แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หัวหิน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หัวหิน แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หัวหิน..ถิ่นท่องเที่ยวมนต์เสน่ห์..ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ


“หัวหิน”ชุมชนเมืองในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 86.36 ตารางกิโลเมตร หรือ 53,945 ไร่เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศริมทะเลชั้นนำระดับประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 200 กิโลเมตร สามารถเดินทางไป-กลับได้ในวันเดียวด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบายทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัวรถโดยสารรถไฟและเครื่องบินโดยมีทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) และทางรถไฟสายใต้ตัดผ่านเมืองหัวหิน

“ชุมชนเมืองหัวหิน” ตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ.2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3เมื่อราษฎรกลุ่มหนึ่งย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหาดทรายที่สวยงามมีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปปัจจุบันเป็นพื้นที่บริเวณใกล้ๆ กับเขาตะเกียบเรียกกันว่า “บ้านสมอเรียง”

ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ( ต้นราชสกุลกฤดากร ) ได้มาสร้างตำหนักใหญ่ทางด้านใต้ของหมู่หินชื่อ “แสนสำราญสุขเวศน์”

และทรงตั้งชื่อหาดทรายขาวละเอียดอันสวยงามที่ทอดยาวกว่า5กิโลเมตรบริเวณนี้ใหม่ว่า “หัวหิน” ซึ่งในเวลาต่อๆ มาพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดจึงเรียกกันว่า “หัวหิน”


ณวันนี้“หัวหิน”ยังคงความสวยงามตามธรรมชาติมีหาดทรายขาวละเอียดและทรงคุณค่าในประวัติศาสตร์เป็นเมืองท่องเที่ยวเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่หลากหลายทุกยุคทุกสมัยดังเช่น“ตลาดฉัตรไชย”ตลาดเก่าแก่กว่า80ปีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่7ในปีพ.ศ.2469

“สถานีรถไฟหัวหิน” สถาปัตยกรรมย้อนยุคสร้างด้วยไม้ มีห้องสมุดรถไฟหัวหินที่ดัดแปลงมาจากรถไฟดีเซลราง “วัดห้วยมงคล” ที่ประดิษฐานหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลกมีหน้าตักกว้าง 9.9 เมตรสูง 11.5 เมตร“เพลินวาน”แหล่งท่องเที่ยวที่จำลองร้านรวงและบรรยากาศต่างๆ ที่หลากหลายในอดีตมารวมไว้ที่แห่งเดียว

นอกจากนี้ ยังมีตลาดน้ำหัวหินหมู่บ้านช้างตลอดจนตลาดโต้รุ่งถนนคนเดินที่เป็นสีสันยามราตรี

แต่ที่สำคัญหัวหินยังเป็นสถานที่ตั้งของ “พระราชวังไกลกังวล” บ้านของพ่อของคนไทยทั้งประเทศ
หัวหินวันนี้จึงเป็นตลาดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลมาเที่ยวเยี่ยมชนตลอดทั้งปี

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดนักท่องเที่ยวของหัวหินขยายตัวอย่างรวดเร็วจากจำนวน 1.97 ล้านคนในปี2553เพิ่มขึ้นเป็น 2.40 ล้านคนในปี 2554และเป็น 3.25 ล้านคนในปี 2555 โดยมีสัดส่วนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยประมาณ 20 – 25% ของตลาดท่องเที่ยวโดยรวมของหัวหิน

ทั้งนี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในหัวหินเพิ่มขึ้นจาก17,318 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 22,668 ล้านบาทในปี 2555 และเป็น 27,000ล้านบาทในปี 2556 โดยร้อยละ 64 ประมาณ 17,300 ล้านบาทมาจากนักท่องเที่ยวไทยและร้อยละ 36 ประมาณ 9,700 ล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ


ในความสำเร็จของการท่องเที่ยวของหัวหินดังกล่าวแหล่งท่องเที่ยวเป็นความประทับใจแต่หัวใจสำคัญคือความสะดวกและการเข้าถึงเมืองหัวหินโดยเขตเทศบาลเมืองหัวหินเป็นพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงธรรมชาติ

 การเติบโตของเมืองหัวหินอย่างรวดเร็วมีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนและบ้านจัดสรรจำนวนมากเมื่อเกิดฝนตกหนักจึงขวางทิศทางการไหลของน้ำที่จะระบายลงสู่ทะเลชุมชนเมืองหัวหินและเส้นทางคมนาคมเกิดน้ำท่วมจึงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากมาย

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในเมืองหัวหินอย่างเป็นระบบกล่าวคือ

• ด้านทิศเหนือของเมืองหัวหินทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างคลองระบายน้ำสายหัวหิน ความยาว 8.115 กิโลเมตรเพื่อเป็นคลองรับน้ำฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกของทางรถไฟและน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ป้องกันไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่ด้านในเมืองหัวหินแล้วผันน้ำลงคลองธรรมชาติที่ขุดลอกปรับปรุงใหม่แล้วระบายน้ำออกสู่ทะเล

• พื้นที่ใจกลางเมืองหัวหินบริเวณตลาดฉัตรไชยและสถานีรถไฟหัวหินทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงทางระบายน้ำขนานทางรถไฟ เพื่อรับน้ำจากกลางเมืองหัวหินและพื้นที่ลุ่มน้ำสถานีรถไฟหนองแก ระบายน้ำสู่คลองเขาตะเกียบแล้วระบายลงสู่ทะเล

อีกสิ่งหนึ่งในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเมืองหัวหินเป็นพระเมตตาของพระองค์ที่น้อยคนนักจะรู้โดยมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้พื้นที่วังไกลกังวลซึ่งเสมือนเป็นบ้านของพระองค์เป็นพื้นที่รับน้ำและช่วยระบายน้ำ

 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างช่องรับน้ำตลอดแนวกำแพงพระราชวังไกลกังวล เพื่อรับน้ำจากพื้นที่ท่วมขังและจากถนนเพชรเกษมโดยให้ไหลลงคูระบายน้ำและทรงผันน้ำที่ทรงให้ก่อสร้างในพื้นที่วังไกลกังวลเพื่อลงทะเลน้อยแล้วระบายออกสู่ทะเล

นี่คือ “พ่อของแผ่นดิน” ที่มีแต่ “ให้” ความช่วยเหลือแก่ลูกตลอดเวลา

การจัดการระบบระบายน้ำท่วมขังเมืองหัวหินตามแนวพระราชดำริดังกล่าวสามารถระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ด้านทิศเหนือประมาณ 72.20 ลบ.ม./วินาทีคลองธรรมชาติด้านทิศเหนือ 115.35 ลบ.ม./วินาทีพื้นที่ด้านทิศใต้สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 85.07 ลบ.ม./วินาทีและในพื้นที่วังไกลกังวลสามารถระบายน้ำได้ 15.25 ลบ.ม./วินาทีซึ่งส่งผลดีต่อการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้รวดเร็วขึ้น

เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรและยังเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในเมืองหัวหินอย่างอเนกอนันต์

พระเมตตาและน้ำพระทัยของพระองค์ส่งผลให้เมืองหัวหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ตลอดกาลขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พิธีซักซ้อมถวายสัตย์ปฏิญาณตน 5 ธันวาคม


เมื่อเวลา 08.00 น. วานนี้ (3ธ.ค.) ที่สโมสรทหารบก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำข้าราชการทั่วประเทศ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นข้าราชการที่ดี และเป็นพลังของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการระดับสูง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมในพิธี
       
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล ก่อนนำข้าราชการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะประพฤติปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท มุ่งมั่นแน่วแน่แก้ไขปัญหาของชาติและของประชาชน สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนแห่งศาสนา และตามแนวทางในพระบรมราโชวาทตลอดไป จากนั้นได้ร่วมร้องเพลงพ่อแห่งแผ่นดิน และเพลงสรรเสริญพระบารมี
       
ทั้งนี้ การจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าว สำนักงานข้าราชการพลเรือน เป็นเจ้าภาพหลักทุกปี ตั้งแต่ปี 2543 เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในกลุ่มข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       
ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในฐานะผู้บังคับกองผสมทหารรักษาพระองค์ เป็นประธานการซ้อมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของทหารรักษาพระองค์ ซึ่งจะเป็นการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณของทหารรักษาพระองค์ 13 กองพัน ประกอบด้วย กำลังพลรักษาพระองค์ 12 กองพัน ทหารม้ารักษาพระองค์ 1 กองพัน โดยเป็นการซ้อมใหญ่เต็มรูปแบบเสมือนจริง ตั้งแต่การจำลองขบวนรถพระที่นั่ง ยิงพลุธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การยิงสลุตหลวงถวายคำนับ 21 นัด การสวนสนามอัญเชิญธงชัยเฉลิมพลไปตามถนนเพชรเกษม และถวายสัตย์ปฏิญาณตน ณ ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเดินทางมาร่วมชมพิธี และร่วมบันทึกภาพพิธีซ้อมดังกล่าวอย่างคึกคัก
       
พล.ต.วราห์ กล่าวว่า สำหรับพลุธงสัญลักษณ์ประจำพระองค์ 2 ผืนนั้น ประชาชนที่เก็บได้สามารถเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคลได้
       
วันเดียวกัน นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายณรงค์ฤทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับ ร่วมในพิธีบวงสรวงพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พร้อมเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวัง เชิญมาประดิษฐาน ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จออกมหาสมาคมในต่างจังหวัด
       

ด้านสำนักพระราชวัง ออกหมายกำหนดการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 วันที่ 5 ธันวาคม เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯออกท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายในนพปฎลมหาเศวตฉัตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเฝ้ารับเสด็จฯ
       
ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กราบบังคมทูลพระกรุณากล่าวนำทหารรักษาพระองค์ ถวายคำสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ ผู้เข้าเฝ้าฯในมหาสมาคมทั้งหมดถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯกลับ
       
เวลา 17.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในการพิธีทรงตั้งสมณศักดิ์ และเจริญพระพุทธมนต์ อนึ่ง ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สำนักพระราชวัง จัดที่สำหรับลงพระนาม ลงนามถวายพระพรไว้ในพระบรมมหาราชวัง และวังไกลกังวล
       
วันที่ 6 ธันวาคม เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง ในการพิธีประเคนภัตตาหารพระสงฆ์
       
วันที่ 8 ธันวาคม เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ เสด็จฯออก ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา คณะทูตต่างประเทศและผู้แทนฝ่ายกงสุล เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
       
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงได้เตรียมให้บริการรถรับ-ส่งประชาชนไปยังวังไกลกังวล ได้แก่ ขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ ไม่คิดค่าบริการ จากสถานีหัวลำโพง เวลา 08.00-17.00 น. วันที่ 4-5 ธันวาคม รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-ปราณบุรี และกรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขีนธ์ วันละ 190 เที่ยว ที่สถานีขนส่งสายใต้ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และมีบริการรถบขส. 20 คันรับ-ส่งประชาชนระหว่างที่จอดรถกลาง ถึงลานท้องพระโรงทั้งขาไปและกลับโดยไม่คิดค่าบริการ ส่วนประชาชนที่ขับรถยนต์ไป ได้เตรียมสถานที่จอดรถไว้แล้ว สอบถามได้ที่ 1356

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ในหลวงเสด็จลอยพระประทีป


เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เวลา 16.39 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ ท่าลัดดา วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงประกอบพิธีลอยพระประทีป เนื่องในวันลอยกระทง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙