น ถวายจตุปัจจัยโดยเสด็จพระราชกุศล และ
(๒) ปฏิบัติบูชา ทำดีถวายในหลวง นั่นคือ ทำความดีตามรอยพระยุคลบาทด้วยการประพฤติปฏิบัติตามทศพิธราชธรรม
… พระนักเทศน์นักเผยแผ่และครูพระสอนศีลธรรมต้องช่วยกันสอนประชาชนทั้งหลายให้ นำทศพิธราชธรรมมาเป็นหลักประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นับเป็นการบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเจ้าอยู่หัวด้วยปฏิบัติบูชา ซึ่งมีคุณค่ายั่งยืนกว่าอามิสบูชา
…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ต่อมาทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ในมหามงคลวโรกาสนี้ พระองค์ได้ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการเป็นพระราชสัตยาธิษฐานว่า
 

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
 
ในหลวง…คำว่า “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ในที่นี้หมายถึง “ครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม”
… ทศพิธราชธรรมนี้มีที่มาจากนิทานชาดกเรื่องมหาหังสชาดก ในชาดกเรื่องนี้ พญาหงส์ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ได้สนทนาธรรมกับพระเจ้ากรุงพาราณสีเรื่องทศพิธ ราชธรรมหรือธรรมของพระราชา ๑๐ ประการ โดยพระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสเล่าให้พญาหงส์ฟังว่า
“เรา พิจารณาเห็นธรรม ๑๐ ประการที่มีอยู่ในตัวเราเหล่านี้ คือ ทาน (๒) ศีล (๓) บริจาค (๔) อาชชวะ (๕) มัททวะ (๖) ตบะ (๗) อักโกธะ (๘) อวิหิงสา (๙) ขันติ (๑๐) อวิโรธนะ เมื่อนั้นปีติและโสมนัสมิใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา”
 
… พระนักเทศน์นักเผยแผ่คงอดสงสัยว่าทำไมทศพิธราชธรรมในมหาหังสชาดกนี้จึงได้มี อิทธิพลต่อรัฏฐาภิปาลโนบายหรือวิธีการปกครองบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันมากยิ่งกว่าคำสอนเรื่องอื่น เช่น ราชสังคหวัตถุหรือจักรวรรดิวัตร
 
• คัมภีร์พระธรรมศาสตร์กับทศพิธราชธรรม
…เหตุที่ทศพิธราชธรรมในมหาหังสชาดกมีอิทธิพลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากมายขนาด นั้นก็เนื่องมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นกฎหมายหลักคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้ถูกใช้เป็นกฎหมายแม่บทมาก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนกระทั่งคำว่า “ธรรมศาสตร์” ในสมัยก่อนถูกใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า “นิติศาสตร์” ในสมัยนี้ ดังนั้นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ก็คือคัมภีร์นิติศาสตร์นั่นเอง
…พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตต้องถือปฏิบัติตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศ อินเดีย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ดั้งเดิมของอินเดียมีชื่อว่าพระมนูธรรมศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยวิธีการปกครองของคนในวรรณะกษัตริย์ตามหลักวรรณธรรมคือหน้าที่ ประจำวรรณะในศาสนาพราหมณ์
… ประเทศไทยได้นำคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับมอญมาปรับเป็นของไทยเพื่อให้พระมหา กษัตริย์ทรงใช้เป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนกระทั่งพ.ศ. ๒๓๔๘ สมัยรัชกาลที่ ๑ จึงได้มีการชำระและแปลคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นภาษาไทย เรียกชื่อใหม่ว่า กฎหมายตราสามดวง เพราะเมื่อชำระแล้วได้ประทับตรา ๓ ดวง คือ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว
…ความสำคัญของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ในสังคมไทยเริ่มลดลงไปเมื่อประเทศไทยเริ่มปฏิรูประบบกฎหมาย บ้านเมืองตามแบบฝรั่งตะวันตก และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ก็แทบจะถูกลืมไปเลย
…พระมหากษัตริย์สยามได้ปกครองบ้านเมืองมาด้วยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ กฎหมายพระธรรมศาสตร์ นี่แหละเป็นรัฐธรรมนูญของสยาม พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ทรงใช้พระราชอำนาจตามกฎหมายบ้านเมืองที่เรียกว่าคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นธรรมิกราชคือเป็นพระราชาผู้ทรงธรรม“ทรงตั้งอยู่ใน ราชธรรม ๑๐ ประการ ทรงเบญจางคิกศีลเป็นปรกติศีลและอัษฏางคิกศีลเป็นอุโบสถศีล” หมายความว่าพระมหากษัตริย์ต้องตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม รักษาศีล ๕ เป็นปรกติ และรักษาอุโบสถศีลในวันพระ ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ
…คัมภีร์พระ ธรรมศาสตร์ช่วยกำกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในขอบเขตแห่งทศพิธ ราชธรรม ซึ่งเป็นหลักประกันว่าบ้านเมืองมีความสงบสุขยุติธรรม แม้พระมหากษัตริย์จะมีอำนาจล้นฟ้าสั่งประหารชีวิตคนได้ แต่จะไม่ใช้ทรงพระราชอำนาจล้นฟ้านั้นตามใจชอบ พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติตามกรอบแห่งกฎหมายแม่บทของบ้านเมืองสมัยโน้นคือ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งกำหนดให้ต้องทรงปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมหรือราชธรรม ๑๐ ประการ มี ทาน ศีล บริจาค เป็นต้น
 
• ทศพิธราชธรรมต้องเป็นปรหิตปฏิบัติ (การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น)
 
…ทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ คือ
…ทานหมายถึงการให้ การให้ทานที่เป็นอัตตหิตสมบัติอย่างเดียวไม่เป็นทศพิธราชธรรม การให้ทานที่ เป็นอัตตหิสมบัติเป็นการให้ทานที่ช่วยกำจัดกิเลสคือความตระหนี่ออกไปเพื่อทำ ให้ตัวเราดีขึ้น จึงเป็นบุญกิริยาวัตถุคือวิธีทำบุญเพื่อตัวเรา แต่การให้ทานที่เป็นปรหิตปฏิบัติคือทำความดีเพื่อช่วยเหลือคนอื่นด้วยจึงจะ เป็นราชธรรมหรือธรรมสำหรับผู้ปกครอง
…การให้ทานที่มุ่งพัฒนาจิตใจของ เราฝ่ายเดียวถือเป็นความดีส่วนตัวแบบอัตตหิสมบัติ ยังไม่จัดเป็นราชธรรม แต่การให้ทานเพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์คนอื่นตามหลักสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นราชธรรมหรือธรรมสำหรับผู้ปกครอง กล่าวให้ชัดก็คือการให้ทาน การรักษาศีล การบริจาคเป็นต้น จัดเป็นราชธรรมก็ต่อเมื่อเป็นปรหิตปฏิบัติคือเป็นธรรมที่ปฏิบัติเพื่อบำเพ็ญ ประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นสำคัญ พระราชาหรือผู้ปกครองต้องถือประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัวเสมอ ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ว่า
 
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
 
… การรักษาศีลก็เช่นเดียวกับทานคือมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว (อัตตหิตสมบัติ)และเพื่อประโยชน์ส่วนรวม(ปรหิตปฏิบัติ) การที่พระสงฆ์รักษาศีล ๒๒๗ เพื่อพัฒนาจิตใจของตัวเองอย่างเดียวตามหลักการที่ว่าศีลทำให้สมาธิมีผลมากมี อานิสงส์มาก สมาธิทำให้ปัญญามีผลมากมีอานิสงส์มาก ปัญญาทำให้จิตหลุดพ้น การรักษาศีลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว(อัตตหิตสมบัติ)อย่างนี้ไม่จัดเป็นราชธรรม
…การพัฒนาศีลสมาธิปัญญาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียวทำให้คนเราเป็น เหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีศีลสมาธิและปัญญาบริบูรณ์ แต่แทนที่ท่านจะใช้ศีลสมาธิปัญญาเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ท่านกลับใช้ศีลสมาธิปัญญาเพื่อตนเองเท่านั้น ฝรั่งจึงเรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า Silent Buddha แปลว่าพระพุทธเจ้าใบ้ คือบรรลุธรรมแล้วไม่ยอมสอนใคร
…ดังนั้น ทาน ศีล บริจาคเป็นต้นจะป็นทศพิธราชธรรมได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมุ่งประโยชน์สุขส่วน รวมเป็นสำคัญ นั่นคือข้อปฏิบัติทั้ง ๑๐ ประการต้องเป็นปรหิตปฏิบัติด้วยจึงจะเป็นทศพิธราชธรรม
 
การที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ก็เท่ากับเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น(ปรหิต ปฏิบัติ)นั่นเอง
 
ราชธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมาก็คือทศพิธราชธรรมหรือธรรมของพระราชา ๑๐ ประการ ดังมีรายละเอียดและกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

 
๑. ทาน การให้
…ทานคือ การให้ทรัพย์สินสิ่งของและธรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ เป็นการให้เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ตามหลักสังคหวัตถุ ๔ เป็นสำคัญ
…วิธีการให้ทานแบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ
(๑) อามิสทาน การให้สิ่งของ และ
(๒) ธรรมทาน (การให้ธรรมเป็นทาน) หรือวิทยาทาน (การให้ความรู้เป็นทาน)
 
…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญทานเพื่อพสกนิกรของพระองค์มาโดยตลอด ทั้งที่เป็นอามิส ทานและธรรมทานคือการให้สิ่งของและการให้คำแนะนำ พระราชกรณียกิจในการบำเพ็ญทานของพระองค์สอดคล้องกับราชสังคหวัตถุข้อที่ ๑ คือ สัสสเมธะ หมายถึงความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร
ในหลวง ฝนหลวง…โครงการพัฒนาชนบทโครงการแรกเกิดขึ้นในปี ๒๔๙๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานรถบุลโดเซอร์ให้หน่วยตำรวจตระเวนชาย แดนไปสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เดินทางและนำผลผลิตจากไร่นา ออกไปขายที่ตลาดได้สะดวกขึ้น
…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่ง เสริมการเกษตรด้วยโครงการฝนหลวงที่คนไทยทุกวันนี้รู้จักกันดี โครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นมาจากแนวพระราชดำริที่ได้จากการเสด็จเยี่ยมราษฎรใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ดังพระราชบันทึกตอนหนึ่งว่า
“ขณะ นั้นข้าพเจ้าได้แหงนดูท้องฟ้า และพบว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นพัดผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป วิธีแก้ไขอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น ความคิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการทำฝนเทียม ซึ่งประสบความสำเร็จในอีก 2-3 ปี ต่อมาในภายหลัง”
… ปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์กว่า ๔,๐๐๐ โครงการ โครงการเหล่านี้คือตัวอย่างของการบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ คือ ทานในส่วนที่เป็นอามิสทานคือการให้สิ่งของ
…นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงบำเพ็ญวิทยาทานและธรรมทานอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างสำคัญแห่งการบำเพ็ญวิทยาทานที่ทั่วโลกยกย่องคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และกังหันน้ำชัยพัฒนา โดยเฉพาะกังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีเติม อากาศซึ่งเกิดจากพระปรีชาสามารถและพระราชดำริของพระองค์
ในหลวง พระมหาชนก…กังหันน้ำ ชัยพัฒนาได้รับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากกรม ทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ นับแต่นั้นมา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นวันนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติกำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นวันนักประดิษฐ์โลกขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนพรรษา ๘๐ พรรษา
…ในการบำเพ็ญธรรมทานต่อพสกนิกรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอดแทรกธรรมไว้ในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส อยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือธรรมโดยตรง นั่นคือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ไว้ว่า
“หนังสือเรื่องนี้เป็นที่ รักของข้าพเจ้าเอง เป็นสิ่งที่เห็นว่ามีความสำคัญและโดยที่เป็นผู้ที่ทำขึ้นมา ถ้าไม่มีตัวเราเอง มีแต่ชาดกแล้วก็มีแต่ชาดกภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาบาลี มีแต่ชาดกอาจจะเป็นภาษาอังกฤษที่เขาแปลมาจากภาษาบาลี ใครไปอ่านก็ไม่รู้เรื่องและไม่มีความหมายอะไรมากนัก”
… การที่ทรงบำเพ็ญทานทั้งที่เป็นอามิสทานและธรรมทานดังกล่าวมานี้จัดเป็นทศพิธ ราชธรรมข้อที่ ๑ คือทานซึ่งเป็นปรหิตปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวไทย

 
๒. ศีล ความประพฤติเรียบร้อยดีงาม
ในหลวง ทรงผนวช…ศีล คือการสำรวมระวังรักษาพฤติกรรมทางกายและทางวาจาให้ถูกต้องเรียบร้อยดีงาม ทั้งที่เป็นอัตตหิตสมบัติคือความดีงามส่วนตัวและปรหิตปฏิบัติคือความดีงาม เพื่อส่วนรวม
…การรักษาศีลที่เป็นทศพิธราชธรรมนั้นต้องเป็นปรหิต ปฏิบัติด้วย คือ ผู้ปกครองต้องมีภาพแห่งความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทำตนเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ไม่ทุจริตคอรัปชั่น พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ปกครองต้องมีชื่อเสียงเกียรติคุณอันดีงามโดยไม่มีประวัติด่างพร้อย
… ผู้ปกครองต้องมีสีลสามัญญตาคือความมีศีลเสมอกันกับสมาชิกในสังคม หมายความว่าต้องรักษาระเบียบกติกาและปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองเช่นเดียว กับประชาชนทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น ผู้ปกครองต้องไม่ทำตัวให้อยู่เหนือกฎหมายเพราะถือตัวว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จ
… เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กำลังจะเสด็จประพาสยุโรปในปี ๒๔๔๐ คงจะป็นที่ห่วงใยกันทั่วไปว่าพระองค์อาจจะถูกของร้องให้เปลี่ยนศาสนาเมื่อไป ถึงยุโรป รัชกาลที่ ๕ จึงทรงประกาศปฏิญญาในที่ประชุมมหาสมาคม ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ดังนี้
 
“ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระสงฆ์เถรานุเถระทั้งหลาย อันประชุมอยู่ ณ ที่ว่านั้น การที่ข้าพเจ้า คิดจะไปประเทศยุโรป ณ ครั้งนี้ ด้วยข้าพเจ้ามุ่งต่อความดีแห่งพระราชอาณาจักรและด้วยความหวังว่าจะเป็น ประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะรักษาตนให้สมควรแก่ที่เป็นเจ้าของประชาชนชาวสยามทั้งปวง จะรักษาเกียรติยศแห่งพระราชอาณาจักรอันเป็นเอกราชนครนี้ จนสุดกำลังที่ข้าพเจ้าจะป้องก้นได้ และเพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนใจตัวข้าพเจ้า และเป็นเครื่องเย็นใจแห่งผู้ซึ่งมีความรักใคร่มุ่งหมายความดีต่อข้าพเจ้า ปราศจากวิตกกังวลใจด้วยความประพฤติรักษาของข้าพเจ้า ๆ จึงขอสมาทานข้อทั้งหลายที่จะกล่าวต่อไปนี้
๑. ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตยินดีน้อมไปในศาสดาอื่น นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเป็นอันขาด จนตราบกว่าสิ้นชีวิต
๒. การที่ข้าพเจ้าไปครั้งนี้ แม้ว่าจะช้านานเท่าใดก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีใดจนกลับเข้ามาถึงในพระราชอาณาเขต
๓. ถึงแม้ว่าจะไปในประเทศซึ่งเขาถือกันว่า การให้สุราเมรัยไม่รับเป็นการเสียกิริยาอันดีฤาเพื่อป้องกันโรคภัยอัน เปลี่ยนอากาศเป็นต้น ข้าพเจ้าจะไม่เสพสุราเมรัยให้มึนเมาเสียสติ ฤาแม้แต่มีกายวิกลเกินปรกติเป็นอันขาด”
…การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงทำปฏิญญาอย่างนี้ถือเป็นตัวอย่างของการรักษาศีลที่เป็นทศพิธราชธรรมเพราะมุ่งปรหิตปฏิบัติคือประโยชน์ส่วนรวม

 
… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่ทรงปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป คุณฟื้น บุณยปรัตยุธ อดีตนายอำเภอปทุมวัน นายทะเบียนในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเล่าว่า
ในหลวง ราชาภิเษกสมรส“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและม.ร.ว.สิริกิติ์ ทรงจดทะเบียนสมรสเฉกเช่นคู่สมรสทั่วไป สมุดทะเบียน สมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นพิเศษ ปกสมุดหุ้มด้วยหนังแกะอ่อนสีเหลืองเข้ม กลางปกเป็นหนังสีน้ำตาล มีอักษรตัวทองบอกว่าเป็นสมุดทะเบียนสมรส ข้อความในสมุดทะเบียนทุกอย่างคงเป็นเหมือนสมุดทะเบียนสมรสทั่วไป เกี่ยวกับการจดทะเบียนนี้ พระองค์ท่านทรงทำตามระเบียบทุกอย่างไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท ตามระเบียบถูกต้อง”
…พระพุทธเจ้าตรัสว่ากลิ่นแห่งศีลของคนดีนั้นหอมกว่ากลิ่นหอมของดอกไม้ใดๆ
.. กลิ่นแห่งศีลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันฟุ้งขจรไปทั่วทุก ทิศานุทิศ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวามหาราช พสกนิกรทั่วไปต่างพร้อมใจกันรักษาศีลปฏิบัติธรรมตามรอยพระยุคลบาท หลายคนพากันอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล
…พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุมีอยู่ตามวัดทั่วประเทศ ในช่วงวิสาขบูชาปี ๒๕๕๐ สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (เทพวงศ์ ) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกัมพูชา เสด็จมาที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ท่านเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชตั้งอยู่ ติดกับโต๊ะหมู่บูชาที่วิหารหลวงพ่อพระพุทธนาค สมเด็จพระสังฆราชแห่งกัมพูชากล่าวเปรยว่าท่านอยากได้พระบรมฉายาลักษณ์นี้มา นานแล้วแต่ไม่ทราบว่าจะหาได้ที่ไหน เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสจึงยกพระบรมฉายาลักษณ์นั้นถวายท่านทันที ท่านรับด้วยความปีติยินดียิ่งและกล่าว่าเป็นของขวัญที่ถูกใจท่านมากที่สุด
… กลิ่นแห่งศีลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันหอมฟุ้งทวนลมไป ทั่วทุกทิศานุทิศทั้งภายในและภายนอกพระราชอาณาจักรไทยก็เพราะพระองค์ทรง ปฏิบัติทศพิธราชธรรมข้อที่ ๒ คือ ศีลนั่นเอง

 
๓. บริจาค เสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
…ทศพิธรา ชธรรมข้อนี้เป็นเรื่องของกิเลสจาคะคือสละกิเลส เช่นสละความเห็นแก่ตัวหรือความสุขสบายส่วนตัวเพื่อทำประโยชน์สุขให้แก่ ประชาชน การปฏิบัติธรรมข้อนี้มุ่ง ปรหิตปฏิบัติคือยึดประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นที่ตั้ง ดังพุทธพจน์ในธรรมบทที่ว่า
“ถ้าเห็นว่า จะได้สุขอันยิ่งใหญ่ด้วยการสละสุขเล็กๆ น้อยๆ นักปราชญ์ก็ควรสละสุขเล็กน้อยเพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่”
… เนื่องจากทศพิธราชธรรมข้อบริจาคนี้เป็นเรื่องกิเลสจาคะหมายถึงการสละกิเลส จึงต่างจากทศพิธราชธรรมข้อทานซึ่งเป็นเรื่องของอามิสจาคะหมายถึงการสละสิ่ง ของ ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างทานและบริจาคไว้ว่า ทานเป็นการสละที่ต้องมีผู้รับ เช่น เราตักบาตรก็ต้องมีพระรับบาตร แต่บริจาคคือการสละกิเลส เช่นสละความเห็นแก่ตัว ไม่ต้องมีผู้รับ
…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อบริจาคด้วยการสละความสุขสบายส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา…ใครนั่งรถผ่านพระตำหนักจิตรลดารโหฐานคงจะเห็นกังหันลม ตั้งอยู่อย่างนั้นมานานแล้ว นั่นเป็นเครื่อง หมายของโครงการพระราชดำริ ผมเคยเข้าไปสอนหนังสือที่โรงเรียนสวนจิตรลดา บางครั้งเจอชาวบ้านถือเคียวถืองอบนั่งเคี้ยวหมากอยู่ริมคันนาในวังสวน จิตรลดา ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าชาวนาเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปลอมเป็นชาวนาหรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่า นี่แหละชาวนาจริงๆ ในหลวงทรงให้มาดำนาเกี่ยวข้าวที่แปลงนาทดลองในวัง พันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากที่นี่ก็เอาไปหว่านในพิธีแรกนาขวัญที่สนาม หลวง
…ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศคนหนึ่งได้รายงานด้วยความประหลาดใจ ว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐานไม่มีสิ่งหรูหราฟุ้งเฟ้อใดๆที่พระราชวังทั่วโลกมักจะ มีกัน เขาพบแต่แปลงนาปลูกข้าวและโครงการพระราชดำริต่างๆ ผู้สื่อข่าวคนนี้จึงสรุปในรายงานว่า หมดสมัยแล้วที่กษัตริย์ยุคปัจจุบันจะเป็นมหาราชด้วยการกรีฑาทัพยึดครองดิน แดนของอริราชศัตรู ถ้ากษัตริย์สมัยนี้ต้องการจะเป็นมหาราชก็ต้องเอาอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชของไทยที่ทรงเป็นมหาราชเพราะทรงประกาศสงครามกับความ ทุกข์ยากของพสกนิกรชาวไทย
…เมื่อคนเรามีความเห็นแก่ตัวน้อยลงก็จะคิด ถึงประโยชน์สุขของคนอื่นมากขึ้นโดยอัตโนมัติ หลวงวิจิตรวาทการกล่าวสรุปไว้ในหนังสือเรื่องกุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ ว่า
“การจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่นั้นง่ายนิดเดียวคือต้องเห็นแก่ตัวให้น้อยหน่อยเท่านั้น”
… เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละความสุขสบายส่วนพระองค์ด้วยการ บำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อบริจาค พระราชหฤทัยของพระองค์จึงเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร พระองค์ทรงงานหนักเพื่อราษฎรโดยไม่มีวันหยุด ในหนังสือเรื่องพระธรรมิกราชของชาวไทย จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรเ มื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ด้วยเหตุผลนี้ เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯทรงรับฟังความทุกข์ราษฎรจากปาก คำของราษฎรยังบ้านของราษฎรเองและทรงงานเพื่อราษฎรโดยไม่มีวันหยุดมาแล้วเป็น เวลาหกสิบปี ครั้งหนึ่งสำนักราชเลขาธิการได้เคยบันทึกไว้ว่าในแต่ละปีเสด็จฯออกปฏิบัติ พระราชกรณียกิจราว ๕๐๐-๖๐๐ ครั้งรวมเป็นระยะทางประมาณ ๒๕,๐๐๐ ถึง ๓๐,๐๐๐ กิโลเมตร”
ในหลวง ฝน…ร้อยเอกศรีรัตน์ หริรักษ์ เล่าไว้ในบทความ “พระบารมีปกเกล้าฯ ที่อำเภอท่ายาง” ตีพิมพ์ ในหนังสือ ๗๒ พรรษาบรมราชาธิราชเจ้านักรัฐศาสตร์ ดังนี้


“ครั้ง หนึ่งที่โครงการห้วยสัตว์ใหญ่เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ราษฎรและข้าราชการที่มาเข้าแถวรอรับเสด็จต่างเปียกปอนกันหมดแต่ก็ยังตั้งแถว เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่อย่างนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากเฮลิคอปเตอร์ นายตำรวจราชองครักษ์ที่ตามเสด็จได้เข้ากางร่มถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาข้าราชการและราษฎรที่มายืน ตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ต่างก็เปียกฝนโดยทั่วกัน จึงมีรับสั่งให้นายตำรวจราชองครักษ์เก็บร่มแล้วทรงพระดำเนินเยี่ยมข้าราชการ และราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จโดยทรงเปียกฝนเช่นเดียวกับข้าราชการและราษฎร ทั้งหลายที่ยืนรอรับเสด็จในขณะนั้น”
… เหล่านี้คือตัวอย่างของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ แสดงออกถึงการบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อบริจาคคือเสียสละความสุขสบายส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
 
๔. อาชชวะ ความซื่อตรง
…อาชชวะ ความซื่อตรงคือความซื่อสัตย์สุจริต บอกความจริงแก่ประชาชน ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง ไม่ทุจริตคอรัปชั่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอธิบายความหมายของความซื่อสัตย์สุจริตใน พระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่า
“มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งท่านต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ คือ ความสัตย์สุจริต ประเทศบ้าน เมืองจะวัฒนาถาวรอยู่ได้ ก็ย่อมอาศัยความสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ท่านทั้งหลายจะออกไปรับราชการก็ดี หรือประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ดี ขอให้มั่นอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๓ ประการคือ สุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่”
ในหลวง พัฒนา ประชาชน… พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าผู้นำมีความซื่อสัตย์สุจริตก็จะพาให้ผู้ตามมีความซื่อสัตย์สุจริตไปด้วย ดังพระบาลีว่า “คุนฺนญฺเจ ตรมานานํ” เป็นต้น แปลความว่า “เมื่อ ฝูงโคว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคหมดทั้งฝูงนั้นก็ไปตรงตามกัน เพราะมีผู้นำที่ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น บุคคลผู้ได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นประพฤติชอบธรรม หมู่ประชาชนนอกนั้นก็จะพลอยดำเนินตามทั้งแว่นแคว้นก็จะอยู่เป็นสุข หากผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม”
… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรมข้ออาชชวะ เพราะทรงมีความซื่อสัตย์สุจริตด้วยพระองค์ด้วยและทรงสอนให้คนอื่นซื่อสัตย์สุจริตด้วย ดังกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ว่า
“การพัฒนาชนบทเป็นงานสำคัญ เป็นงานยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียว ฉลาด คือต้องเฉลียวและฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใดๆใครอยากจะหากินขอให้ลาออกตำแหน่งไปทำการ ค้าดีกว่า เพราะถ้าทำผิดพลาดไปแล้ว บ้านเมืองจะล่มจม และเมื่อบ้านเมืองเราล่มจมแล้วเราอยู่ไม่ได้ ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง”

 
๕. มัททวะ ความอ่อนโยน
…มัททวะ เป็นการปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย ไม่เย่อหยิ่งหลงตัวเอง มัททวะเป็นความแข็งแรงแต่ไม่แข็งกระด้างและเป็นความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ
 
ผู้นำมี ๒ ประเภทคือ (๑) ผู้นำที่นั่งอยู่บนหัวคน และ (๒) ผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจคน
ผู้นำที่นั่งอยู่บนหัวคนชอบใช้ความแข็งกระด้างกดขี่คนอื่น
ผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจคนชอบใช้ความอ่อนโยนผูกมัดใจคน ดังโคลงโลกนิติที่ว่า
อ่อนหวานมานมิตรล้น เหลือหลาย
หยาบบ่มีเกลอกราย เกลื่อนใกล้
ดุจดวงศศิฉาย ดาวดาษ ประดับนา
สุริยะส่องดาราไร้ เมื่อร้อนแรงแสง
 
…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำที่ประทับอยู่ในหัวใจคน ทรงเป็นศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ เพราะทรงมีพระราชอัธยาศัยเปี่ยมล้นด้วยมัททวะคือความอ่อนโยน ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระ ชนมพรรษา วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ เกี่ยวกับการตามเสด็จในตอนต้นรัชกาล ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังทรงเยาว์พระชันษา ทรงยังไม่แน่พระทัยว่าจะวางพระองค์อย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในเรื่องของ ความอ่อนโยน ดังนี้
 
ในหลวง ยายแก่” เวลามีพระราชปฏิสันถารกับราษฎร ซึ่งเป็นชั่วโมงๆ ทีเดียว ทรงคุยกับราษฏรนี่ไม่โปรดทรงยืน ทรงถือขนบธรรมเนียมไทยที่จะไม่ยืนค้ำผู้เฒ่าผู้แก่จะประทับลงรับสั่งกับรา ษฏรเสมอมา แม้จะเป็นตอนเที่ยงแดดร้อนเปรี้ยงก็ตามซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นพระราชจริยวัตรนี้ มาตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลแล้ว”
 
…พวกเราคงเคย เห็นภาพหนึ่งจนชินตา เป็นภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโน้มพระองค์ไปรับดอกบัวจากคุณยายคน หนึ่ง ดอกบัวก็เหี่ยว คนถวายก็แก่ นี่เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่จังหวัดนครพนมเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมในช่วงเช้าแล้วเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูกจูงหลานมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น ลูกหลานครอบครัวจันทนิตย์ช่วยกันนำแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ อายุ ๑๐๒ ปีไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จตั้งแต่เช้า ลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่าจำนวน ๓ ดอกและพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด เปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนบ่ายแผดเผาจนดอกบัวสายในมือเริ่มเหี่ยวโรย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายที่เหี่ยวโรย ๓ ดอกนั้นขึ้นเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง ในหลวงทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุดจนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าอย่างอ่อนโยน
 
…นี่คือภาพตัวอย่างของมัททวะคือความอ่อนโยนในพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพนี้ชวนให้นึกถึงภาษิตอังกฤษที่ว่า
“ผู้ดีที่สุดจะสุภาพที่สุด ผู้เข้มแข็งที่สุดจะอ่อนโยนที่สุด”

 
๖. ตบะ ความเพียรเผากิเลส
…ตบะ คือความเพียรเผากิเลสตัณหา ไม่หลงระเริงไปกับคำสรรเสริญเยินยอและความสำเริงสำราญที่มาพร้อมกับอำนาจ วาสนาจนลืมปฏิบัติหน้าที่ให้บริบูรณ์ ผู้นำที่มีตบะจะสามารถควบคุมจิตใจให้พอใจกับความเรียบง่าย เขาเป็นคนที่ได้ดีแล้วไม่ลืมตัว เขาอยู่อย่างไม่ตามใจกิเลสตัณหา แม้จะมีเงินทองมากมาย เขาก็ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย
…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญตบะจึงทรงพอพระทัยกับชีวิตที่เรียบง่ายตาม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงพระราชทานแก่ชาวไทย พระองค์เองทรงเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ดังที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่าไว้ว่า
“วันหนึ่งเสด็จฯ เขาค้อเปิดอนุสาวรีย์ พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จ พระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนักเพื่อ จะทรงเปลี่ยนฉลองพระบาท เพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง เราก็ไม่ได้ทานข้าว ไม่มีใครทานข้าว ตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาทสักยี่สิบนาที น่าจะพุ้ยข้าวกันทัน ก็รีบวิ่งไปที่ห้องอาหารที่เตรียมไว้ ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ตามเสด็จฯ เขาทานกันหมดแล้ว ในนั้นจึงเหลือข้าวผัดติดก้นกระบะกับมีไข่ดาวทิ้งแห้งไว้อยู่ ๓-๔ ใบ เราก็ตัก เห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้ มีข้าวผัดเหมือนอย่างเรา ไข่ดาวโปะใบหนึ่ง มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่ เพื่อนผมก็จะไปหยิบมา มหาดเล็กบอกว่า
“ไม่ได้ ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก”
…ดูสิครับ ตักมาจากก้นกระบะเลย ผมนี่แทบน้ำตาไหลเลย ท่านเสวยเหมือนๆ กันกับเรา”
 
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหลักการอยู่ ๓ ประการ
๑. มัตตัญญูตา ความรู้จักพอประมาณ
๒. ความมีเหตุผลคือมัชฌิมาปฏิปทา รู้จักเดินทางสายกลาง
๓. มีภูมิคุ้มกัน ๒ อย่าง คือ
(๑) มีปัญญารู้เท่าทันสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด และ
(๒) มีคุณธรรมโดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานชีวิต
…การบำเพ็ญตบะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้พระองค์ทรงดำรงชีวิตอย่างรู้จักพอประมาณ ซึ่งเป็นหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง หลักฐานประการหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือหลอดยาสีพระทนต์หรือหลอดยาสีฟันของในหลวง ที่ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ส่วนพระองค์กล่าวถึงในการให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ ดังนี้
หลอดยาสีพระทนต์“ครั้งหนึ่งเคยกราบทูลท่านว่า ลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยฟุ่มเฟือยมาก กระเป๋าถือต้องใช้ของนอกมีแบรนด์เนม บางคนไม่มีเงินซื้อก็ไปเช่าที่สยามสแควร์เดือนละพันสองพัน ไม่เหมือนสมเด็จพระเทพฯ ท่านสะพายอะไรก็ได้ วันก่อนเข้าไปในห้องสรงสมเด็จพระเทพฯ เห็นหลอดยาสีพระทนต์ สมเด็จพระเทพฯ ทรงรีดใช้จนเกลี้ยงหลอด
พระองค์ท่านตรัสว่า ….
“ของเราก็มี วันก่อนนี้ยังใช้ไม่หมด มหาดเล็กมาทำความสะอาด ห้องสรง คิดว่าหมดแล้วมาเอาไปแล้วเปลี่ยนหลอดใหม่มาให้ เราบอกให้ไปตามกลับมา เรายังใช้ต่อได้อีก ๕ วัน”
… หลังจากนั้นท่านผู้หญิงเพ็ชราได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์ หลอดนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มหาดเล็กนำมาพระราช ทานให้ท่านถึงบ้าน เมื่อได้เห็นหลอดยาสีพระทนต์ ท่านก็ต้องรู้สึกแปลกใจที่หลอดยาสีพระทนต์นั้นแบนราบเรียบตลอดคล้าย แผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดนั้นปรากฏรอยบุ๋มลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด
… เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอีกครั้งในเวลาต่อมา ท่านผู้หญิงเพ็ชราจึงได้รับพระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่แบนราบเรียบและมีรอยบุ๋มนั้น เพราะทรงใช้แปรงสีพระทนต์รีดและกดที่คอหลอด พระมหากษัตริย์ผู้ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อตบะเท่านั้นจึงจะสามารถใช้หลอดยา สีพระทนต์ได้คุ้มค่าขนาดนั้น
 
๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ
…อักโกธะ แปลว่าความไม่โกรธ ความหมายโดยตรงก็คือความเมตตาต่อคนทั่วไป ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของความโกรธ ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ มีความสุขที่ได้พบปะประชาชนทั่วไปอย่างใกล้ชิด
ในหลวง พระราชินีพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงมีเมตตาคือความรักต่อพสกนิกร พระองค์ทรงมีความสำราญพระราชหฤทัยทัยที่ได้ทรงพบปะกับราษฎรของพระองค์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวว่า
“เท่าที่ผมทราบมา ไม่มีอะไรที่จะทำให้ทั้งสองพระองค์สำราญพระราชหฤทัยเกินไปกว่า การที่ได้ทรงพบ ประชาราษฎรของพระองค์ แม้จะใกล้หรือไกลก็ตามที ตามที่เคยมีคำพังเพยแต่ก่อนว่า รัชกาลที่ ๑ โปรดทหาร รัชกาลที่ ๒ โปรดกวีและศิลปิน รัชกาลที่ ๓ โปรดช่างก่อสร้าง(วัด) ผมกล้าต่อให้ได้ว่า รัชกาลที่ ๙ โปรดราษฎร และคนที่เข้าเฝ้าฯได้ใกล้ชิดที่สุดคือราษฎรมิใช่ใครอื่นที่ไหนเลย”
 
… พระเมตตาคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์จัดเป็น อัปปมัญญา คือไม่จำกัดขอบเขต ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่ถือเขาถือเรา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดังนั้น คนไทยทั้งแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นชาวเขาชาวเรา ชาวพุทธชาวมุสลิมต่างก็รักในหลวง วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี เป็นสักขีพยานที่ดีในเรื่องพระเมตตาคุณไม่จำกัดขอบเขตนี้
ในหลวง วาเด็ง…วาเด็ง ปูเต๊ะ ผู้เฒ่าวัย ๙๒ ปี แห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เล่าว่า เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ทหารกลุ่มหนึ่งมาตามที่บ้านบอกให้เขาไปพบในหลวง ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรความเป็นไปได้ในการสร้างอาคาร กั้นน้ำที่คลองน้ำจืดบ้านทุ่งเค็จ อำเภอสายบุรี วาเด็ง ปูเต๊ะจึงได้เฝ้าในหลวงเป็นครั้งแรก เขาเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้น ดังนี้
“ตอน นั้นผมทราบแล้วว่า เป็นในหลวง แต่จะเข้าไปใกล้ๆ ก็ไม่กล้า เพราะว่า นุ่งโสร่งตัวเดียว ไม่ได้สวมเสื้อ พอเข้าไปใกล้ๆ ในหลวงก็บอกว่า จะมาขุดคลองชลประทานให้ พอได้ยินอย่างนั้น ผมก็ดีใจมาก คุยกันเยอะ ท่านถามว่า ถ้าขุดคลองสายทุ่งเค็จนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน ผมบอกท่านว่า คลองเส้นนี้มีที่ดินติดเขตตำบลแป้น ทางเหนือขึ้นไปสุดที อำเภอศรีสาคร ในหลวงถามต่อว่า ถ้าไปออกทะเลจะมีกี่เกาะ ผมก็ตอบท่านไปว่า มี ๔ เกาะ ท่านก็ชมว่าเก่งสามารถจำทุกที่ที่ผ่านไปได้ แล้วท่านก็เปิดดูแผนที่ที่นำมาด้วย แล้วบอกว่า ผมรู้จริง ไม่โกหก ทุกสิ่งที่ผมบอกมีอยู่ในแผนที่ของพระองค์แล้ว …ในหลวงคุยกับผมเป็นภาษามลายู ท่านพูดมลายูสำเนียงไทรบุรี คุยกันก็เข้าใจเลย พอเจอกันบ่อยๆ คุยกัน มีความเห็นตรงกัน ท่านก็เลยรับผมเป็นพระสหาย ผมบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่บอกท่านไปทั้งหมดเป็นความจริง พูดโกหกไม่ได้จะเป็นบาป ”

 
…ยิ่งไปกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสอนให้พสกนิกรของพระองค์รู้ รัก สามัคคีมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พระองค์ทรงสอนให้คนไทยมีคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ๔ ประการ ดังนี้
“ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการ ที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล”
…ถ้าพสกนิกรทุก หมู่เหล่าน้อมรับกระแสพระราชดำรัสนี้และปฏิบัติทศพิธราชธรรมข้ออักโกธะหรือ ความเมตตาตามรอยพระยุคลบาท ประเทศไทยก็จะมีความเจริญมั่นคงดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนานแสนนาน

 
๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน
…อวิหิงสา แปลว่าความไม่เบียดเบียน หมายถึงความกรุณาต่อคนทั่วไป ไม่หาเรื่องกดขี่ข่มเหงหรือลงอาญาแผ่นดินโดยปราศจากเหตุอันควร สงสารหวั่นใจเมื่อเห็นความทุกข์ของประชาชนและหาหนทางที่จะดับทุกข์เข็ญของ พวกเขา
…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณคือมีความ สงสารเห็นใจต่อพสกนิกรของพระองค์จึงทรงมีโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อช่วยเหลือราษฎร ไม่ใช่เฉพาะชาวชนบทในที่ทุรกันดารเท่านั้นที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แม้แต่ชาวกรุงเทพมหานครก็ได้รับพระบารมีปกแผ่ด้วยเช่นกัน ดังที่กรณีน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริโครงการแก้มลิงเพื่อ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
…โครงการแก้มลิงมีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า
” ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”
…โครงการนี้มีการวางแผนใช้พื้นที่แก้มลิงรวบรวมน้ำ รับน้ำ และดึงน้ำที่ท่วมขังพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนบนมาเก็บไว้ พร้อมกับระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและการสูบน้ำที่เหมาะสมสอดคล้องกับโครงการแก้มลิง
 
ในหลวง พฤษภา…เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยจนลุกลามนองเลือดกลายเป็น พฤษภาทมิฬในปี ๒๕๓๕ ประชาชนผู้เดือดร้อนต่างหวังพึ่งพระบารมีเพื่อสลายความขัดแย้งในครั้งนั้น ภาพที่ในหลวงทรงห้ามคู่กรณีไม่ให้ทะเลาะกันยังประทับอยู่ในความทรงจำของคน ไทยทุกคน กระแสพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยทุก คนต้องจดจำตลอดไป โดยเฉพาะตอนที่ว่า
“ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความ บ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกันแล้วมันลืมตัว ลงท้ายไม่รู้ตีกันเพราะอะไร แล้วจะแก้ไขปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้คือต่างคนต่างแพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร สมมติว่ากรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวเองว่าชนะเวลายืนอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง”
…กระแสพระราชดำรัสนี้เป็นเหมือนวาจาสิทธิ์ ที่ยุติความขัดแย้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้ชะงัดเพราะทรงเปล่งมาจากพระราช หฤทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรมข้ออวิหิงสาคือพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมี ต่อพสกนิกรของพระองค์นั่นเอง

 
๙. ขันติ ความอดทน
…ขันติ คือความอดทนต่ออนิฏฐารมณ์คือสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่น่าพอใจ เมื่อต้องประสบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่น่าพอใจก็สามารถควบคุมกิริยา อาการให้นิ่งสงบอยู่ได้ เป็นนายเหนือสถานการณ์ ไม่แสดงอาการหงุดหงิดทุรนทุรายหรือแสดงความไม่พอใจจนออกนอกหน้า
…ผู้นำที่ดีต้องมีความอดทนสามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ดีในทุกสถานการณ์ เขาใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว
…ความอดทนแบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
(๑) ทนลำบาก หมายถึงทนต่อทุกขเวทนาทางกาย เช่น ความเจ็บปวด
(๒) ทนตรากตรำ หมายถึงทนหนาว ทนร้อน หนักเอาเบาสู้
(๓) ทนเจ็บใจ หมายถึง ทนต่อถ้อยคำยั่วยุเย้ยหยันหรือคำนินทาว่าร้าย
 
ในหลวง บางจาก…ผู้นำต้องพร้อมที่จะเผชิญต่อสภาวะที่ไม่พึงปรารถนารอบด้านเหมือนกับช้างศึกที่เข้าสู่สนามรบแล้วต้องทนต่อลูกศรที่ยิงใส่มาจากสี่ทิศ
… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักมากว่า ๖๐ ปี บางครั้งแม้จะทรงลำบากตรากตรำเพียงใดก็ไม่หยุดบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ดังที่ครั้งหนึ่งทรงมีรับสั่งเล่าเรื่องถูกยุงกัดไว้ว่า
“ที่บางจาก แต่ไม่มีจากหรอกนะ ยุงชุมมากเลย ไปยืนดูแผนที่ เลยโดนยุงรุมกัดขาทั้งสองข้าง กลับมาขาบวมแดง ไปสกลนครกลับมาแล้วถึงได้ยุบลง มองเห็นเป็นตุ่มแดง ลองนับดูได้ข้างละร้อยห้าสิบตุ่ม สองข้างรวมสามร้อยพอดี”
ท่านพุทธทาสภิกขุอธิบายความหมายของความทนเจ็บใจไว้ว่า เป็นผู้ใหญ่ต้องทนต่อความโง่ของผู้น้อยได้
… เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปพบปะราษฎรทั่วประเทศ บางครั้งก็ต้องทรงพบกับความเชยความเปิ่นของชาวบ้านที่ต้องทรงอดทนและรับได้ ดังเรื่องต่อไปนี้
…ครั้งหนึ่งที่ภาคอีสาน เมื่อในหลวงเสด็จฯขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้านของราษฎรผู้หนึ่งที่คณะผู้ตามเสด็จ ทั้งหลายออกแปลกใจในการกราบบังคมทูลที่คล่องแคล่วและใช้ราชาศัพท์ได้อย่าง น่าฉงน
เมื่อในหลวงมีพระราชปฏิสันถารถึงการใช้ราชาศัพท์ได้ดีนี้ ราษฎรผู้นั้นกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าเป็นโต้โผลิเกเก่า บัดนี้มีอายุมากจึงเลิกรามาทำนาทำสวน พระพุทธเจ้าข้า”
ในหลวงทรงพบนกในกรงที่เขาเลี้ยงไว้ที่ชานเรือน ก็ตรัสถามว่า เป็นนกอะไรและมีกี่ตัว….
พ่อโต้โผลิเกเก่ากราบบังคมทูลว่า
“มี ทั้งหมดสามตัว พระมเหสีมันบินหนีไป ทิ้งพระโอรสไว้สองตัว ตัวหนึ่งที่ยังเล็ก ตรัสอ้อแอ้อยู่เลย และทิ้งให้พระบิดาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว”
 
… พสกนิกรชาวไทยจะรับรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์จนชินตาถึงภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวประทับนิ่งสงบนานนับชั่วโมงขณะทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีต่างๆ
…ภาพแห่งความสงบนิ่งนี้สะท้อนถึงทศพิธราชธรรมข้อขันติคือความอดทนในพระราชหฤทัย
๑๐. อวิโรธนะ ความไม่คลาดจากธรรม
…อวิโรธ นะหมายถึงการยึดมั่นในหลักการปกครอง หลักนิติธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ โดยไม่ประพฤติปฏิบัติให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักการเหล่านั้น
…ผู้ปกครอง จะมั่นคงอยู่ในหลักการเช่นนั้นได้ต้องมีปัญญารู้เท่าทันสถานการณ์และตัดสิน สั่งการโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอคติคือความลำเอียง ๔ ประการ ได้แก่
(๑) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
(๒) โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
(๓) โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง
(๔) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
 
… สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงยึดมั่นใน อวิโรธนะคือความไม่คลาดจากธรรม
…หลายคนคงจำได้ว่ามีเสียงเรียกร้อง ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา ๗ แต่งตั้งนายกรัฐมตรีพระราชทาน ผู้เรียกร้องได้อ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗ ที่บัญญัติว่า
“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
…ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมตรีพระราชทานไว้ว่า
“ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่างอย่าง ที่เขาขอร้องให้มีนายกฯพระราชทาน ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกฯ แบบที่มีการรับสนองพระบรมราชโองการถูกต้องทุกครั้ง มีคนเขาอาจจะมาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ นี่ทำตามใจชอบ ซึ่งไม่เคยทำอะไรตามใจชอบเลย … ตั้งแต่เป็นพระมหากษัตริย์ มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำตามใจชอบ บ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ ว่าทำอะไรตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่มันไม่ต้องทำ”
… พระราชดำรัสที่ว่า “ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ…ไม่เคยทำอะไร ตามใจชอบ” นี้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อ อวิโรธนะคือความไม่คลาดจากธรรมตลอดเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติกว่า ๖๐ ปี

 
• สรุปทศพิธราชธรรม
…ทศพิธราชธรรมที่กล่าวมาทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือไตรสิกขาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
…ทศพิธราชธรรมข้อต่อไปนี้คือ (๑)ทาน (๒) ศีล และ(๘) อวิหิงสา จัดเป็นศีล
…ทศพิธราชธรรมข้อต่อไปนี้คือ (๓) บริจาค (๔) อาชชวะ (๕) มัททวะ (๖) ตบะ (๗) อักโกธะ และ (๙) ขันติ จัดเป็นสมาธิ
…ทศพิธราชธรรมข้อ (๑๐) อวิโรธนะ จัดเป็นปัญญา
 
… ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ประชาชนชาวไทยได้รับการถ่ายโอนพระราชอำนาจมาใช้บริหารและปกครองบ้านเมืองใน ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความผิดพลาดประการหนึ่งก็คือไม่มีการถ่ายโอนพระราชธรรม ๑๐ ประการมาให้ประชาชนได้ประยุกต์ใช้ในการบริหารและการปกครองบ้านเมือง
 
… พระนักเทศน์นักเผยแผ่ทั้งหลายต้องช่วยกันรณรงค์เทศนาสั่งสอนให้พสกนิกรชาว ไทยทุกหมู่เหล่าได้นำทศพิธราชธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยดำเนินตาม รอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชผู้ทรงเป็น ธรรมิกราชคือผู้ทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

พระราชทานเครื่องห่มกันหนาวแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาว จ.ลำพูน


วันที่ 8 ม.ค.2557 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สภากาชาดไทย นำเครื่องห่มกันหนาวไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และมอบแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย ผ้าห่มจำนวน 1,260 ผืน และเสื้อกันหนาวสำหรับนักเรียนจำนวน 1,200 ตัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย โดยพิธีจัดขึ้นที่ลานอเนกประสงค์สำนักงานเทศบาล ตำบลทาสบชัย อำเภอแม่ทา และที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙