วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

77 เรื่อง ที่เรา (อาจ) ไม่เคยรู้ เกี่ยวกับ ในหลวง


บทความ เกร็ดความรู้ เรื่องของ ในหลวง ประวัติในหลวง รูปในหลวง ที่เรา(อาจ)ไม่เคยรู้ เป็น บทความ เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับ ในหลวง ตั้งแต่เมื่อทรง พระเยาว์ พระอัจฉริยภาพ ในหลวง งานของในหลวง ของทรงโปรด ในหลวง และเรื่องส่วนพระองค์ …  อ่าน บทความ เกร็ดความรู้ เรื่องของ ในหลวง ที่คุณอาจไม่เคยรู้ ที่นี่ค่ะ


เมื่อทรงพระเยาว์
 1.ทรงพระราชสมภพเวลา 08.45น.
 2.นายแพทย์ผู้ทำคลอดชื่อ ดับลิว สจ๊วต วิตมอร์ ทรงมีน้ำหนักแรกประสูติ 6 ปอนด์
 3.พระนาม "ภูมิพล" ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
 4.พระยศเมื่อแรกประสูติ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ภูมิพลอดุลยเดช
 5.ทรงมีชื่อเล่น ว่า เล็ก หรือ พระองค์เล็ก
 6. ทรงเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี เพราะช่วงพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ 1 ปี มีพระนามในใบลงทะเบียนว่า "H.H Bhummibol Mahidol"หมายเลขประจำตัว 449
 7.ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า อย่างธรรมดาว่า "แม่"
 8.สมัยทรงพระเยาว์ ทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง
 9.แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม    
10. สมัยพระเยาว์ทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็เคยเลี้ยง ครั้งหนึ่งงูตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต
11.สุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงสมัยทรงพระเยาว์เป็นสุนัขไทย ทรงตั้งชื่อให้ว่า"บ๊อบบี้"
12. ทรงฉลองพระเนตร(แว่นสายตา)ตั้งแต่พระชันษายังไม่เต็ม 10 ขวบ เพราะครูประจำชั้นสังเกตเห็นว่าเวลาจะทรงจด อะไรจากกระดานดำพระองค์ต้องลุก ขึ้นบ่อยๆ
13.สมัยพระเยาว์ทรงซนบ้าง หากสมเด็จย่าจะลงโทษ จะเจรจากันก่อนว่า โทษนี้ควรตีกี่ที ในหลวงจะทรงต่อรองว่า 3 ทีมากเกินไป 2 ทีพอแล้ว
14.ระหว่างประทับอยู่ สวิตเซอร์แลนด์นั้นระหว่างพี่น้องจะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะใช้ภาษาไทยกับสมเด็จย่าเสมอ
15. ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก "การให้" โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า "กระป๋องคนจน" เอาไว้ 
หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก "เก็บภาษี" หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุม เพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำ อะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน
16. ครั้งหนึ่ง ในหลวงกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่า "ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อจักรยาน"
17.กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coconet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา
18.ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง 


พระอัจฉริยภาพ
19. พระอัจฉริยภาพของในหลวง มีพื้นฐานมาจาก "การเล่น" สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บ สตางค์ซื้อเอง หรือ ประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐา ซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วเอามาประกอบเองเป็นวิทยุ แล้วแบ่งกันฟัง
20. สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทยโดยโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทย
เป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆเพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์
21. ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน กีตาร์ แซกโซโฟน แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นคือ ***บเพลง (แอกคอร์เดียน)
22. ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราวพระชนม์ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาหัดเล่น โดยใช้เงินสะสม ส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้
23.ครูสอนดนตรีให้ในหลวง ชื่อ เวย์เบรชท์ เป็นชาว อัลซาส
24. ทรงพระราชนิพนธ์พลงครั้งแรก เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา เพลงพระราชนิพนธ์แรกคือ "แสงเทียน" จนถึงปัจจุบันพระราชนิพนธ์ เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง
25. ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย อย่างครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซอง จดหมายตีเส้น 5 เส้นแล้วเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง "เราสู้"
26. รู้ไหม...? ทรงมีพระอุปนิสัยสนใจการถ่ายภาพเหมือนใคร : เหมือนสมเด็จย่า และ รัชกาลที่ 5
27. นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายแล้วนำเงินรายได้ มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ โรงพยาบาลภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อนด้วย
28. ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "นายอินทร์" และ "ติโต" ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ แล้วให้เสมียนพิมพ์ แต่ "พระมหาชนก" ทรงพิมพ์ลง ในเครื่องคอมพิวเตอร์
29. ทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และ เรือใบ ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบ ประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น"กีฬาซีเกมส์") ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2510
30. ครั้งหนึ่ง ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯว่า เสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวส์ ทั้งๆที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่าทรงยึดกติกามากแค่ไหน
31. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่มลอย หรือ "กังหันชัยพัฒนา" เมื่อปี 2536
33. ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็น พลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์,ดีโซฮอลล์ และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว
34. องค์การสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่ในหลวงเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2549 
เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของ ประชาชนชาวไทย โดยมี นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางมาถวายรางวัลด้วยตนเอง 


เรื่องส่วนพระองค์
35. พระนามเต็มของในหลวง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรา มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
36. รักแรกพบ ของในหลวงและหม่อมสิริกิติ์เกิดขึ้นที่สวิสเซอร์แลนด์ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯทรงให้สัมภาษณ์ว่า "น่าจะเป็น เกลียดแรกพบ มากกว่ารักแรกพบ เนื่องเพราะรับสั่งว่าจะเสด็จถึงเวลาบ่าย 4 โมง แต่จริงๆแล้วเสด็จมาถึงหนึ่งทุ่ม ช้ากว่าเวลานัดหมายตั้งสามชั่วโมง
37. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 โดยทรงจดทะเบียนสมรสเหมือนคนทั่วไป ข้อความในสมุดทะเบียนก็เหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท หลังอภิเษกสมรส ทรง"ฮันนีมูน"ที่หัวหิน
38. ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน
39. ระหว่างทรงผนวช พระอุปัชฌาย์และพระพี่เลี้ยง คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
40. ของใช้ส่วนพระองค์นั้นไม่จำเป็นต้องแพงหรือต้องแบรนด์เนม ดังนั้นการถวายของให้ในหลวงจึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นของแพง อะไรที่มาจาก น้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น
41. เครื่องประดับ : ในหลวงไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้น นาฬิกา
42. พระเกศาที่ทรงตัดแล้ว : ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่ธงชัยเฉลิมพลเพื่อมอบแก่ทหาร อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สร้างวัตถุมงคล เพื่อมอบแก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดี ีแก่ประเทศชาติ
43. หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และ กดเป็นรอยบุ๋ม
44. วันที่ในหลวงเสียใจที่สุด คือวันที่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต มีหนังสือเล่าไว้ว่า วันนั้นในหลวงไปเฝ้า แม่ถึงตีสี่ตีห้า พอแม่หลับจึงเสด็จฯกลับ เมื่อถึงวัง ทางโรงพยาบาลก็โทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์แล้ว ในหลวงรีบกลับไปที่โรงพยาบาล เห็นแม่นอนหลับตาอยุ่บนเตียง ในหลวงคุกเข่าเข้าไปกราบที่อกแม่ ซบหน้านิ่งอยู่นาน ค่อยๆเงยพระพักตร์ขึ้นมาน้ำพระเนตรไหลนอง


งานของในหลวง
45. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนถึงปัจจุบนมีจำนวนกว่า 3,000 โครงการ
46. ทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังสถานต่างๆจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ 3 สิ่ง คือ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง(ตัดต่อเอง ปะกาวเอง) กล้องถ่ายรูป และดินสอ ที่มียางลบ
47.ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่างแม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าฯถวายงาน
48. เก็บร่ม : ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จฯเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนักข้าราชการ และราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงมีรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน
49. ทรงศึกษาลักษณะอากาศทุกวัน โดยใช้ข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยานำขึ้นทูลเกล้าฯ ร่วมกับข้อมูลจากต่างประเทศที่หามาเอง เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติ ที่อาจก่อความเสียหายแก่ประชาชน
50. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มต้นขึ้นจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 32,866.73บาท ซึ่งได้จากการขายหนังสือดนตรีที่พระเจนดุริยางค์ จากการขายนมวัว ็ค่อยๆเติบโตเป็นโครงการพัฒนามาจนเป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
51. เวลามีพระราชอาคันตุกะเสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯสวนจิตรลดา ในหลวงจะเสด็จฯลงมาอธิบายด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงรู้ทุกรายละเอียด
52. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงตอบว่า "ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก 
บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ
53. ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง (20 กรกฎาคม 2549) ยังทรงรับสั่งให้
ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้มอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน 


ของทรงโปรด
54. อาหารทรงโปรด : โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา
55. ผักที่ไม่โปรด : ผักชี ต้นหอม และตังฉ่าย
56. ทรงเสวย ข้าวกล้อง เป็นพระกระยาหารหลัก
57. ไม่เสวยปลานิล เพราะทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย โดยใช้สระว่ายน้ำในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นบ่อเลี้ยง 
แล้วแจกจ่ายพันธุ์ไปให้กรมประมง
58. เครื่องดื่มทรงโปรด : โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งหลายครั้ง
59. ทีวีช่องโปรด ทรงโปรดข่าวช่องฝรั่งเศส ของยูบีซี เพื่อทรงรับฟังข่าวสารจากทั่วโลก
60. ทรงฟัง จส.100 และเคยโทรศัพท์ไปรายงานสถานการณ์ต่างๆใน กทม.ไปที ่ จส.100ด้วย โดยใช้พระนามแฝง
61. หนังสือที่ในหลวงอ่าน : ตอนเช้าตื่นบรรทม ในหลวงจะเปิดดูหนังสือพิมพ์รายวันทั้งไทยและเทศ ทุกฉบับ และก่อนเข้านอนจะทรงอ่าน
นิตยสารไทม์ส นิวสวีก เอเชียวีก ฯลฯ ที่มีข่าวทั่วทุกมุมโลก
62. ร้านตัดเสื้อของในหลวง คือ ร้านยูไลย เจ้าของชื่อ ยูไลย ลาภประเสริฐ ถวายงานตัดเสื้อในหลวงมาตั้งแต่ปี 2501 เมื่อนายยูไลยเสียชีวิต ก็มี ลูกชาย 
นายสมภพ ลาภประเสริฐ มาถวายงานต่อ จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 50 ปีแล้ว
63. ห้องทรงงานของในหลวง อยู่ใกล้ห้องบรรทม บนชั้น 8 ของตำหนักจิตรลดาฯเป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3x4 เมตร ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ 
โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ
64. สุนัขทรงเลี้ยง นอกจากคุณทองแดง สุวรรณชาด สุนัขประจำรัชกาล ที่ปัจจุบันอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล แล้ว ยังมีสุนัขทรงเลี้ยงอีก 33 ตัว


รู้หรือไม่ ?
65. ในหลวง เกิดจากคำที่ชาวเหนือใช้เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "นายหลวง" ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น ในหลวง
66. ทรงเชี่ยวชาญถึง 6 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และ สเปน
67. อาชีพของในหลวง เมื่อผู้แทนพระองค์ไปติดต่อเอกสารสำคัญใดๆทรงโปรดให้กรอกในช่อง อาชีพ ของพระองค์ว่า "ทำราชการ"
68. ในหลวงทรงพระเนตรเทียมข้างขวา เป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ รถพระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง 
ทำให้เศษกระจกเข้าพระเนตรข้างขวา ตอนนั้นมีอายุเพียง 20 พรรษา และทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียว ในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน
ชาวไทยมาตลอดกว่า 60 ปี
69. ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันลงข่าวลือเกี่ยวกับในหลวงว่า แซกโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นเป็นแซกโซโฟนที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้ 
บริสุทธิ์ ซึ่งได้มีพระราชดำรัสว่า"อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก"
70. ปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่ง จนกระทั่งกุด
71. หัวใจทรงเต้นไม่ปรกติ ในหลวงเคยประชวรหนักจนหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากติดเชื้อไมโครพลาสม่า ขณะขึ้นเยี่ยมราษฎรที่อำเภอสะเมิง
ติดต่อกันหลายปี
72. รู้หรือไม่ว่า ในหลวงเป็นคนประดิษฐ์รูปแบบฟอนต์ภาษาในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่าง ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์
73. ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดขึ้นที่อิมแพ็ค 
มีประชาชนเข้าชมรวม 6ล้านคน
74. ในหลวงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 จน 29 ปีต่อมาจึงมีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง 
ประทับครั้งละ 3 ชม. ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทาน 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด 141 ตัน
75. ดอกไม้ประจำพระองค์ คือ ดอกดาวเรือง
76. สีประจำพระองค์คือ สีเหลือง
77. นั่งรถหารสอง : ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง จึงให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระเกษมสำราญ มีพระพลานมัยแข็งแรงสมบูรณ์ ทรงหายจากอาการพระประชวร มีพระชนม์ยิ่งยืนนาน 

เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ตลอดกาลนานเทอญ.

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ 
ข้าพระพุทธเจ้าคณะข้าราชการและลูกจ้างพร้อมครอบครัวเรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภู

อ้างอิงจาก http://www.correct.go.th/popnogb/About/m111.html

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย



สถาบันพระมหากษัตริย์
 
สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่เหนือการเมืองและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และชอบที่จะให้มีการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีนิติรัฐและความผาสุก ถ้าการเมืองมีความมั่นคงแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีเสถียรภาพไปด้วย ถ้าการเมืองไม่มั่นคงหรือมีความปั่นป่วนในสังคม สถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่มั่นคงตามไปด้วย
 
สถาบันพระมหากษัตริย์จะรู้สึกไม่เป็นปกติทุกครั้งที่ประเทศไทยไร้เสถียรภาพซึ่งเป็นขอเท็จจริงที่สำคัญ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อาจเข้ากับฝ่ายใดได้เนื่องจากจะเสียความเป็นกลาง สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการรบกวนจากการที่มีการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานในปี พ.ศ.๒๕๔๗ เนื่องจากไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และขณะนี้สถาบันฯ ก็ได้รับการรบกวนอีกครั้งจากทุกฝ่ายในความขัดแย้งครั้งนี้เนื่องจากทุกฝ่ายไม่ได้ใช้ปัญญาหรือแสดงความเสียสละเพื่อประเทศชาติเพื่อให้ประเทศชาติสามารถก้าวต่อไปบนทิศทางที่ควร
 
สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและแม้ว่าจะมีหนังสือบางเล่มพยามยามให้เราเข้าใจเป็นอย่างอื่น แต่ความจริงแล้วประชาธิปไตยที่อ่อนแอและนิติรัฐที่อ่อนแอจะส่งผลร้ายต่อความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เท่าเทียมกัน กล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้ามีดุลยภาพในระบบของไทยและประชาชนชาวไทยมีความสุขและปรองดองกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีเสถียรภาพตามไปด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถจะอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสภาพแวดล้อมของไทยได้
 
สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ต้องการการเมืองที่ไม่มีความมั่นคงเพื่อที่จะได้เลือกข้างกองทัพเพื่อให้มาปกป้อง“ผลประโยชน์และอภิสิทธิ” อย่างที่นิตยสารดิอีโคนอมิสต์ได้กล่าวอ้างอย่างผิดๆ การเมืองที่ไม่มีเสถียรจะส่งผลต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน  ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องการความมีเสถียรทางการเมืองในประเทศรอบข้าง เช่น ลาว กัมพูชา มาเลเซีย หรือพม่า ประเทศไทยจะไม่มีเสถียรภาพถ้าเพื่อนบ้านไร้เสถียรภาพทางการเมืองหรือมีเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ถ้าเพื่อนบ้านของไทยมีเสถียรภาพและความรุ่งเรือง ไทยก็จะได้รับประโยชน์จากเสถียรภาพและความรุ่งเรืองนั้นไปด้วย
 
สหรัฐอเมริกาก็ต้องการให้เม็กซิโกมีสุขภาพและเสถียรภาพที่ดี และไม่ต้องการเห็นวิกฤติเปโซครั้งต่อไป
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันอื่นในประเทศไทยควรจะได้รับการพิจารณาจากมุมมองนี้ ถ้ามีดุลยภาพในสังคมไทยและสถาบันต่างๆ มีความเข้มแข็งภายใต้หลักนิติรัฐแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีเสถียรภาพตามไปด้วย
บทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงความเป็นกลาง โดยทรงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีและรัฐธรรมนูญ ทรงตักเตือนหลายครั้งให้ชาวไทยสามัคคีกันและใช้ปัญญาในการป้องกันไม่ให้ประเทศล่มจม และทรงใช้คำว่า “ล่มจม” หลายครั้ง
 
นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชให้ยุบสภาเพื่อยุติปัญหาการเมือง โดยมีนัยยะว่าถ้านักการเมืองไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองได้ก็ควรจะคืนอำนาจสู่พระมหากษัตริย์
หลังจากการเลือกตั้งแล้ว พระมหากษัตริย์ก็จะทรงพระราชทานอำนาจคืนสู่ปวงชนชาวไทยผ่านรัฐสภา ในลักษณะนี้ก็จะมีการคงอยู่ของอำนาจการเมืองไทยตลอดเวลา โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่คงอยู่ตลอดเวลา
 
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงสูญเสียพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชในปี พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น ไม่ทรงพระราชทานอำนาจให้แก่บุคคลใด แต่ทรงพระราชทานพระราชอำนาจนั้นให้ปวงชนชาวไทยอย่างเต็มเปี่ยม
 
เมื่อใดก็ตามที่ชาวไทยไม่สามารถตกลงวิกฤติการเมืองกันได้ ก็จะถวายอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อไปอีกครั้งหนึ่งโดยได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ นี่คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศไทย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้โอบอุ้ม
 
เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารฟอร์บส์ ได้ตีพิมพ์ผลสำรวจว่ากษัตริย์ไทยเป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วย ทรัพย์สินมูลค่า 35 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
 
นิตยสารดังกล่าวไม่ทราบว่าทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ การดูแลรักษา เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
2. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลรักษาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
3. ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติแผ่นดิน เช่นพระราชวังต่างๆ
 
ดังนั้นการสำรวจทรัพย์สินจึงควรต้องพิจารณา เฉพาะทรัพย์สินส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับที่เราคงไม่อาจนับรวมทำเนียบขาวเข้าไปในบรรดาทรัพย์สินของประธานาธิบดีบุชได้ แต่ความร่ำรวยมากน้อยเพียงใด ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดประการใดถ้าความร่ำรวยนั้นไม่ได้มาโดยมิชอบ สำหรับที่ดินในกรุงเทพฯ จำนวนมากที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือครองอยู่นั้นมีเพียงร้อยละ ๗ เท่านั้น ที่ได้จัดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่วนที่เหลือให้เช่าแก่บุคคลรายได้น้อย องค์กรการกุศลและองค์กรต่างๆ ของรัฐ ในอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป
 
อันที่จริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 และพระองค์มิได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเอกชาติชายในปี พ.ศ.2534 แต่เนื่องจากการทำรัฐประหารเมื่อทำไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับหรือยกเลิกได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องลงพระปรมาภิไธยเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ มิเช่นนั้นก็จะเกิดสุญญากาศในการบริหารกิจการบ้านเมือง (การที่ไม่มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศอยู่ในสภาวะสูญญากาศทางการเมืองและเกิดความสับสนวุ่นวาย)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและและทรงเป็นพุทธมามกะที่ยิ่งใหญ่ การที่ทรงเป็นพุทธมามกะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีความเห็นแก่พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีแต่ให้ พระองค์มิทรงเคยเอาผลประโยชน์จากประชาชนชาวไทย

เงินหรือการบริจาคจากสาธารณชนที่ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะถูกส่งต่อไปยังองค์กรการกุศลอื่นๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชจริยวัตรเรียบง่ายและเสวยพระกระยาหารธรรมดา พระองค์จะทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์หรือทรงใช้รถพระที่นั่งลีมูซีนต่อเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชพิธีอย่างเป็นทางการ

นั่นคือถ้าเป็นพระราชกรณียกิจที่เป็นทางการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทำอย่างเป็นทางการ แต่หากเป็นพระราชกรณียกิจที่ไม่เป็นทางการ พระองค์จะทรงทำอย่างเรียบง่าย
 
ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งการครองราชย์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย คำว่า“ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย”นี้เป็นสิ่งซึ่งอยู่ในพระราชหฤทัยเป็นลำดับแรกเสมอมา

บางครั้งคนไทยก็เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “พ่อหลวง” คำนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นกษัตริย์ในสมัยสุโขทัย แต่พระองค์ทรงปกครองประชาชนเฉกเช่นพ่อปกครองลูก

 “ประชาชนชาวไทยรู้อยู่ลึกๆ ในใจว่า
พ่อหลวงจะไม่ทรงคิดร้ายแก่ประเทศไทย
พ่อหลวงไม่ทรงเห็นแก่พระองค์”
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทไทยดำเนินชีวิตโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับที่ดินและสิ่งแวดล้อมของตนเอง เมื่อพวกเขาสามารถดำรงชีพได้อย่างพอเพียงบนผืนดินและสิ่งแวดล้อมของเขาเองแล้วพวกเขาก็จะสามารถมีเงินออมเพื่อใช้ในอนาคตโดยการขายส่วนที่เหลือกินเหลือใช้

ในความเป็นจริง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรมากที่สุดในโลก เรามีสภาพภูมิอากาศที่ดีมาก มีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยมาก ข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก ผลไม้ไทยก็เป็นผลไม้ที่ดีที่สุดในโลก ผืนดินก็อุดมสมบูรณ์และต้นไม้ก็สามารถเติบโตได้เองโดยธรรมชาติ ที่นี่คือสุวรรณภูมิ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งทองคำคุ้มครองโดยพระสยามเทวาธิราช

แต่ระบบและค่านิยมแบบสมัยนิยมผลักดันให้ชาวชนบทไทยออกห่างจากชุมชนของพวกเขาอันเป็นการทำลายโครงสร้างทางสังคมของพวกเขาลง พวกเขาจะถูกเอาเปรียบจากคนรวยในพื้นที่และสังคมชนบทก็ยิ่งถูกทำให้อ่อนแอลง ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและความไม่ยุติธรรมพบเห็นได้ในประเทศไทยมานานก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์เสื้อแดงเสียอีก

การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดงก็เป็นผลจากช่องว่างของความคิดหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและคุณค่าของสังคมไทย ในขณะนี้เราก็ยังคงมีความต้องการประชาธิปไตยแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ามันคืออะไรหรือการทำให้เกิดประชาธิปไตยจริงๆ ได้อย่างไร และไม่ว่ารัฐธรรมนูญของเราจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วนเพียงใด เรายังคงจะมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และมีภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมอยู่ในรัฐสภา

เมื่อใดก็ตามที่เรามีการเลือกตั้งเรามักจะพูดว่ามันเป็นสิ่งดี ที่ในที่สุดเสียงของประชาชนก็ได้รับความสนใจเพราะพวกเราไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงการเมืองไทยเต็มไปด้วยความทุจริต ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนหรือปฏิรูปการเมืองหรือแม้กระทั่งมีรัฐประหาร นักการเมืองหน้าเดิมๆก็กลับมาหลอกหลอนพวกเราอีก ประชาธิปไตยของไทยช่างน่าสิ้นหวังจริงๆ

ในความเป็นจริงหากคนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเรามีความสุขกับการมีสถาบันพระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมอันมากมายที่ไม่มีในชาติอื่น เราก็จะยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ไปตราบเท่าที่เราต้องการ ประชากรไทยเท่านั้นที่จะตัดสินใจ ไม่ใช่นักวิชาการจอมปลอม สื่อต่างชาติ นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน หรือแม้แต่ผู้นิยมลัทธิมากซ์

หมายเหตุ บทความนี้เป็นบางส่วนของบทความ “เผด็จการเสียงข้างน้อย กับเผด็จการเสียงข้างมาก” (TheTyranny of the Minority vs the Tyranny of the Majority) ของทนง ขันทอง จาก http://blog.nationmultimedia.com/thanong/2008/10/08/entry-2 เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2551

สองธรรมราชา ตอนที่ 2 จบ


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามที่ "พระโศภณคณาภรณ์" ทรงได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษเป็น “พระอภิบาล” (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) ในระหว่างที่เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

ในการนี้ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในพระราชทินนามที่ "สมเด็จพระวันรัต" ทรงเป็นพระราชอนุศาสนาจารย์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง ในพระราชทินนามที่ "พระสาสนโสภณ" ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ 

ทรงปฏิบัติสมณธรรมรวมเป็นเวลา 15 วัน จึงทรงลาผนวช 


จากซ้าย : พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในพระราชทินนามที่ "สมเด็จพระวันรัต" ทรงเป็นพระราชอนุศาสนาจารย์


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง ในพระราชทินนามที่ "พระสาสนโสภณ" ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามที่ "พระโศภณคณาภรณ์" ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) 


พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงปลูกต้นสัก ณ บริเวณด้านหน้าของพระตำหนักใหญ่ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร เมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวันทรงลาผนวช 

สองธรรมราชา


ช่วงก่อนที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ประมาณ พ.ศ. 2520
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มักเสด็จฯ ไปที่วัดเพื่อสนทนาธรรม 
โดยรับเสด็จที่โบสถ์บ้าง ที่ตำหนักบ้าง แต่ช่วงหลังไม่สะดวก 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงนิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
กับพระสงฆ์อีก 15 รูป เข้าไปในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 
เพื่อถวายสังฆทานทุกวันจันทร์ หลังจากถวายสังฆทานแล้ว
จะทรงสนทนาธรรมเป็นเวลานับชั่วโมง 

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกโอวาทและเทศนาต่างๆ ในพระอุโบสถ
และคำสอนพระใหม่ คำอบรมกรรมฐานตอนกลางคืน
ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร 
และของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมมสาโร) วัดราชผาติการาม 
แล้วนำไปฟัง ซึ่งน่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2510

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร 
อดีตนายตำรวจราชสำนัก กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า 

“ผมเชื่อว่าท่านทรงขึ้นต้นถูก และได้ครูที่มีความสามารถ ครูองค์นี้หรือรูปนี้ 
คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน 
ท่านเป็นพระพี่เลี้ยงพระเจ้าอยู่หัวในขณะที่ประทับอยู่ที่วัดบวรฯ 
เพราะฉะนั้นก็ได้ครูธรรมที่เรียกว่าชั้นยอดที่สุดของเมืองไทย 
ผมเห็นท่านทรงศึกษาจากตำราของครูบาอาจารย์เอง 
เสด็จฯ ไปที่ไหนก็ตาม ที่มีพระที่มีความรู้ทางกรรมฐาน ทางวิปัสสนา
จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมและรับสั่งกับพระเหล่านี้ทุกรูป

เมื่อผมยังอยู่ในวัง ผมมีหน้าที่หาพระถวายท่านเวลาเสด็จไปประทับต่างจังหวัด
เพราะเรามีหน้าที่ศึกษาภูมิประเทศเพื่อจะเตรียมการเสด็จพระราชดำเนิน
ตอนที่ออกเดินไปศึกษาภูมิประเทศ พบพระดีๆ
เราก็ต้องกลับมากราบบังคมทูลท่านว่ามีพระอยู่วัดนี้
ตอนเสด็จไปทางนั้นเราจะจัดเสด็จพระราชดำเนินให้สอดคล้องกัน
คือให้ทรงมีเวลาที่จะแวะวัดนั้นและพระเหล่านั้นด้วย
ถ้าท่านทรงศึกษาขนาดนี้แล้ว การไปหาพระก็จำเป็นน้อยลง” 
(หนังสือ ๙๙ คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช )


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็น 
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อวันศุกร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช 1351
ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
ท่ามกลางมหาสังฆนิบาติ พระบรมวงศานุวงศ์ 
และข้าราชการทหารพลเรือน เป็นแบบแผนพระราชพิธีที่ปฏิบัติต่อมา
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต สืบต่อจาก 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) 
เริ่มด้วยการจารึกพระสุพรรณบัฏ
ภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันแรก 

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตร
พระสุพรรณบัฏ พระตราตำแหน่ง พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ ฯลฯ
แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประวัติสังเขป สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
(เจริญ สุวฑฺฒโน)
เจริญ คชวัตร
ประสูติ3 ตุลาคม พ.ศ. 2456
สิ้นพระชนม์24 ตุลาคม พ.ศ. 2556
พระชนม์100 ปี 21 วัน
อุปสมบทพ.ศ. 2476
พรรษา80 ปี 329 วัน
วัดวัดบวรนิเวศวิหาร
ท้องที่กรุงเทพมหานคร
สังกัดธรรยุติกนิกาย
วุฒิการศึกษาน.ธ.เอก, ป.ธ.9
ตำแหน่ง
ทางคณะสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ลายพระนามLikit SD.jpg

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

พระประวัติ
ขณะทรงพระเยาว์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร บิดาของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของป้าเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของนางกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู[2]
เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชันษา 12 ปี หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า "เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย" จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

บรรพชาและอุปสมบท
เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้ว พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลารามเป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษาและได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” จนกระทั่ง พระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม
พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ ที่ตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้ โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2470 แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลีโดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473

พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมากในการสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า "คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว" แต่เมื่อทรงคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่าทำไมจึงสอบตก ก็ทรงตระหนักได้ว่าเหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจากความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์สอบตก เมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปี พ.ศ. 2475

หลังจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม 9 ในปี พ.ศ. 2484

การปฏิบัติหน้าที่ด้านคณะสงฆ์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงฉายภาพหมู่ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อคราวผนวช

หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์อีกมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่งในฐานะเป็นพระเปรียญ 9 ประโยค ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย

เมื่อมีพระชันษาได้ 34 ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499 ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ โดยราชทินนามทั้ง 2 ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก

ในปี พ.ศ. 2504 พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาคและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ได้รับการสถาปนาที่ พระสาสนโสภณ[6] พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และยังคงดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย[7]
สมเด็จพระสังฆราช


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พ.ศ. 2515 พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2359 ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น

เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2531 ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ กล่าวคือ สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น โดยปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ บางพระองค์ ครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งครั้งมีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์[6] ( ในพระนาม ใช้ราชทินนาม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)

ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช


หนังสือ “ขอรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช” ที่ พศ 0006/3 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2547

ในช่วงที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชมีศาสนกิจที่จะต้องเสด็จไปต่างประเทศ พระองค์จะมีพระบัญชาแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยเมื่อครั้งพระองค์เสด็จประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบทูลอาราธนาของทบวงศาสนกิจ ประเทศจีน และเสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศเนปาล พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้ง สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

ช่วงปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประชวร และประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[12] ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ต่อมา การแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โดยประกอบด้วยพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สิ้นพระชนม์


พระโกศกุดั่นใหญ่ประกอบพระอิสริยยศพระศพ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19:30 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต [1] มีการเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มายังตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 12:15 นาฬิกา ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงสรงน้ำพระศพในวันเดียวกัน เวลา 17:00 นาฬิกา พระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ภายใต้เศวตฉัตรสามชั้น พร้อมเครื่องประกอบพระเกียรติยศ และให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพเจ็ดวัน

พระกรณียกิจ
พระกรณียกิจของพระองค์ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมามีอยู่เป็นอเนกอนันต์ พอจะสรุปได้ดังนี้

ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ
พระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการมาโดยลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2509 ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และดูกิจการพระธรรมทูตในประเทศอังกฤษและอิตาลี
พ.ศ. 2511 เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ อันเป็นผลให้ต่อมาได้มีการวางแผนร่วมกับชาวพุทธอินโดนีเซีย ในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ส่งพระธรรมทูตชุดแรกไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้ส่งพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศ ออกไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2516, และตั้งสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. 2518
พ.ศ. 2514 เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศเนปาล และอินเดีย ปากีสถาน ตะวันออก (บังคลาเทศ) ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล ในขั้นแรก ได้ให้ทุนภิกษุ สามเณรเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในไทย ที่วัดบวรนิเวศฯ
พ.ศ. 2520 เสด็จไปบรรพชาชาวอินโดนีเซีย จำนวน 43 คน ที่เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย
พ.ศ. 2528 ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดจาการ์ต้าธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการผูกพันธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซีย และในปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากย แห่งเนปาล จำนวน 73 คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
พ.ศ. 2536 เสด็จไปเจริญศาสนาสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เป็นครั้งแรก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน
พ.ศ. 2538 เสด็จไปเป็นประธาน วางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งรัฐบาลไทยจัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

ด้านสาธารณูปการ
ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ

ปูชนียสถาน
ได้แก่ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง
พระอาราม ได้แก่ วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง เชียงราย วัดรัชดาภิเศก อำเภอบ่อพลอย กาญจนบุรี วัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ วัดพุมุด อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง ชลบุรี นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ วัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย กรุงจาการ์ตาอินโดนีเซีย วัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร เมืองกิรติปูร เนปาล

โรงเรียน
ได้แก่ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี

โรงพยาบาล
ได้แก่ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม 19 แห่ง ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง

พระภารกิจ
พ.ศ. 2484 เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย และเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. 2489 เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และเป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2493 เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว
พ.ศ. 2494 เป็นกรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการแผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2496 เป็นกรรมการตรวจชำระ คัมภีร์ฎีกา
พ.ศ. 2497 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร
พ.ศ. 2499 เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา
พ.ศ. 2501 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครองสั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุติ
พ.ศ. 2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ และได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" สมเด็จพระราชาคณะในพระราชทินนามนี้ มีขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานสมศักดิ์นี้เป็นองค์แรก และต่อมาก็มิได้พระราชทานสมณศักดิ์นี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 ถึงปี พ.ศ. 2515 เป็นเวลาถึง 152 ปี
พ.ศ. 2517 เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. 2528 เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก และเป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2531 รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

พระนิพนธ์
ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้

ประเภทตำรา
ทรงเรียบเรียงวากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบ การศึกษาของนักเรียนบาลี และทรงอำนวยการจัดทำ ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ

ประเภทพระธรรมเทศนา
มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วเช่น ปัญจคุณ 5 กัณฑ์, ทศพลญาณ 10 กัณฑ์, มงคลเทศนา, โอวาทปาฏิโมกข์ 3 กัณฑ์, สังฆคุณ 9 กัณฑ์ เป็นต้น

ประเภทงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศ
ทรงริเริ่มและดำเนินการให้แปลตำราทางพุทธศาสนา จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น นวโกวาท, วินัยมุข, พุทธประวัติ, ภิกขุปาติโมกข์, อุปสมบทวิธี, และทำวัตรสวดมนต์ เป็นต้น

ประเภททั่วไป
มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การนับถือพระพุทธศาสนา, หลักพระพุทธศาสนา, พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านล้ำเลิศ, 45 พรรษาพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร (ไทย-อังกฤษ), วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ, พระพุทธศาสนากับสังคมไทย, เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ), แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน, อาหุเณยโย, อวิชชา, สันโดษ, หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมจิต, การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่, บัณฑิตกับโลกธรรม, แนวความเชื่อ, บวชดี, บุพการี-กตัญญูกตเวที, คำกลอนนิราศสังขาร, และตำนานวัดบวรนิเวศ เป็นต้น


ตราประจำพระองค์

พระเกียรติยศ
ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ. 2490 พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภณคณาภรณ์
พ.ศ. 2495 พระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2498 พระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2499 พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกคุณวิภูสิต ธรรมวิทิตคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2504 พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ อุดมศีลจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี
พ.ศ. 2532 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช

ตำแหน่งที่ได้รับการถวาย
ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด รวมทั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรมนำ ไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและทั่วโลก นับเป็นแบบอย่างของสากลโลก ซึ่งเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลก

ปริญญากิตติมศักดิ์
พระองค์ได้รับการถวายปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษา ดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2529: ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. 2532: อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533: พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2537: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2538: การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร
พ.ศ. 2539: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. 2540: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พ.ศ. 2543: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2545: ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาไทศึกษา จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
พ.ศ. 2548: ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
พ.ศ. 2554: ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
พ.ศ. 2556: ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา จาก มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

งานฉลองพระชันษา 96 ปี (8 รอบ)
3 ตุลาคม 2552 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 96 ปี รัฐบาลจัดให้มีการบำเพ็ญกุศล และงานฉลองเนื่องในโอกาสมงคลนี้
งานฉลองพระชันษา 100 ปี 3 ตุลาคม 2556

งานแสดงมุทิตาจิต ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2556 ณ ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เวลา 08.00 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จฯ ออกทรงรับบาตรจากศิษยานุศิษย์ และ ประชาชนทั่วไป
เวลา 09.00 น. ศิลปิน ดารา นักร้อง ที่จะมาร่วมรณรงค์รับบริจาคเงิน เพื่อโดยเสด็จพระกุศล สมเด็จพระสังฆราชให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรและรับประทานเกียรติบัตร และออกรณรงค์รับบริจาคตามคลินิกผู้ป่วยนอก / หอผู้ป่วยพิเศษ / สำนักงาน
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล ณ ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร ชั้น 5
เวลา 13.00 น. การบรรยายพิเศษ “ใส่บาตรอย่างไร ได้บุญ ไกลโรค” ณ ห้องประชุมเฉลิม พรมมาส ตึก อปร.
เวลา 13.30 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับน้ำสรงพระราชทาน จาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และบรมวงศานุวงศ์ทุก พระองค์ เนื่องในงานฉลองพระชันษา 100 ปี
เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานทอดผ้าป่าสามัคคี 84,000 กอง
เวลา 15.30 - 16.45 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โปรดฯ ให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร
เวลา 17.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์แสดงมุทิตาจิตฉลองสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในงานฉลองพระชันษา 100 ปี
เวลา 18.00 น. พิธีลาบวชเนกขัมมบารมี 101 คน

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“พระเทพฯ” ทรงนำคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ


เมื่อ 28 ต.ค.2556 เวลา 8.39 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานแปรรูปแมคคาเดเมีย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย วันที่ 2 ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงงาน ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งขึ้นในปี 2538  เพื่อเป็นสถานที่แปรรูปแมคคาเดเมียจากโครงการป่าเศรษฐกิจให้มีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีชาวเขาเผ่าอาข่า และมูเซอทำงาน รวม 65 คน  ภายในโรงงานแบ่งออกเป็น 4 ส่วน  คือ ส่วนคัดแยก, กะเทาะเปลือก, แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ สามารถแปรรูปแมคคาเดเมียดิบได้ 40-60 ตันต่อปี เป็นผลิตภัณฑ์ 6 ประเภท ได้แก่ แมคคาเดเมียปรุงรส, น้ำผึ้งแมคคา, แมคคาบด, แมคคาอบสมุนไพร, คุ๊กกี้แมคคาเดเมีย และเค้ก  นอกจากนี้ยังนำเปลือกเขียวของแมคคาเดเมียมาบดผสมกับมูลสัตว์ใช้เป็นปุ๋ยคอกบำรุงต้นส่วนเปลือกกะลา หรือเปลือกแข็งนำไปเผาสำหรับใช้เป็นถ่าน ผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดใหม่ที่จะออกจำหน่ายในปีนี้ คือ ชุดของขวัญคุ๊กกี้แมคคาไวท์ช็อคโกแลต และช็อคโกแลตชิป

โครงการป่าเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปลูกถั่วแมคคาเดเมีย รวมถึงกาแฟอาราบิก้า เนื่องจากผลผลิตมีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ใช้พื้นที่ปลูกไม่มากสามารถปลูกแซมในป่าได้ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนในระยะยาว โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ไม่ถูกทำลาย ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้คนกับป่าบนดอยตุงอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เวลา 9.32 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ โครงการพัฒนาดอยตุงพื้นที่ทรงงาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโรงกระดาษสา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสร้างอาชีพให้แก่ราษฎร และออกแบบพัฒนาคุณภาพการผลิตกระดาษสาให้ดียิ่งขึ้น  โดยใช้ความรู้พื้นฐานการผลิตกระดาษสาที่มีในท้องถิ่นผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ปัจจุบันมีคนงาน 30 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ ผลิตกระดาษสา 2 รูปแบบ คือ แบบไทย มีผิวหนา หยาบ ทนทาน และแบบญี่ปุ่น มีผิวบาง เรียบเนียน สามารถผลิตกระดาษสาทั้ง 2 แบบได้ 700 แผ่นต่อวัน นอกจากนี้ยังเพิ่มความสวยงามด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างลวดลายต่างๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง โดยปีนี้ได้นำใยผ้าจากโรงทอผ้าภายในศูนย์ฯ มาเป็นวัสดุเพิ่มลวดลายแบบใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาด

จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงทอผ้า ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการสร้างงานให้กับผู้หญิงชนเผ่าต่างๆ บนดอยตุง ซึ่งส่วนใหญ่มีความรู้ด้านงานฝีมือ ปักผ้า ทอผ้า และเย็บผ้า เพื่อสร้างเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัว ปัจจุบันมีคนงาน 127 คน สามารถผลิตผ้าประเภทต่างๆ ได้เฉลี่ยวันละ 300  เมตร ส่งจำหน่ายร้านดอยตุงในสนามบินสุวรรณภูมิ, เชียงราย, เชียงใหม่ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยที่โรงทอผ้าแห่งนี้ ได้สร้างโอกาสให้ผู้หญิง 3 วัย คือ รุ่นยาย, รุ่นแม่ และรุ่นลูกได้ทำงานในที่เดียวกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ไปข้องเกี่ยวกับการค้าประเวณี หรืออาชีพผิดกฎหมายอื่นๆ

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงคั่วเมล็ดกาแฟ ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2537 เพื่อรองรับผลผลิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้าจากโครงการป่าเศรษฐกิจใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมในกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้มาตรฐาน และคุณภาพคงที่  นอกจากนี้โรงงานยังมีการควบคุมกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ในปีที่ผ่านมาสามารถผลิตสารกาแฟ หรือ ผงกาแฟได้เฉลี่ย 104 ตัน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ไอซ์ คอฟฟี่ ซึ่งเป็นกาแฟที่สามารถชงเป็นเครื่องดื่มเย็น และยังคงรสชาติเข้มข้นไว้ และกาแฟแบบบรรจุในถุงกรอง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค

เวลา 11.02 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้าน นายสมศรี ใจสูง บ้านสันเกล็ดทอง ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย ทอดพระเนตรแปลงผักสด ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และโครงการปลูกผักปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานจีเอพี (GAP) หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูก และการดูแลแปลง ตลอดจนวางแผนการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผักสดที่มีคุณภาพ และปลอดสารพิษไว้บริโภคตลอดทั้งปี และมีเหลือจำหน่ายให้กับศูนย์ฯ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปัจจุบันขยายผลไปยังชุมชนตำบลโป่งงาม และตำบลโป่งผา  รวม 1,235 ครัวเรือน และหน่วยราชการอีก 18 แห่ง ผลผลิตส่วนหนึ่งยังนำไปจำหน่ายที่ร้านจันกะผัก ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ

เวลา 11.40 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งงาม ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ซึ่งโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับเมล็ดพันธุ์ และกล้าพันธุ์จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มาปลูกหมุนเวียนตามฤดูกาลในบริเวณพื้นที่ว่าง ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งใช้ประกอบอาหารมื้อกลางวันให้กับเจ้าหน้าที่สัปดาห์ละครั้ง และอนุญาตให้ผู้ป่วยเก็บกลับไปประกอบอาหารบริโภคที่บ้านได้ สนองพระราชดำริในการให้ราษฎรในชุมชนได้มีผักที่มีคุณภาพปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานราชการ เทศบาล ตลอดจนประชาชนที่สนใจได้เข้าไปศึกษาดูงานและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ว่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เวลา 12.11 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ อำเภอแม่สาย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสม สำรองไว้สำหรับเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไป รวมถึงผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนปรับปรุง และพัฒนาพันธุ์พืชสายพันธุ์ดี ทนทานต่อโรค และแมลง  ในการนี้ ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติฯ ชมนิทรรศการโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสถวายงาน และช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ผักสำรองเพียงพอตามพระราชประสงค์ เริ่มพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านชุดแรกแก่ผู้ประสบอุทกภัยในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัดในปี 2556 นอกจากนี้ ยังทรงรวบรวมพันธุ์พืชจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อพระราชทานแก่ศูนย์ฯ ไว้ทดลองปลูก โดยศูนย์ฯ เน้นพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้กับตนเอง และครอบครัวได้อย่างยั่งยืน สนองพระราชดำริ

เวลา 14.02 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ซึ่งหลังจากทรงพบว่าน้ำมันเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีประโยชน์สูงต่อร่างกายหลายด้าน จึงมีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันที่ได้รับจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปี 2547 ในรูปแบบของการปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะเกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน  โอกาสนี้ทอดพระเนตรนิทรรศการน้ำมันชาและพืชน้ำมันชนิดต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ผลิต และจำหน่าย โดยพื้นที่ส่วนนิทรรศการนี้เชื่อมต่อกับโรงหีบน้ำมัน ซึ่งเป็นโรงหีบน้ำมันชาแห่งแรก และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ออกแบบ และผลิตภายในประเทศ สามารถผลิตน้ำมันชา และน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ สำหรับบริโภคได้ เฉลี่ยเดือนละ 5,000 ลิตร ในการนี้ ทรงเยี่ยมร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตราเมล็ดชา เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมัน, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ที่ใช้น้ำมันชาเป็นส่วนผสม นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ตราภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา

เวลา 15.33 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-เมียนม่าร์ ณ โรงพยาบาลแม่สาย ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับสำนักงานสาธารสุขจังหวัดเชียงราย จัดทำขึ้น เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพชาวเมียนม่าร์ในเขตแนวชายแดน เพื่อควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อาทิ วัณโรค, โรคเท้าช้าง, ซิฟิลีส และตรวจหาเชื้อมาลาเรีย ที่ผ่านมาได้ออกหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพแล้ว 56 หมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดท่าขี้เหล็ก และเขตว้า มีผู้เข้ารับบริการ 5,853 คน  สามารถตรวจคัดกรองพบโรคมาลาเรีย, ไข้เลือดออก และวัณโรค รวม 17 คน ซึ่งได้ทำการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังให้บริการผู้ที่มีปัญหาทางช่องปากและฟันกว่า 600 คน โดยโครงการนี้มีห้วงระยะเวลาดำเนินงานระหว่างปี 2556-2561 ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สนับสนุนยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

แนวทางการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคที่สังคมเปลี่ยนไป


โดย โลมาท่าพระอาทิตย์

กระผมเป็นเพียงนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์คนหนึ่ง  ดังนั้นความเห็นและข้อคิดที่ผมนำเสนออาจไม่เป็นความเห็นทางวิชาการ  เป็นเพียงความเห็นที่ผมใช้ความคิดและสำนึกของผมพิจารณาขึ้นมาเอง แต่ด้วยความเชื่อว่าปัญหาต่างๆ ในสังคมประชาธิปไตยนั้นต้องแก้ด้วยเสียงของประชาชน  ผมจึงขอใช้สิทธิของผมในการแสดงความเห็นครับ  เป็นเสียงเล็กๆ ที่หวังว่าจะเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาต่างๆในบ้านเมือง  หากท่านมีความคิดเห็นตรงหรือแตกต่างกับผม ผมก็ยินดีที่จะรับฟังครับ

ร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชน : แนวทางการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคที่สังคมเปลี่ยนไป

เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน อากาศร้อนระอุจากแสงแดดที่เผาลงมาอย่างไม่ปราณีทำให้ผู้คนที่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯต่างพากันหลบอยู่ในร่มตามห้างสรรพสินค้าบ้าง ตามร้านอาหารบ้าง หรือตามสำนักงานออฟฟิศเปิดแอร์เย็นฉ่ำเป็นที่กำบังอันทันสมัยและสบายยิ่งนัก  จนอาจมีคนบางพวกลืมนึกคิดไปว่า ก่อนเราจะมีบ้านเรือน อาคารทันสมัยเช่นนี้ เราจำต้องพึ่งใครในยามที่เรารุ่มร้อน ทุกข์ใจ และใคร หรือสถาบันใดที่ได้อยู่เคียงคู่บ้านเมืองเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เราเสมอมา

คำตอบคงเป็นอื่นใดไปมิได้ นอกจาก “สถาบันพระมหากษัตริย์”

หากจะกล่าวสรรเสริญถึงคุณความดีนั้น  เห็นว่าคงจะอ่านกันไม่ไหว แต่หากพูดในเชิงเปรียบเปรย ก็เห็นจะจริงตามคำกล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นดั่ง “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ที่เป็นหลักประกันความสุขให้กับคนไทยเสมอมา ทั้งรักษาเอกราช ผดุงความยุติธรรม และดูแลประชาชนทางด้าน เศรษฐกิจ สาธารณสุข และสังคม

จะกล่าวกันให้เข้าใจง่ายๆก็คือ “ยามใดไทยเป็นไท ยามนั้นย่อมมีสถาบันพระมหากษัตริย์”

แต่ในขณะเดียวกันดังพุทธพจน์ที่ว่า “การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้ผู้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มี แล้วจักไม่มี และไม่มีในบัดนี้”

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีผู้คนที่เสียผลประโยชน์บางกลุ่มกำลังพยายามสร้างกระแสสังคม  เพื่อล้มล้างและทำให้สถาบันฯมัวหมอง บ้างก็เป็นอาจารย์ บ้างก็เป็นนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ แต่กลับเป็นวัวลืมตีน ลืมหรือแกล้งลืมว่ากว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้เราเป็นหนี้บุญคุณใคร และที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือมีผู้ที่พยายามปลุกปั่นปลุกกระแสผ่านทางสื่อสมัยใหม่ให้ประชาชนหลงผิดตามกันไปด้วย

พระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงมีต่อพวกเราตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ความจริงเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทย และชาวต่างชาติ ว่าทรงตรากตรำพระวรกาย เมตตาช่วยเหลือ ห่วงใยดูแลทุกข์สุขของปวงชนชาวไทยโดยมิได้หวังสิ่งใดตอบแทน ยากนักที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

แม้พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตหลายพระองค์ทรงสละแม้ชีวิตออกรบแทนเราเพื่อกู้ชาติ เพื่อรักษาชาติของเรา

       หลายพระองค์ทรงพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าอย่างมาก บางพระองค์นำชาติให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ช่วยให้ไทยเป็นไทมาถึงทุกวันนี้ 

หากพวกเราชาวไทยมีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงภัยร้ายที่มีพวกฉกฉวยผลประโยชน์กำลังพยายามทำลายล้างสถาบันฯ

ถึงเวลาแล้วหรือยัง  ที่พวกเราจะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แสดงความจงรักภักดี ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราประดุจดังต้นไม้ใหญ่ เมื่อมีไฟไหม้มาใกล้หากเราช่วยกันดับไฟ ทำนุบำรุง ดูแลรักษา ต้นไม้นั้นก็จะยังคงอยู่ แผ่กิ่งก้านสาขา ผลิดอก ออกผล ให้ความร่มเย็นเป็นสุขกับพวกเราทุกคนต่อไป

ในสภาวการณ์เช่นนี้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รักและเป็นห่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมจึงอยากแสดงความเห็นส่วนตัวถึงแนวทางที่เราควรดำเนินการเพื่อดำรง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้อยู่คู่ชาติไทยสืบต่อไป

1. รักษากฎหมายอาญามาตรา 112 “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”  แต่ปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการ ดำเนินคดีและเอาผิด

       “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” – กฎหมาย อาญามาตรา 112

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าถึงแม้คดีตามมาตรา 112 นั้นจะต้องผ่านทั้งตำรวจ และ อัยการเพื่อพิจารณาว่าควรส่งฟ้องหรือไม่ แต่คดีกลับมีเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ทำให้มีประชาชนเกิดระแวงกลัวว่าตนอาจพูดอะไรที่ผิดมาตรา 112 โดยไม่เจตนา บ้างก็แคลงใจว่าผู้ถูกฟ้องนั้นได้รับความยุติธรรมหรือไม่ ผู้กระทำความผิดได้กระทำอะไรถึงได้รับโทษดั่งพิพากษา

การจะพิจารณาคดีก็พิจารณาในทางลับ ไม่สามารถหารายละเอียดได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุดแล้วจึงจะหาอ่านได้จากคำพิพากษา ซึ่งเป็นภาษากฎหมาย ไม่เป็นที่นิยมอ่าน สื่อเองก็เสนอข่าวได้เพียงว่าใครเป็นผู้ถูกกล่าวหาแต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนยิ่งสร้างความสงสัยว่าด้วยความยุติธรรมของกฎหมายฉบับนี้

ก่อนที่เราจะพิจารณาการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เราควรมองไปที่สาเหตุที่เรามีร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้อยู่ในประเทศ

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อประเทศของเราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบปัจจุบัน มีประมุขสามฝ่าย คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ หาก “รัฐ” ต้องการฟ้องร้องว่าความใดๆ รัฐบาลโดยมีประมุขฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆต้องเป็นคู่ความในคดี ดังนั้นในระบอบปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศจึงไม่มีเหตุและไม่เป็นคู่ความกับใคร

       ด้วยความที่พระองค์ท่านไม่เป็นคู่ความในคดีต่างๆ ท่านจึงไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระองค์ท่านได้ กฎหมายหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ 393 ไม่ได้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ดังนั้นเราจึงมีมาตรา 112 ขึ้นมาเพื่อเปิดทางให้เรามีช่องทางตามกฎหมายให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เอาผิดบุคคลที่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

สรุปง่ายๆ คือมาตรา 112 คล้ายกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป มีวัตถุประสงค์ที่จะปกป้องภาพลักษณ์อันดีงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ และลงโทษผู้ที่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ต่อสถาบันฯ

แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือความกระจ่างของนิยามคำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ในกฎหมาย ถึงแม้มีนักกฎหมายหลายท่านอ้างว่าจะชัดเจนแล้วก็ตาม แต่หากสังคมไม่เข้าใจก็ไม่มีความหมายอะไร

ทุกวันนี้ สิ่งที่คนธรรมดาเห็นคือ:
– ทราบว่ามีคนกล่าวร้ายสถาบันฯ โดยคนส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อความ
– ผู้ถูกกล่าวหาติดคุกไปแล้ว

สิ่งที่ควรจะอยู่ระหว่างข้อ 1 และข้อ 2 คือ รายละเอียดและตรรกะที่ทางตุลาการใช้ในการพิจารณาว่าเหตุใดศาลถึงเห็นว่าจำเลยมีความผิด ได้กระทำการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” จริง

อันที่จริงแล้วปัญหานี้น่าจะสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งหากแก้อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งในสังคม สำหรับการแก้เราแก้ที่วิธีดำเนินการครับ มีศาลซึ่งมีหน้าที่ตีความและรักษากฎหมายเป็นเจ้าภาพ

โดยผมขอเสนอแนะให้:
– ศาล และหน่วยงานรักษากฎหมายต่างๆชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่าการกระทำอันใดเข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย
– ศาลชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโทษและความผิด เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย
– ศาลแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงประเด็นข้อกังขาต่างๆ เท่าที่จะกระทำได้ตามกฎหมายในคดีสำคัญๆ เป็นระยะๆขณะการพิจารณาคดี อะไรที่สามารถเปิดเผยได้ก็ควรเปิดเผย อนึ่งข้อเสนอนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ยกเลิกการพิจารณาคดีในทางลับนะครับ แต่เป็นการทำให้ประชาชนเห็นว่าการทำงานของฝ่ายตุลาการไม่มีเจตนากลั่นแกล้งประชาชน
– ผู้บังคับใช้กฎหมายพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก และกล้าที่จะยกคำร้องตามสมควร หากตัดสินใจฟ้องควรชี้แจงว่าจำเลยมีความผิดอะไรตามบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ผมเสนอให้ประกาศในข้อ 1

2. ชี้แจง ตอบโต้ สร้างความกระจ่างให้ประชาชนเห็นถึงข้อเท็จจริงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์

เนื่องจากผมศึกษาอยู่ต่างประเทศ ผมจึงได้มีโอกาสพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายในอินเตอร์เน็ทอยู่มาก โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ upload คลิปของตนขึ้นไปบนเว็บ โดยเมื่อพบเห็นผมก็จะแจ้งกระทรวง ICT ให้ทราบทุกครั้งไป

แต่สิ่งที่ผมสังเกตได้ชัดเจนที่สุดคือ ข้อกล่าวหาใส่ร้ายพระองค์ท่านล้วนเป็นเรื่องที่ไร้สาระ และเบาปัญญาอยู่ค่อนข้างมากครับ คือเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องไม่มีเหตุผลมาผูกกัน อันที่จริงผมก็อยากเล่าให้ฟังเป็นเรื่องขำขันแต่ก็เกรงว่าจะผิดกฎหมายตามไปด้วย

แต่ประเด็นคือ หลายครั้งข้อกล่าวหานั้นดูแล้วจะยิ่งชี้ให้เห็นถึงความเบาปัญญาของผู้กล่าวหามากกว่าผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้นนอกจากการเอาผิดและปราบปรามคนพวกนี้แล้ว รัฐควรมีสิทธิ์ที่จะเปิดเผยและโต้แย้งกับข้อมูลเท็จเหล่านี้ได้โดยไม่ยาก ถึงแม้ในปัจจุบันการเปิดเผยข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะผิดกฎหมาย แต่เราควรมีกลไกพิเศษหรือมีคณะกรรมารพิเศษที่ประกอบด้วยฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการเมือง ฝ่ายนิติ และนักวิชาการ เพื่อใช้โอกาสเหล่านี้ทำลายความน่าเชื่อถือของพวกเนรคุณแผ่นดิน

3. เร่งสรรหากิจกรรมที่ปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียน และคนรุ่นใหม่รู้ถึงคุณของสถาบัน เช่นการจัดกิจกรรมตามรอยพระยุคลบาท”

จากการที่ผมเป็นนักศึกษา คลุกคลีอยู่กับเยาวชนทั้งที่เรียนเมืองนอกและที่เรียนในไทย ผมต้องยอมรับว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคนที่ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ว่าเพราะเหตุใดสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงมีความสำคัญต่อคนไทย

เพราะความไม่เข้าใจตรงนี้จึงทำให้หลายคนจงรักภักดี “ตามหน้าที่” หลายคนก็ไม่จงรักภักดีเสียเลย

ถือเป็นโชคร้ายของคนรุ่นผมที่หลายคนเกิดไม่ทัน จำไม่ได้ถึงเมื่อครั้งที่พระองค์พลานามัยดีกว่านี้ เสด็จออกทรงงานหนักในที่ต่างๆให้สังคมเห็น ถึงทุกวันนี้ท่านจะยังทรงงานหนักแต่หลายครั้งก็ไม่ได้เป็นที่ประจักษ์ให้พวกเราได้เห็น

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆจะพยายามเผยแพร่พระราชกรณียกิจผ่านทางสื่อและนิทรรศการต่างๆ แต่ผมก็ยังเห็นว่าไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำสงครามกับพวกเนรคุณแผ่นดิน โดยคิดโครงการดีๆให้ประชาชนตระหนักจริงๆว่าท่านต้องลำบากเพียงไรเพื่อเรา

        โดยผมอยากให้โรงเรียนทำโครงการ “ตามรอยพระยุคลบาท” พานักเรียนบำเพ็ญประโยชน์ในที่ต่างๆตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงงานไว้ เพื่อให้พวกเขาได้เห็นและตระหนักได้ว่าพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านนั้นล้นพ้นไร้คำบรรยายจริงๆ พวกเขาจะได้ “เข้าใจ” ว่าด้วยเหตุใดคนไทยทั้งประเทศถึงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้

4. เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อสงสัย ทั้งทางกฎหมายและทางประวัติศาสตร์ว่าด้วย พระราชอำนาจ

หลายครั้งประชาชนได้รับข้อมูลเท็จว่าด้วยพระราชอำนาจ ทำอะไรไม่พอใจอะไรพวกเนรคุณแผ่นดินก็มักโยนว่ามี “ผู้เหนือกฎหมาย” คอยบงการอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพระราชอำนาจในปัจจุบันนั้นมีข้อจำกัดตามกฎหมายมากมายกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐควรมีหน่วยงานที่คล่องแคล่วทันกระแส เพื่อคอยชี้แจงข้อเท็จจริง สยบข่าวลือ เปิดช่องให้ประชาชนสอบถามหาความรู้ว่าด้วยพระราชอำนาจ และสามารถชี้แจงตอบคำถามที่พบบ่อยได้ เช่นเรื่องกฎหมายมาตรา 112 เรื่องการขออภัยโทษ เรื่องการยื่นฎีกา ฯลฯ

5. ดำเนินการต่อกบฏและผู้ที่ต้องการใช้ความรุนแรง เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบอบอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน โดยเด็ดขาดตามกฎหมายที่มีอยู่

ในความเห็นของผม ผู้ที่ต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธคือผู้ที่ตระหนักว่าตนไม่สามารถใช้เหตุผลโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เห็นตามได้ จึงจำต้องใช้ความกลัวเพื่อบีบบังคับให้คนจำยอมตามพวกเขา

ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความกระจ่าง ความเห็นจริงมิใช่ความกลัว จึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องและยั่งยืน ผู้ที่ใช้กำลังนั้นคือพวกแพ้ปัญญา แล้วดื้อดึงเชื่อด้วยความงมงาย หากปล่อยไว้จะเป็นภัยต่อแผ่นดิน

หากฝ่ายต่างๆ เร่งดำเนินการดั่งคำชี้แนะที่ผมได้กล่าวไว้ ผมมั่นใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับคนไทยไปอีกนานครับ.

“ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ไว้ทุกข์ “สมเด็จพระสังฆราช” 30 วัน


เมื่อ 25 ต.ค.2556 “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ “สมเด็จพระสังฆราช” 30 วัน เริ่ม 25 ต.ค.-23 พ.ย.นี้ พร้อมถวายเกียรติยศตามพระราชประเพณีทุกประการ ด้าน “ยิ่งลักษณ์” สนองพระบรมราชโองการ ออกประกาศสำนักนายกฯให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจลดธงลงครึ่งเสา 3 วัน



เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 เวลา 19 นาฬิกา 30 นาที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 15 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถวายพระเกียรติยศ ตามราชประเพณีทุกประการ

สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์” ว่า

ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2556 นั้น รัฐบาลได้รับทราบด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง และได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้บำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่บวรพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ในสังฆมณฑล ตลอดจนพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดมา จึงเห็นสมควรประกาศดังนี้

1.ให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงลงครึ่งเสา มีกำหนด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-27 ตุลาคม 2556
2.ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไว้ทุกข์มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือองค์กรอิสระทุกแห่งได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน

ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2556
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

ล่าสุด


เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺณโน) สิ้นพระชนม์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 เวลา 19 นาฬิกา 30 นาที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก จาก 15 วัน เป็น 30 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณีทุกประการ

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ซุ้มสำหรับในหลวง


ระยะแรกราวปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับ แก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ห้า โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าเสด็จฯมาถึงแล้ว

วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ย่านหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง และไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ จึงไม่ยอมให้รถผ่าน

“…ต้องให้ในหลวงเสด็จฯก่อนแล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้… วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อน”  พระองค์จึงทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงออกข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว….

วันรุ่งขึ้นเมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการ  พร้อมคณะข้าราชบริพารผู้ติดตาม และมีรับสั่งทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า “วันนี้ฉันเป็นในหลวง..คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ..”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙