ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



ในหลวง เศรษฐกิจพอเพียง 
            …ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง. อย่างนั้นมันเกินไปแต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควรบางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก. อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย. จริง อาจจะล้าสมัยคนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่า เป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้…
พระราชดำรัสวันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐


            …คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก. ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองท่านั้นแต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ในศาลานี้ เมื่อเท่าไร่ เมื่อปี ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๑ นี้ ก็ ๒๔ ปีใช่ไหม. วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง. ถ้าแต่ละคนพอมีพอกินก็ใช้ได้. ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีและประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน. บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย. สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน. จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้. ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ. แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือยแต่ถ้าทำให้มีความสุขถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำสมควรที่จะปฏิบัติ. อันนี้ก็หมายความอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง…
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑


            …คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่มีในตำรา ไม่เคยมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง. มีอย่างอื่นแต่ไม่ใช้คำนี้. ปีที่แล้วพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง เพราะหาคำอื่นไม่ได้. และได้พูดอย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมดหรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. ในคราวนั้น เมื่อปีที่แล้วนึกว่าเข้าใจกัน แต่เมื่อไม่นานเดือนที่แล้ว มีผู้ที่ควรจะรู้ เพราะว่าได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าในว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้นหมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ. ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ…
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑


ในหลวง ประชาชน พอเพียง            …บัดนี้ขอพูดต่อจากที่พูดเมื่อปีที่แล้ว ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไรซึ่งได้แย้มเอาไว้แล้ว. เศรษฐกิจพอเพียงนั้น เขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน หมายความว่า ให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องถิ่นให้สามารถที่จะมีพอกิน. เริ่มด้วยพอมีพอกิน พอมี พอกินนี่ ได้พูดมาหลายปี สิบกว่าปีมาแล้ว ให้พอมีพอกิน แต่ว่าถ้าพอมีพอกิน คือพอมีพอกินของตัวเองนั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจสมัยหิน. สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันแต่ว่าค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่าง จะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียง จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้…
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒


            …ความเจริญนั้นมักจำแนกกันเป็นสองอย่าง คือความเจริญทางวัตถุอย่างหนึ่งและความเจริญทางจิตใจอีกอย่างหนึ่งยิ่งกว่านั้น ยังเห็นกันว่า ความเจริญอย่างแรกอาศัยวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ ส่วนความเจริญอย่างหลังอาศัยศิลปะศีลธรรมจรรยาเป็นปัจจัย แท้จริงแล้ว ความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจก็ดี หรือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กับทางด้านศิลปะศีลธรรมจรรยาก็ดี มิใช่สิ่งที่จะแยกออกจากกันให้เด็ดขาดได้ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เราพยายามจะแยกออกจากกันนั้นมีมูลฐานที่เกิดอันเดียวกัน คือ ความจริงแท้ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ถึงจะพยายามแยกจากกันอย่างไร ๆ ที่สุดก็จะรวมลงสู่กำเนินจุดเดียวกัน แม้แต่จุดประสงค์ก็จะลงสู่จุดเดียวกัน คือความสุขความพอใจของทุกคน…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประกาศนียบัตรและอนุปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วันอังคารที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐


            …ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็ก เพราะว่าต่อไป ถ้ามีชิวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใด ๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็งในกาย ในใจก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ นั้นได้…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต วันศุกร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๘


            …ความเจริญนั้น ต้องพร้อมด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ประการหนึ่ง วิชาความรู้ประการหนึ่ง และจิตใจสูงประการหนึ่ง คือถ้าเราต้องการจะทะนุบำรุง ส่งเสริมกำลังของเราให้เข้มแข็งเมื่อเรามีเงิน ก็จะจัดซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชนิดที่มีคุณภาพดีมาเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้นเพียงใด ก็ย่อมจะทำได้ หรือถ้าเราต้องการจะส่งเสริมสมรรถภาพในทางความรู้ วิทยาการใด ๆ ให้ทันเทียมกับอารยะประเทศ เราก็จัดส่งคนของเรา ให้ออกไปศึกษาค้นคว้าและหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบวิทยาการแผนใหม่ ๆ ในต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงส่งเสริมสมรรถภาพของเรา ให้เจริญเทียมทันเขาได้ ซึ่งความเจริญทางจิตใจนั้น เราจะซื้อด้วยเงิน เป็นจำนวนเท่าใด ๆ ไม่ได้ ความเจริญทางจิตใจนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนักเพราะเป็นหน้าที่ของแต่ละคน ที่จะต้องทำตัวของตัวเองให้ดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม…
พระบรมราโชวาท ในวันพิธีสวนสนาม และพระราชทานธงชัยประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธรภาค ๔ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๖


            …จิตใจที่ต่ำทรามนั้นเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่กล้าและไม่อดทนที่จะเพียร พยายามสร้างสมความดีงาม ความเจริญ ความสำเร็จ ในทางที่ถูกต้องเป็นธรรม มีแต่คิดจะให้ได้มาโดยสะดวกง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี จิตใจดังนี้ ถ้าปล่อยให้เกิดมีขึ้นจนเคยชิน อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เป็นคนมักง่ายทำงานบกพร่อง เสียหายอย่างมาก ก็ทำให้เป็นคนมักง่ายไร้ความอาย หยาบคาย ละโมบ ทำอะไรที่ไหน ก็เกิดอันตรายที่นั่นท่านจึงสอนให้สังวรระวังใจของตนให้ดี อย่าให้ความชั่วเกิดขึ้นและหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำจัดเสียทัน นอกจากนี้ ก็ต้องฝึกหัดบำรุงใจให้เข้มแข็งและประณีตขึ้น เพื่อรับเอาความดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ก้าวถึงความสุขและความเจริญมั่นคง การฝึกใจให้เข้มแข็งนี้ ถึงหากจะรู้สึกว่าเป็นการเหนื่อยยาก แต่ถ้าได้ตั้งใจฝึกฝนโดยสม่ำเสมอให้เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ ไม่ช้านานก็จะเกิดกำลังแข็งแรงเกิดความชำนาญคล่องแคล่ว จนสามารถทำความดีได้ง่ายขึ้น ไม่เหนื่อยยากเลย…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๔


ในหลวง งานพัฒนา            …การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรี วันจันทร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙


            …ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ทุกคนทุกฝ่ายแสดงให้เห็น ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณธรรมข้อหนึ่ง ที่อุปถัมภ์และผูกพันคนไทยให้รวมกันเป็นเอกภาพ สามารถธำรงชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นอิสระยั่งยืนมาช้านาน. คุณธรรมข้อนั้นก็คือไมตรี ความมีเมตตาหวังดีในกันและกัน คนที่มีไมตรีต่อกัน จะคิดอะไร ก็คิดแต่ในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกัน. จะพูดอะไรก็ใช้เหตุผละเจรจากัน ด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลาย ได้พิจารณาทบทวนให้ทราบตระหนักแก่ใจอีกครั้งหนึ่งว่า ในกายในใจของไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้อยู่หนักแน่นพร้อมมูลเพียงใด. จักได้มั่นใจว่าเราจะสามารถรักษาประเทศชาติและความเป็นไทยของเราไว้ได้ยืนยาวตลอดไป…
พระราชดำรัส วันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒


            …การมีวินัย มีความสามัคคี และรู้จักหน้าที่ ถือกันว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญประจำตัวของคนทุกคน. แต่ในการสร้างเสริมคุณสมบัติสามข้อนี้ จะต้องไม่ลืมว่า วินัย สามัคคี และหน้าที่นั้นเป็นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งย่อมให้คุณหรือให้โทษได้มากเท่า ๆ กันทั้งสองทาง. เพราะฉะนั้น เมื่อจะอบรมจำเป็นต้องพิจารณาให้ถ่องแท้แน่ชัดก่อนว่าเป็นวินัย สามัคคี และหน้าที่ที่ดี คือปราศจากโทษ เป็นประโยชน์ เป็นธรรม ไม่เคลือบแฝงไว้ด้วยสิ่งชั่วร้าย เช่น วินัย ก็ต้องไม่ใช่วินัยเพื่อตน เพื่อหมู่คณะของตนเท่านั้น ต้องเป็นวินัยเพื่อคนทุกคน เพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นวินัยที่ถูกต้อง ที่เป็นการสร้างสรรค์. ทำนองเดียวกัน การสามัคคีกัน ทำการหรือทำหน้าที่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล มิใช่เพื่อการเพิ่มพูนประโยชน์ เฉพาะพวกตนแล้วเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนเสียหาย. จึงเห็นได้ว่าการสร้างวินัย สามัคคี และความรู้จักหน้าที่ให้แก่เยาวชน ต้องกระทำด้วยความเพ่งพินิจอย่างละเอียด ถี่ถ้วนเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะไม่บังเกิดผลที่พึงประสงค์ หรือซ้ำร้าย อาจกลับกลายเป็นการทำลายอนาคต และความเจริญมั่นคงของชาติไปก็ได้…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ วันอังคารที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๖


            …คำที่ชอบมากในพระพุทธศาสนาคือ วิริยะ วิริยะนี้ออกมาในรูปภาษาพูดธรรมดาก็หมายถึงความอุตสาหะ เพราะเขาใช้คำว่าวิริยะอุตสาหะ คนนั้นมีความวิริยะมาก หมายความว่ามีความอุตสาหะมาก มีความขยัน มีความอดทนมาก แต่วิริยะกลายมาเป็นคนที่มีวีระ เป็นคนที่กล้า อย่างเช่นคำว่า วีรบุรุษ วีรชน คนที่กล้า ก็วิริยะนี้ ความอุตสาหะหรือความกลัวก็เป็นคำที่สำคัญ ต้องกล้าที่เผชิญตัวเอง เมื่อกล้าเผชิญตัวเอง กล้าที่จะลบล้างความขี้เกียจ เกียจคร้านในตัว หันมาพยายามอุตสาหะก็ได้เป็นวิริยะอุตสาหะ วิริยะในทางที่กล้าที่จะค้านตัวเองในความคิดพิเรนทร์ ก็เป็นคนที่มีเหตุผล เป็นคนที่ละอคติต่าง ๆ ก็หมายความว่าเป็นคนที่คิดดี ที่ฉลาดวิริยะในทางที่ไม่ยอมแม้แต่ความเจ็บปวด ความกลัว จะมาคุกคามก็ทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็เป็นคนกล้า ถึงชอบคำว่าวิริยะ…
พระราชดำรัสในโอกาสที่พระครูวิบูลสารธรรม เจ้าอาวาสวัดคลอง ๑๘ และคณะเฝ้า วันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๘


            …จะทำงานทำการอะไรก็ตาม ถ้าทำด้วยร่างกายมันก็เมื่อยกาย แต่ถ้าทำด้วยใจจะว่าเมื่อยใจ มันหนักใจ มันเหนื่อยใจ มันเป็นไปได้ ฉะนั้น การทำงานทำการ ถ้าทำด้วยความร่าเริงใจที่จะทำงานทำการ ความเมื่อยนั้นจะหมดไป ความเหนื่อยจะไม่มีหรือมีแล้วเราก็ไม่รับ เพราะว่าความเมื่อยของกายความเหนื่อยของใจนั้นมันมีเสมอ แต่ถ้าเราไม่รับมันจะไปไหน มันก็ไม่มี มันเกิดเมื่อยขึ้นมาแล้วก็หายไป ฉะนั้น การที่จะทำงานให้ดีก็ต้องมีความร่าเริง ความตั้งใจที่จะทำ เมื่อมีความตั้งใจแล้ว ต้องมีความอดทนเหนียวแน่น…
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๓


            …ในการสร้างอนาคตที่มั่นคงรุ่งโรจน์นั้น นอกจากวิชาความรู้ที่เจนจัดแล้ว บุคคลยังจำเป็นต้องอาศัยคุณสมบัติและความสามารพิเศษอีกหลายด้าน เป็นเครื่องอุดหนุนและส่งเสริมความรู้ของตนด้วย. ข้อแรก จะต้องเป็นคนที่ทำตัวทำงานอย่างมีหลักการมีระเบียบ มีเหตุผลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์เป็นธรรม. ข้อสอง ต้องมีความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในการทำงานและการทำความดี แม้จะมีความเหนื่อยมาก หรือมีอุปสรรคขัดขวางมากมายเพียงใด ก็ไม่ย่อท้อถอยหลัง. ข้อสาม ต้องเอาใจใส่ศึกษาค้นคว้าหาวิชาและความรอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งและกว้างขวางรอบด้าน ไว้สำหรับใช้เทียบเคียง ประกอบการพิจารณาตัดสินปัญหาต่าง ๆ ในการงาน. ข้อสี่ ซึ่งสำคัญที่สุด ต้องสามารถควบคุมกายใจ คือการกระทำความคิดของตน ให้สงบ หนักแน่น แน่วแน่ในความเป็นกลางอยู่เสมอ แม้ในเวลามีเหตุชวนให้วุ่นวายสับสน. ความสามารถทำกายทำใจให้สงบ หนักแน่น เป็นกลางห่างจากอคตินี้ จะช่วยให้เกิดสติระลึกรู้ถึงเหตุถึงผล ถึงข้อเท็จจริง และความถูกผิดของเรื่องทั้งปวง จึงเป็นอุปการะสำคัญของการคิดพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เพราะช่วยให้มองเห็นปัญหาได้กระจ่างแจ่มชัด สามารถตัดสินชี้ขาดได้โดยถูกต้องเที่ยวตรง เป็นธรรมเป็นประโยชน์เสมอ…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖


            …สภาวะที่บีบรัดความเป็นอยู่ของเราที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลกระเทือนมาจากความวิปริตของวิถีความเปลี่ยนแปรทางเศรษฐกิจ การเมือง และทางอื่น ๆ ของโลก เราจึงไม่สามารถที่จะหลีกพ้นได้ หากแต่จะต้องเผชิญปัญหาอย่างผู้มีสติ มีปัญญามีความเข้มแข็งและกล้าหาญ เพื่อเราจักได้รวมกันอยู่อย่างมั่นคงไพบูลย์…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๒ วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๑


…ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่น ๆ ด้วย. เหตุนี้ ทุกคนทุกประเทศในโลก จึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์…
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมันซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯถวาย วันพุธที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๙


ในหลวง            …ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี. ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผลและความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว…
พระราชดำรัส ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๙ วันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙


            …การเผาเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ถ่านหิน น้ำมัน เชื้อเพลิง อะไร ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหมดทำให้คาร์บอนขึ้นไปในอากาศจำนวน ๕ พันล้านตันต่อปี แล้วก็ยังมีการเผาทำลายป่าอีก ๑.๕ พันล้านตัน รวมแล้วเป็น ๖.๕ พันล้านตัน ถ้าขึ้น ๆ ไปอย่างนี้ก็เท่ากับเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่มีอยู่แล้วในอากาศถ้าไม่มีอะไรที่จะทำให้จำนวนของสารนี้ในอากาศลดลง ก็จะทำให้สารนี้กลายเป็นเหมือนตู้กระจกครอบ ทำให้โลกนี้ร้อนขึ้น…
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันจันทร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒


            …การช่วยเหลือสนับสนุนประชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาด ล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์ เพราะหากไม่กระทำด้วยความระมัดระวังย่อมจะหวังผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้โดยยาก ยกตัวอย่าง เช่นการปราบศัตรูพืช ถ้าทุ่มเททำไปโดยไม่มีจังหวะที่ถูกต้อง และโดยมิได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้กระจ่างชัดอย่างทั่วถึง ก็อาจสิ้นเปลืองแรงงาน ทุนทรัพย์ วัสดุอุปกรณ์ที่ล้วนมีราคาไป โดยได้รับผลไม่คุ้มค่า ยิ่งกว่านั้น การทำลายศัตรูพืช ยังอาจทำลายศัตรูของพืชที่มีอยู่บ้างแล้วตามธรรมชาติ และทำอันตรายแก่ชีวิตคนชีวิตสัตว์เลี้ยงอีกด้วย การพัฒนาอย่างถูกต้อง ซึ่งหวังผลอันยั่งยืนไพศาลจึงต้องวางแผนงานเป็นลำดับขั้นอย่างถี่ถ้วนทั่วถึง ให้องค์ประกอบของแผนงานทุกส่วนสัมพันธ์และสมดุลกันโดยสอดคล้อง…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗


            …เมื่อพูดถึงการสร้างความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมองมักจะคิดถึงงานที่ใหญ่โตมาก ๆ เช่นการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นต้น สำหรับประเทศของเรา ข้าพเจ้าใคร่ขอให้นักวิชาการและปฏิบัติการทางเทคโนโลยี หันมาพิจารณาถึงการสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่งด้วย คือการใช้หลักวิชาและความริเริ่มสร้างงานที่อาจดูไม่ใหญ่โตนัก แต่มีประสิทธ์ภาพสูงและอำนวยประโยชน์โดยตรงได้มาก โดยนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนแรงงานของคนส่วนใหญ่ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและให้เกิดความเสียหาย หรือความสูญเปล่าน้อยที่สุดการสร้างความเจริญในลักษณะนี้ จะช่วยสร้างเสริมความเจริญของกิจการส่วนรวมได้แน่นอน เมื่อเราค่อย ๆ สร้างความเจริญมั่นคงให้เพิ่มทวีขึ้นแก่ทุกคนในชาติได้จริง ๆ แล้ว ความเจริญยิ่งใหญ่ที่ปรารภปรารถนา ก็จะเกิดตามมาเองในไม่ช้านัก…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๐


            …อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไป. เมื่อไม่กี่วันนี้ก็ได้พูดต่อหน้า ผู้ที่สนใจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาว่าประเทศไทยค่อนข้างจะแย่ ผ่านในระยะที่เสื่อม ทำให้ความเป็นอยู่ หรือแม้การพัฒนาค่อย ๆ ถอยลง. เขา คนที่เป็นนักพัฒนานั้นบอก: ไม่จริง อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจของเรากำลังเฟื่องฟูคนมาลงทุนในประเทศมาก แล้วอุตสาหกรรมก็ก้าวหน้า. เลยต้องบอกว่า จริง มีทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินมาก ๆ มีการกู้มาลงทุนมาก ๆ หมายความว่า เศรษฐกิจก้าวหน้าแล้ว ประเทศก็เจริญ มีหวังเป็นมหาอำนาจ. แต่ก็ต้องเตือนเขาว่าจริง ตัวเลขดี แต่ว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนก็จะไม่มีทางเพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติอุตสาหกรรมก็ตาม เศรษฐกิจก็ตาม ก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้น แล้วเป็นชาวบ้านทั้งนั้น. ท่านนายก ก็เป็นชาวบ้านคือไม่ใช่คนที่มาจากไหน เป็นคนที่มาจากบ้าน. แล้วก็เป็นคนที่มีชีวิต ทั้งความสุขความทุกข์เช่นเดียวกับทุกคน. ฉะนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั้งนั้น…
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖


            …การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น. ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องกันด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗


            …การพัฒนาชนบทเป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยากเป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือทั้งเฉลียวและฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใด ๆ ใครอยากหากินขอให้ลาออกจากตำแหน่งไปทำการค้าดีกว่า เพราะว่าถ้าทำผิดพลาดไปแล้วบ้านเมืองเราล่มจม และเมื่อบ้านเมืองของเราล่มจมแล้วเราอยู่ไม่ได้ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง…
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้บริหารเร่งรัดพัฒนาชนบทระดับผู้ว่าราชการจังหวัด วันศุกร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๒


            …การที่เราวางโครงการพัฒนาต่าง ๆ ขึ้น และเร่งรีบดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ก็เพื่อปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นทรัพยากรตามธรรมชาติ ให้สามารถอำนวยประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนส่วนรวมให้ได้มากที่สุด แต่การพัฒนาเช่นนี้ นอกจากจะได้รับผลดีตามความประสงค์อาจกระทบกระเทือนถึงประโยชน์อย่างอื่น ๆ ด้วยก็ได้ เช่นการสร้างเขื่อนทดน้ำเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ อาจทำความเสียหายให้แก่การประมงหรือการเพาะปลูก ก่อความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่อยู่ในเขตโครงการนั้นได้ และมีตัวอย่างมาแล้ว จำเป็นที่เราต้องแก้ไข ดังนั้น เราจึงต้องการนักวิชาการทุก ๆ สาขา เพื่อที่จะมาวางโครงการที่รอบคอบและแก้ไขสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ช่วยกันให้ความรู้ความคิดที่ถูกต้องตามหลักวิชาแก่ราษฎรแนะนำ วิธีการทำงานอาชีพ ให้รู้จักแก้ไขอุปสรรคขัดข้อง หรือเปลี่ยนการงานให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ดีกว่าเก่า…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒


            …ในปัจจุบัน มีความคิดและความเชื่อเกิดขึ้นในคนบางกลุ่มว่า การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้านั้น จำเป็นที่จะต้องยุบเลิก หรือทำลายรื้อถอนสิ่งที่มีอยู่แล้วลงเสียก่อน จึงจะสามารถสรรค์สร้างความเจริญหรือความก้าวหน้าที่ต้องการขึ้นได้ ความคิดอย่างนี้น่าจะคิดพิจารณาดูให้ถ่องแท้ ว่าถูกต้องสมควรคิดและเป็นแบบแผนให้ศึกษาจุดเด่นและจุดอ่อน สำหรับแก้ไขส่วนบกพร่อง แล้วหาทางที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เจริญกว่า หรือก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปกว่าต่อไป สิ่งที่มีอยู่แต่เดิม จึงนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับช่วยให้ก้าวหน้าโดยถูกต้องได้เป็นอย่างดี การทำลายสิ่งที่เป็นรากฐานของความก้าวหน้าเสียหมดนั้น จะก้าวไปได้จากสิ่งใด เหมือนกับคนที่มีสมองคิด เมื่อเกิดปวดศีรษะก็ควรเยียวยาให้หายเสียก่อน เพื่อว่าเมื่อหายแล้ว จักได้คิดอ่านให้กว้างไกลยิ่งขึ้นไป หากปวดศีรษะแล้วทุบศีรษะเสียจนสมองยุบแหลกไป จะได้สิ่งใดมาใช้คิดเล่า บัณฑิตทั้งหลาย ผู้มีความรู้ ความคิดสติปัญญาอันสมบูรณ์ ควรจะศึกษาความเจริญที่มีอยู่แล้วให้ถูกต้อง แล้วจึงค่อยคิดพิจารณาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ก่อน เพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๐


            …ทฤษฎีใหม่นี้เกิดขึ้นมาอย่างไร. ก็มาจากการปฏิบัติซึ่งเป็นการปฏิบัติของคนอื่นด้วยตั้งแต่ต้น. ทฤษฎีใหม่นี้ความจริงทางราชการได้ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ก่อนที่เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ตามที่เรียกว่าทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ คือ การพัฒนาทางการเกษตร โดยเพาะปลูกหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน…
            …เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่แล้ว ก็มาเข้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง. คนที่ทำนี้ ต้องไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งเฟ้อ. ได้เขียนไว้ใสทฤษฎีนั้นว่าลำบากเพราะผู้ที่ปฏิบัติ ต้องมีความเพียร และต้องอดทน. ไม่ใช่ว่าทำง่าย ๆ ไม่ใช่บอกว่าเป็นทฤษฎีของในหลวงแล้วจะทำได้สะดวก. และไม่ใช่ว่าทำได้ทุกแห่ง ต้องเลือกที่ถ้าค่อย ๆ ทำไป ก็จะสามารถขยายความคิดของทฤษฎีใหม่นี้ไปได้โดยดัดแปลงทฤษฎีนี้ แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศหรืออาจจะช่วยสภาพภูมิประเทศ โดยหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม…
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑


หญ้าแฝก            …ได้พูดถึงการปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก. สองอย่างนี้ต้องทำเข้าคู่กัน. ได้ทำตัวอย่างให้ดูที่จังหวัดนครนายก. เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ได้ทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำสำหรับชะลอน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกั้นน้ำใหญ่ ๆ หรือเขื่อนเล็ก ๆ แต่ว่าเป็นฝายเล็ก ๆ . ในบริเวณนั้นมีฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัว. แต่ค่าทำฝาย ๓๕ ตัวนี้ คนอาจจะนึกว่า ๓๕ ล้าน. ไม่ใช่. ๒ แสนบาททำได้ ๓๕ ตัว. ยังไม่ได้เห็นแต่ว่ากล้าที่จะยืนยันว่าได้ผล ถ้าใครสนใจไปดูได้ที่ใกล้บ้านบุ่งเข้ อำเภอบางพลี จังหวัดนครนายก ไปดูฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัวนี้ ไปดูว่าป่าจะใหญ่ขึ้นอย่างไร. เพิ่งเสร็จมาไม่กี่เดือน จะเห็นว่าป่านั้นเจริญ ไม่ต้องไปปลูกสักตนเดียวมันขึ้นเอง…
พระราชดำรัส วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗


            …เราเลยบอกว่า ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ คนจน. เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก. เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก. เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากก็จะมีแต่ถอยหลัง. ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว…
พระราชดำรัส วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔


            …ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มาในวันนี้ เพื่อให้พรโดยผ่านท่านนายกรัฐมนตรี๑ เป็นการให้กำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไปตามที่ท่านนายกฯ ได้กล่าว ก็กล่าวในทางที่ดีว่า ทำงานมาเป็นเวลากว่า ๔๗ ปี ก็เป็นผลให้ประเทศชาติมีความเจริญ. ข้อนี้ก็เป็นการยกย่องเป็นการให้กำลังใจแต่กลับมาทำให้เกิดความหนักใจอยู่เหมือนกัน. ว่าทำงานมาเป็นเวลาถึง ๔๗ ปีกว่าแล้วสภาพหรือสถานการณ์ของประเทศก็ยังมีความยุ่งยากมิใช่น้อยในทุกด้าน. ในด้านการทำมาหากินก็ตาม ในด้านความเป็นอยู่ก็ตาม หรือในด้านระเบียบในการปกครองหรือในการอาชีพ แม้สถานะทางความมั่นคงก็ยังไม่ดีตามที่ควรจะเป็น. ข้อนี้ก็เป็นความหนักใจ เพราะหมายความว่า งานที่ทำมานั้น แม้มีผลก็ตาม แต่ยังไม่พอ. จะต้องให้มีผลดียิ่งขึ้นเพื่อที่จะให้ประเทศมีความมั่นคง มีความผาสุกราบรื่นอย่างเต็มที่. แต่ถ้าดูอีกทางหนึ่ง ชีวิตของคนเราก็ตามชีวิตของหมู่คณะ หรือประเทศชาติก็ตาม ก็ย่อมต้องประสบความเจริญ และความเสื่อมสลับกันไปเป็นธรรมดา. ทุกคนก็ทราบดีว่าในชีวิตของแต่ละคน ก็ผ่านเวลาที่เป็นสุขและบางทีก็มีความทุกข์. อันนี้ประเทศชาติก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง. แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป เพราะว่าถ้ามากเกินไป แม้สุขมากเกินไป ก็ทำให้คนเราไม่สบายได้เหมือนกัน. แต่ว่าถ้าทุกข์มากความเป็นอยู่ของคนเรา อยู่ไม่ได้ มันตรอมใจ ไม่มีกำลังใจ ลงท้ายก็ล่มจม…
พระราชดำรัส วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖


            …จะต้องขอถือโอกาสนี้ มีข้อสังเกตว่าทั่วโลก เราเปิดวิทยุก็ตาม โทรทัศน์ก็ตาม เราก็จะเห็นทุกวันว่าเขามีการฆ่ากันเขามีการทำลายกัน ไม่มีวันที่เว้นที่จะไม่มีความเดือดร้อนอย่างรุนแรง. มิใช่ภัยธรรมชาติเท่านั้นเอง แต่ภัยจากสงคราม ภัยจากความเบียดเบียนกัน ทุกวันไม่มีเว้น. แต่ว่าในประเทศไทย ก็ยังคงสงบตามสมควร. ขอให้ทุกคนช่วยกัน อย่าเบียดเบียนกันก็จะทำให้เรายังคงรักษาความสงบได้ จะเรียกว่าตามอัตภาพของเรา. คือประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลก แต่ก็ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบได้ เพราะว่าในโลกนี้หายากแล้ว. เราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริง ๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้. แล้วรู้สึกว่าที่หนึ่งในโลกในข้อนี้จะดีกว่าผู้อื่น จะดีกว่าคนที่รวยที่สุดในโลกจะดีกว่าคนที่เก่งในทางอะไรก็ตามที่สุดในโลก. ถ้าเรามีความสงบแล้วมีความสบาย ความมั่นคงที่สุดในโลกนั้นรู้สึกจะไม่มีใครสู้เราได้…
พระราชดำรัส ในโอกาสที่กรรมการบริหารมูลนิธิฯและนักเรียนทุนพระราชทานเฝ้าฯ วันจันทร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙


            …ถ้าทุกคนพูดเหมือนกัน เวลาพูดอะไรกันขึ้นมา ก็พูดเหมือนกันหมด สัมมนาก็ไม่ต้องสัมมนากัน ไม่ต้องประชุมกัน ไม่ต้องชี้แจง ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันหมด. อันนี้ซิน่าเบื่อ. ทุกคนเหมือนกัน ไม่มีอ้วนไม่มีผอม เหมือนกันหมดมันจะน่าดูไหม. ในที่นี้ก็มีคนอ้วนมีคนผอม ก็เป็นสิทธิของเขาแล้วเขาก็มีความสุขของเขาได้. ฉะนั้นสามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่า คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด. ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย. ต้องมีความแตกต่างกัน. แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน. แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกันถ้าไม่สอดคล้องกัน พัง…
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖


            …การที่ในประเทศใด มีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน ไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะ ในประเทศชาติ เพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้นเป็นความทุกข์. ทุกคนต้องการความสุข หากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง และความที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยยุติธรรม…
พระราชดำรัส ในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าเฝ้าฯ วันพุธที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๗


            …เราประเทศไทยถ้าสามัคคีกันดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่มีเหตุผล เราเองจะเป็นที่ตั้งของความมั่นคงผาสุกของราษฎรที่เป็นประชากรแห่งประเทศนี้ เป็นตัวอย่างแก่มวลมนุษย์มวลมนุษย์ก็มนุษยชาตินี่เอง และประเทศอื่นก็อาจเอาอย่างบ้างก็เกิดความไม่เบียดเบียนขึ้น ความอยู่ในโลกนี้อย่างสบายพอสมควรคือไม่ใช่หรูหรา ประเทศไทยเราจะอยู่ไม่ใช่อย่างทุกคนอยู่มีบ้านหรูหรา กันทุกคน และร่ำรวยกันทุกคน แต่ว่าทุกคนก็พอมีพอกินเพราะว่าเราเราปฏิบัติการเพื่อการนี้ ถ้าคนอื่นประเทศอื่นเขาเอาอย่างวิธีการของเราและอยู่อย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่ร่วมกันโดยสันติอย่างที่เขาเรียกนี้แท้ ๆ เมืองไทยเราชาติไทยเราก็จะเป็นประโยชน์ต่อโลกได้โดยแท้จริง…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๘


            …เวลานี้บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอย่างรีบด่วน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทรัพยากร จากพื้นภูมิประเทศ และจากกำลังงาน กำลังปัญญาของคนไทยเราทุกคน ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้จักได้นำไปสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าทุก ๆ ด้าน ให้เพิ่มพูนมั่นคงยิ่งขึ้นโดยเร็ว เพื่อการนี้ เราจะต้องวางโครงการพัฒนาอีกหลายอย่างโดยรีบด่วน ทั้งจะต้องดำเนินโครงการนั้น ๆ ให้สำเร็จผลโดยฉับพลัน จะลังเลหน่วงเหนี่ยวให้ชักช้าด้วยเหตุใด ๆ ไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียประโยชน์ที่จะพึงได้ไปเปล่า ๆ ซึ่งในยามนี้จะต้องถือเป็นความเสียหาย
            ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกัน ในสิ่งที่มิใช่สาระลง ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไป โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเมตตา ด้วยความปรองดองกัน และความปรารถนาดีต่อกัน ที่สุด ผลงานของทุกคนนั้นจะประมวลกันเข้าเป็นความสำเร็จและความวัฒนาถาวรของประเทศชาติได้ไม่นานเกิดคอย…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๒๐ วันศุกร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๙

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙