แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทะเลน้อย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทะเลน้อย แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล



วันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๕๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล จากนั้น ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลลงทะเลน้อย และพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลกับพันธุ์ปลาชนิดอื่น ๆ ลงทะเลอ่าวไทย ณ บริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล
ในโอกาสนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย
ปลานวลจันทร์ทะเล หรือชื่อเรียกอื่น ได้แก่ ปลาดอกไม้ ปลาทูน้ำจืด ปลาชะลิน มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า มิลค์ฟิช (Milkfish) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชาโนส ชาโนส (Chanos Chanos) อาศัยอยู่ทั่วไปในท้องทะเลเขตร้อน และมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบมากบริเวณทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เพชรบุรี และบางส่วนของจังหวัดตราด ทั้งนี้ ปลานวลจันทร์ทะเลจัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และไต้หวัน เนื่องจากมีรสชาติดี เจริญเติบโตเร็ว ทนทานต่อโรค สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ และเลี้ยงง่าย เพราะกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งตะไคร่น้ำ แพลงตอน ไรน้ำ รำข้าว ขี้แดด รวมถึงอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การที่กินพืชได้ ทำให้การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลใช้ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ที่กินเนื้อ เหมาะสมต่อการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงสร้างรายได้
ประเทศไทยสำรวจพบปลานวลจันทร์ทะเลเป็นครั้งแรกบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ และได้มีการเพาะเลี้ยงขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเลี้ยงปลาดังกล่าว ณ สถานีประมงคลองวาฬ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ทรงพบว่า ราษฎรในพื้นที่ได้นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อมาเลี้ยงในบ่อ ซึ่งสภาพน้ำแม้จะมีระดับความเค็มต่ำ แต่ปลานวลจันทร์ทะเลก็เจริญเติบโตได้ และสามารถขายได้ราคาดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นอาชีพ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจำนวนหนึ่ง ปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ขณะนั้นราษฎรยังมิได้ให้ความสนใจเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมากนัก เนื่องจากปลาชนิดนี้จะขยายพันธุ์เฉพาะแต่ในทะเลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี กรมประมงได้ทดลองเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๐๘ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเพื่อเป็นอาชีพ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริดังกล่าว ไปดำเนินการสานต่ออย่างจริงจัง
ราวปี ๒๕๔๘ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จึงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การเร่งให้วางไข่นอกฤดูกาล การผสมเทียม และการเพิ่มอัตราการอยู่รอดของลูกปลา พร้อมกับส่งเสริมให้ราษฎรนำปลา
ที่เพาะพันธุ์ได้ดังกล่าวไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพตามพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจะนิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้ในกระชัง บ่อพักน้ำ นากุ้งร้าง หรืออาจเลี้ยงร่วมในบ่อเดียวกับกุ้งขาว ทั้งนี้ การเลี้ยงรอบหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๘ เดือน จึงจะได้ปลาที่มีน้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ คือตัวหนึ่งราว ๖๐๐ – ๘๐๐ กรัม ใช้ต้นทุนการเลี้ยง ๒๕ – ๓๐ บาทต่อน้ำหนักปลา ๑ กิโลกรัม และสามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ ๖๕ – ๗๐ บาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของการส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล คือ ปลาชนิดนี้มีก้างมาก ระยะแรกจึงไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาด ส่งผลให้ราคาไม่ดึงดูดความสนใจแก่ผู้เพาะเลี้ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงแก้ไขปัญหาโดยหาแนวทางแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ให้สามารถบริโภคได้ง่ายขึ้น วิธีการหนึ่งคือเรียนรู้เทคนิคการถอดก้างปลามาจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งปลานวลจันทร์ทะเลสด เมื่อถอดก้างแล้ว จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลายเช่น ปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ ปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว รมควัน และต้มเค็ม เป็นต้นนอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ราษฎรรวมกลุ่มกันเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลอย่างครบวงจรในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ดังที่ปรากฏเป็นกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และกราบบังคมทูลรายงาน กับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ “กรมประมงกับความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล” จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรวีดิทัศน์การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล เวลา ๗ นาที และทอดพระเนตรปลานวลจันทร์ทะเลกับปลาทูจากการเพาะเลี้ยง เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๙๙ ตัว ลงทะเลน้อย วังไกลกังวล แล้วทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดต่าง ๆ ที่แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล
จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง และนางนิออน พันธ์แก้ว ผู้แทนกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเลก้างนิ่มอบชานอ้อย และปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังบริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๕๙ ตัว ปลากุดสลาด หรือชื่อสามัญว่า บลูสปอตด์ กรูปเปอร์ (Blue Spotted Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ปลาเก๋าปะการัง หรือ โครัล กรูปเปอร์ (Coral Grouper) จำนวน ๔๙ ตัว ปลาทราย หรือ โอเรียนทัล ซิลลาโก (Oriental Sillago)
จำนวน ๓๙ ตัว และปลาเก๋าเสือ หรือ ไทเกอร์ กรูปเปอร์ (Tiger Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ลงทะเลอ่าวไทย สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อเวลา ๑๘.๒๓ น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙