แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระมหากษัตริย์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระมหากษัตริย์ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน และพระราชทานปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕พ.ค.๒๔๙๓ ล่วงเลยมาตราบถึงวันนี้  แม้จะมีพระชนพรรษาย่าง ๘๔ พรรษาแล้วก็ตาม 

อีกทั้งยังทรงพระประชวรอยู่ต้องประทับรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราชมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนทว่า ในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านก็ยังมีแต่พสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริงทรงห่วงใยทุกข์สุขของประชาชนทุกคนมิต่างจากทุกข์สุขของพระองค์เองและทรงอุทิศพระองค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อทรงคลายร้อนผ่อนลำเค็ญนำพาความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงประชนชาวไทยทั้งประเทศสมกับที่ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกและทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหากษัตริย์ผู้เพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม

“พระเจ้าอยู่หัวยังต้องเหนื่อยต้องลำบากทุกวันนี้เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่เมื่อประชาชนยากจนแล้วอิสรภาพเขาจึงไม่มีและเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพเขาก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้” พระราชดำรัสดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสียสละเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงและคงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่าในบรรดาสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดจะทรงงานให้กับพระชาชนเท่ากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระองค์ในสถานะผู้ให้บริการรับใช้ประชาชนถึงแม่ว่าจะทรงเป็นประมุขของประเทศ

“มาทำงานกับฉันนั้นไม่มีอะไรจะให้นอกจากความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นฉันนับถือลัทธิเรื่อย ๆ คือทำไปเรื่อย ๆ ใครว่าอย่าไปสนใจฝากไว้ด้วยเพราะเราทำแล้วต้องถูกว่าต้องมีคนถูกด่าธรรมดาของการทำงานเพราะฉะนั้นลัทธิเรื่อยๆ ก็คือทำไปเรื่อยๆ ถูกว่าถ้าเห็นว่าผิดก็กลับไปทำใหม่ย้อนกลับมาที่ตั้งต้นใหม่ทำใหม่อย่าไปสนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าสนใจอะไรไปแล้วจะไม่มีกำลังใจอะไรเลย”

ในฐานะข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปพัฒนาผืนแผ่นดินทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและได้มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิดตลอดรระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล”เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้ถ่ายทอดถึงเรื่องราวต่างๆ ขององค์พระประมุขซึ่งทรงทำประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับแผ่นดินไทยอันถือเป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การน้อมนำเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

“ผมเคยวาดภาพว่า สถาบันกษัตริย์คงเป็นแบบที่เรานึกคิดเราอ่านนิทานประเภทจักรๆ วงศ์ๆ มาคงจะนึกว่าสุขสบายนึกอยากจะทำอะไรก็ทำ หรือระหว่างอยู่ต่างประเทศก็ได้ข่าวเจ้าชายองค์นั้นซื้อรถสปอร์ตขี่อีกแล้ว เจ้าชายองค์โน้นซื้อเรือยอชต์ใหม่อันนี้คือภาพที่ติดมากับตัวก่อนที่จะทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาทแต่พอมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับพระองค์พูดทีไรผมก็เกิดอาการขนลุกซู่ซ่าขึ้นมาทุกที

ไม่เคยนึกไม่เคยฝันไม่เคยวาดภาพมาก่อนว่าสถาบันกษัตริย์ของเราจะเป็นในลักษณะที่เห็นอยู่ในหลวงทรงอุทิศเวลาส่วนพระองค์ทั้งหมดของพระองค์ท่านเพื่อทุกข์สุขของราษฎรชีวิตทั้งวันของพระองค์นั้นได้ผ่านไปในลักษณะที่ว่า ทรงทุ่มเทอย่างมากที่สุดเมื่อเทียบกับกษัตริย์อื่นในโลกนี้

ทุกวันนี้เมื่อเราท่านดูทีวีดูข่าวหรือว่าอ่านหนังสือพิมพ์ท่านจะเห็นภาพของพระองค์ท่าน แต่ก็ดูเป็นลักษณะที่เห็น  แต่ว่าหากทุกคนลองมองสักนิดหนึ่ง  ท่านจะเห็นว่าพระองค์ทรงงานอย่างไรบ้างประทับนั่งราวกับราษฎรเสมอ  เหมือนในพื้นที่เดียวกัน  มิใยว่าตรงนั้นจะเปียกจะแฉะพระองค์ท่านจะประทับบนดินบนลูกรังหรืออะไร

ตอนแรกผมก็แต่งตัวดีเวลาตามเสด็จฯตอนหลังไม่ไหวแล้วพอกับมามอมแมมทุกทีกางเกงแพงๆ เสียไปหมดเลยก็เลยเปลี่ยนเอากางเกงที่มันไม่สกปรกง่ายทนๆหน่อย ผมใส่โรเล็กซ์แต่โรเล็กซ์นี้ของปลอมแท้คือซื้อจากไต้หวันใครจะถวายปาเต๊ะ ฟิลลิป อะไรต่างๆ พระองค์ไม่เคยทรงทรงแต่ของที่ถูกที่สุดทรงยึดประโยชน์เป็นหลัก”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองพระบรมราชโองการ ตามพระปฐมบรมราชโองการที่ได้รับสั่งไว้ทรงทุ่มเทตลอดเวลาหลายทศวรรษเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาราษฎร์อย่างแท้จริง

“ดร.สุเมธ” เล่าถึงชีวิตประจำวันขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกเยี่ยมเยียนประชาชนตามถิ่นทุรกันดารต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพ “การตามเสด็จฯจะเริ่มประมาณบ่ายสามถึงบ่ายสี่โมงส่วนมากจะไม่เสด็จฯออกก่อนบ่ายสามโมง นอกจากจะมีลักษณะการเดินทางต้องกินเวลาก็อาจจะเป็นว่า เริ่มจากตอนเที่ยงหรือตอนเช้าแต่ส่วนมากพระองค์จะเริ่มบ่ายสามโมงจะทรงขับรถด้วยพระองค์เอง

วันหนึ่งมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “เหตุที่ฉันไม่บอกนั้น เพราะว่าไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อนเพราะถ้าบอกทางจังหวัดต้องออกไปเตรียมการ ไปทำอะไรต่ออะไร ข้าราชการทั้งหมดไปรับเสด็จฯยุ่งยากกันไปหมดทั้งจังหวัด” เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงบอกใครอยากไปตามเสด็จฯก็ไป ใครไม่อยากตามเสด็จฯ ก็ไม่ถือโทษโกรธกัน

จะสังเกตเห็นว่า จุดแรกที่พระองค์ทำ คือว่าต้องหนีบแผนที่ เสด็จพระราชดำเนินไปหาประชาชนก่อนเพื่อนเลย ส่วนมากมักจะคุยกับคนแก่ๆ ไม่ใช่ถามเรื่องทุกข์สุขหรืออะไร พระองค์ท่านมีวิธีการทำงานแบบลักษณะสมัยใหม่

ในขณะที่พวกเรานักวิชาการใช้คอมพิวเตอร์ใช้อะไรต่างนั้น  พระองค์ใช้ขีดความสามารถของพระองค์เองเป็นผู้ดำเนินการแต่พระองค์เดียวทั้งสิ้น พวกเราถวายข้อมูลเข้าไปแค่นั้นเอง แล้วในแผนที่ พระองค์ท่านจะทรงเขียนบันทึกมากมาย ก็แสดงว่ามีการเตรียมตัวทำการบ้านมาก่อนแล้วว่า บริเวณที่จะเสด็จฯไปนั้น มีข้อมูลอะไรบ้างมีเขียนเต็มไปหมดเลยด้วยลายพระหัตถ์

สิ่งแรกคือ ทรงตรวจสอบข้อมูลเหมือนอย่างพวกเรานักวางแผน แล้วทรงมีข้อมูลพื้นฐานที่เขียนไว้เช็กข้อมูลกับประชาชนเลย พระองค์ทรงเช็กโดยละเอียด 400 เมตรไปข้างหน้าเลี้ยวซ้ายเจอลำธารหรือเปล่า ฉะนั้น คนที่ตอบได้ถูกต้อง จะต้องเป็นคนแก่ๆ ซึ่งรู้จักภูมิประเทศนั้นดี พระองค์จะทรงซักถาม บางทีเป็นชั่วโมง ประทับราบอยู่ที่นั้น

ทรงเช็กจนแน่ใจแล้วว่าภูมิประเทศ กับแผนที่ถูกต้องเพราะรับสั่งอยู่เสมอว่า การพัฒนาจะต้องวางแผนให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ พระพระองค์เช็กข้อมูลกับราษฎรเสร็จ จะเรียกหน่วยงานราชการเข้ามาเช็กข้อมูลซ้ำอีกที แล้วจึงเรียกหน่วยปฎิบัติขึ้นมาส่วนมากจะเป็นเรื่องน้ำ เชื่อไหมว่า พระองค์ทรงอัจริยะในลักษณะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ทรงใช้เวลา 2-3 นาที จะทรงกำหนดและขีดให้ได้ทันทีว่า สร้างเขื่อนตรงนี้ จากเขานี้ไปเขานี้กั้นตรงนี้ แล้วพระองค์จะทรงวาดต่อได้เลยว่า พอสร้างเสร็จแล้วน้ำเต็มแล้ว จะท่วมบริเวณไหนบ้าง ระบายเป็นสีน้ำเงิน ออกมาให้ได้ทันที

ทรงศึกษาก่อนที่จะทรงทำอะไร ไม่ใช่ว่าไปถึงประทับแล้วชี้แต่พระองค์ท่านทรงรู้อยู่ตลอดเวลา คือหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาจะทรงศึกษาก่อนไม่ว่าพระองค์จะทรงสนพระทัยเรื่องอะไร ตราบใดที่ยังไม่ทะลุปรุโปร่ง ไม่สุดปลายของปัญหา พระองค์จะไม่ทรงหยุด จะเห็นได้ว่า เวลารับสั่งอะไร ถึงแม้จะเรียบง่ายแต่ว่าลึกซึ้ง แล้วก็อยู่ในลักษณะที่ใช้ธรรมชาติที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเรานั่นเองมาใช้ประโยชน์ ไม่นิยมของแพง ไม่นิยมโครงการลงทุนสูง ถ้ารู้ว่าวิธีการพัฒนาชาวเขาอย่างไร วิธีการสร้างฝายแม้วอย่างไรจะทึ่งมาก

พระองค์ท่านเคยรับสั่งว่า การพัฒนาประเทศของพระองค์จะใช้หลักสังฆทาน คือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกใครทั้งสิ้น จะอยู่ในศาสนาไหน อยู่แห่งหนใด จะเป็นชาวเขา หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่นั้น

นอกจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เกือบ 3000 โครงการ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร การส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการสังคม สาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเป็นโครงการที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยมากที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงคิดทฤษฎีใหม่ๆมากมาย ทรงมิเคยวางพระองค์อยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ ที่ประกอบพระราชกรณียกิจในหน้าที่องค์พระประมุขเท่านั้น แต่ยังทรงงานอย่างหนักทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ ทรงถือโอกาสนี้เสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎร ในท้องถิ่นทุรกันดารอย่างทั่วถึงอีกด้วย เพื่อที่จะได้ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎรในพื้นที่เหล่านั้น เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลที่ทรงมีอยู่แล้ว จึงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

บ่อยครั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรผู้ยากไร้และประสบความเดือดร้อน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยใหญ่ทั่วประเทศในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังทรงไม่หายจากพระอาการประชวร และต้องประทับรักษาพระวรกายอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช

แต่ก็ไม่วาย ห่วงใยในความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน ได้โปรดเกล้าฯให้นำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้ราษฎรที่ประสบอุทกภัยตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ พร้อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ดร. สุเมธ บอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อทำการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ที่คนไทยได้รับผลกระทบทั้งจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ท่าน

ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จประทับโรงพยาบาลศิริราชทรงสั่งลงมาให้ประชุมหน่วยงานต่างๆ พยายามพระราชทานคำเสนอแนะให้เกิดการประสานงานกับทุกหน่วยราชการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมาหลายปีก่อนมีน้ำทะลักเข้ามาก้อนใหญ่ทุกคนก็เฉย

แต่เมื่อพระองค์ท่านอดทนไม่ไหว เลยรับสั่งเรียกหน่วยงานต่างๆ มาประชุม และทรงถามว่าน้ำเดินทางเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่แต่ละชั่วโมงมาถึงไหน เพื่อวางระบบการเตือนภัยให้ทันท่วงที ตอนผมไปถวายงานกับพระองค์ท่านหลายสิบปีแล้วพระองค์ท่านเตือนพวกเราว่าระวังนะอย่าไปรังแกธรรมชาติหากไปรังแกมากๆ เขาจะโกรธเอาและเขาก็จะทำร้ายเรา ซึ่งเป็นจริงตลอดเรื่องพวกนี้เราถูกเตือนหมดแล้วพระราชกรณียกิจ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา ล้วนเกี่ยวกับดินน้ำลมไฟพระองค์ท่านทรงเตือนให้รักษาแผ่นดินเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตอย่างผาสุก

 ขณะนี้พระองค์ท่านประทับอยู่ที่ศิริราชจะให้ทรงงานอีกหรือ  อะไรก็จะให้พระเจ้าอยู่หัวทำที่ผ่านมาพระองค์ท่านทรงทำทุกวัน  ถ้าเสด็จฯ ออกมาได้  เชื่อว่าพระองค์ท่านคงเสด็จฯ ออกมาแล้ว ทรงไม่ประทับอยู่อย่างนั้นหรอก ทรงติดตามดูอยู่ทุกวัน  แทนที่จะมองไปที่พระองค์ท่าน  อย่าเอาภาระไปใส่พระองค์  เราจะต้องเลี้ยวกับมาดูว่า  เราแต่ละคนควรทำอย่างไร การรักษาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่พระองค์อย่างเดียว”

“การปลูกฝังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสอนตลอดเวลาว่า ถ้าไม่มีประชาชนก็ไม่มีพวกเรา เราเกิดมาได้เป็นเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินคนเขาเคารพนับถือท่านสอนอย่างนี้เสมอ ข้าพเจ้าก็ทุ่มสุดตัวที่จะทำ สำหรับประเทศไทยอะไรที่ดีกับไทยก็ทำ อยากให้ทุกท่านคิดเหมือนกันว่าอะไรดีที่สุดสำหรับแผ่นดินแม่เราก็ควรทำถ้าไม่มีแผ่นดินไทยไทยล่มสลายจะไม่มีใครมีความสุขได้เลย”

พระดำรัสดังกล่าวของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี คงพอจะเตือนสติคนไทยได้บ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเหนื่อยหนักมาตลอดพระชนม์ชีพแล้วถึงเวลาที่ยังที่ประชาชนอย่างพวกเราจะช่วยแบ่งเบาพระราชภาระอันหนักอึ้งด้วยการรู้รักสามัคคีกันเพื่อแผ่นดินไทย
 
ขอขอบคุณ ไทยรัฐ

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความเป็นอยู่ของราษฎร คือ อุดมการณ์ในพระราชหฤทัย..ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 100 – 200 มาตรา


80ปี ก่อนตอนคนปล้นชิงอำนาจพระมหากษัตริย์ยังไม่มีสำนึกว่า…ทำผิดมหันต์แก่ราษฎรและชาติบ้านเมือง..(วันนั้น)

คำเตือนวันนั้นว่ายังไมถึงเวลาถูกประณามว่าเป็นคำเรียกร้องของผู้สูญเสียอำนาจจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช…

กลุ่มคนที่คิดว่าตนเองเรียนรู้จากเมืองนอกเมืองนาจนเจนจบศาสตร์แห่งการปกครองแล้ว..จนมองข้ามความปรารถนาดีของคนที่อยู่กับการปกครองมา 200 ปี

มันน่าสลดใจ…เสียใจจริงๆ….ผมอยากร้องตะโกนอีกครั้งว่า….

…พระมหากษัตริย์ของไทยเราทุกพระองค์ทรงรู้จักหน้าที่ของพระองค์เองดีว่าไม่เคยทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดและทรงเข้าพระทัย (ใจ) ในหน้าที่ของพระองค์ว่าคือดูแลและรักษาสมดุลของผู้มีอำนาจในสมัยก่อนอาทิเจ้าพระยาพระยา………ให้ทุกคนปฏิบัติต่อราษฎรของพระองค์อย่างดีให้ราษฎรมีความผาสุก

พระมหากษัตริย์อยู่กับพระราชอำนาจทรงเรียนรู้มาอย่างยาวนานว่าปัญหาของอำนาจคืออะไรคุณค่าของอำนาจคืออะไรและสิ่งควบคุมอำนาจได้คืออะไร…สายพระเนตรของพระมหากษัตริย์เล็งเห็นไกลไปเกือบร้อยปี

…ไม่ใช่เป็นกฤษดาภินิหารแต่คือประสบการณ์ของจริงที่พระองค์ทรงแลกมาด้วยเลือดเนื้อของบรรพบุรุษไทยในอดีตตลอด 700 ปีที่ผ่านมา…

ถึงวันนี้ผู้คนบางคนได้เสวยอำนาจใช้อำนาจและเริ่มหลงกับอำนาจถึงขั้นจะเหลิงอำนาจแล้ว..ผมอยากบอกดังๆถือเป็นการเตือนสติก่อนบ้านเมืองจะล่มจมไปมากกว่านี้ในความเหิมเกริมของนักการเมืองถึงขนาด“ขาดสติทำเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งอาจเป็นการเสี่ยงต่อความเสื่อมของพระมหากษัตริย์!”เรื่องอะไรพวกเราก็รู้ๆอยู่อย่าคิดว่าขอแค่ชนะในเกมชิงอำนาจการเมืองของท่านทั้งหลายเท่านั้นก็พอ

..ผมอยากบอกดังๆถือเป็นการเตือนสติก่อนบ้างเมืองจะล่มจม…
หยุดทะเลาะกัน..นับแต่…เดี๋ยวนี้เสียเถิด…

ความเป็นอยู่ของราษฎรคืออุดมการณ์การปกครองในพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 100 - 200 มาตรา

ความอยู่ดีมีสุขของราษฎรคือความมั่นคงของชาติยิ่งกว่าที่มาส.ส.ส.ว.องค์กรอิสระหรือกติกาการเลือกตั้งที่เล่นเป็นลิเกให้นายโรงสนุกสนานให้คนบ้าใบเต้นแร้งเต้นกาเต้นกันอยู่ขณะนี้

น้ำท่วมกว่า 30 จังหวัดครอบครัวไทยนับหมื่นๆครอบครัวตกทุกข์ได้ยากจากน้ำท่วมและกำลังจะมีพายุใหญ่อีกระลอกมา…นี่คือปัญหาสำคัญของชาติของประเทศไทย

สหกรณ์ครูที่ล่มไปนานหลายปี(ก่อนจะล่มอีก๖๐กว่าสหกรณ์)ก่อความเดือดร้อนแก่ครอบครัวครูนับหมื่น(อีกนับแสนในไม่ช้า)คือปัญหาสำคัญของชาติและของประเทศไทย

ราษฎรยากจนขาดหมอขาดยาขาดอาหารขาดความมั่นคงในอาชีพที่อยู่และเครื่องนุ่งห่มนี่คือปัญหาของชาติของประเทศไทย

ขุนเขาป่าไม้น้ำมันแม่น้ำลำธารทะเลทุกตารางนิ้วและทรัพยากรทั้งหลายที่อยู่บนดินใต้ดินและบนฟ้าคือสมบัติของลูกหลานทุกคนแต่ถูกโกงกินเป็นของส่วนตัวและพวกพ้องคือปัญหาของชาติของประเทศไทย
กฎหมายตามอำเภอใจศีลธรรมถูกมองข้ามความถูก-ผิดถูกละเลยคือต้นเหตุชาติฉิบหาย

ผมเชื่อมั่นเอาศีรษะเป็นประกันได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงแม้ตอนนี้ทรงพระประชวรทรงพระชนมายุมากแต่ในพระราชหฤทัยทรงเป็นห่วงประชาชนอยู่ตลอดเวลาว่าประชาชนของพระองค์ท่านตอนนี้ตกทุกข์ได้ยากจากน้ำท่วมบ้านเรือนของเขาและความแร้นแค้นในชีวิตอย่างไรจะทรงหาวิธีการแก้ไขได้อย่างไร

พระองค์เคยมีพระราชดำริที่ทรงเคยให้ไว้เกี่ยวกับวาตภัยอุทกภัยน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็มีแต่รับทราบพะยะคะ,พะยะครับหาได้ตอบสนองตามพระราชดำริที่พระองค์ทรงแนะถึงจะทำกันบ้างก็น้อยนิด
แต่ถ้ามีผลประโยชน์ก้อนโตเข้ามาเกี่ยวข้องก็รีบจะทำกันไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่เมื่อประชาชนรู้ทันลุกขึ้นมาคัดค้านหนักๆเข้าก็มาโบ้ย(โยน)เข้าใส่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นโครงของพระองค์ท่านเพื่อเอาพระบารมีมาปกป้องตัวเอง

รัฐธรรมนูญที่อ้างกันว่าเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นพวกเราฉีกทิ้งกันจนนับไม่ถ้วนแล้ว

ถึงวันนี้ผู้คนได้เสวยอำนาจใช้อำนาจและเริ่มหลงกับอำนาจถึงขั้นจะเหลิงอำนาจแล้วท่านเหล่านั้นควรจะรู้ตัวเองว่าควรทำหรือควรเลิกทำอะไรได้แล้ว…ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อความที่เขียนไว้หรือไม่เขียนไว้..หรือมีมติรับรองหรือไม่รับรองหรอก…มันอยู่ที่“สันดาน”คนต่างหาก

พวกเรายอมรับความจริงเถิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกปล้นพระราชอำนาจไปนานหนักหนาแล้วทุกวันนี้เราหยิบยืมมาเพื่อสร้างภาพให้การเมืองดูว่าถูกต้องเท่านั้นทั้งที่นักการเมืองไม่เคยรับผิดชอบต่อปัญหาของชาติที่กล่าวมาข้างต้นเลยสักครั้ง

ไม่เคยยอมให้ราษฎรเป็นเจ้าของประเทศจริงๆไม่ยอมรับสิทธิเสรีภาพไม่เคยกระจายการปกครองอย่างแท้จริง(ไม่ต้องพูดถึงที่เป็นหน้าที่อันควรทำของผู้ปกครองอีกนับไม่ถ้วน)

80ปี ไม่เคยแก้ไขทุกข์ยากราษฎรอย่างจริงจังกันเลย..

บัดนี้สถาบันกษัตริย์เหลือเพียงสิ่งเดียวคือพระราชสิทธิสิทธิส่วนตัวที่จะทำอะไรของตนเองบ้างที่ทำแล้วคนอื่นยอมรับด้วยความเคารพต่อกันเยี่ยงมนุษย์

แต่ถ้าจะบังคับให้พระองค์ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้วเกิดไม่ถูกใจรัฐบาลและนักวิชาการและประชาชนที่ชั่วๆบางคนก็ไม่ต้องก่นด่าและอย่าขู่จะล้างโคตรกัน

ในลัทธิการปกครองแบบรัฐธรรมนูญที่เทิดทูนบูชากันราวเทพเจ้านั้นเหลือพื้นที่ไว้ให้พระองค์สักนิดจะได้ไหม????หลายคนอาจไม่เคารพพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ(เพราะมีบางคนพูดว่านายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งรัฐบ้างแล้ว…)ก็ขอให้เคารพต่อพระองค์ในพระราชสิทธิ์เถิด

เชื่อผมเถอะ…ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชสิทธิ์แล้วมีคำตอบแก่รัฐสภาว่า…

“ท่านทั้งหลายเลิกทะเลาะกันได้ไหมพวกท่าน(เธอ)เห็นว่าปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญของพวกท่าน(เธอ)มันยิ่งใหญ่กว่าความเดือดร้อนของราษฎรหรือ…รัฐธรรมนูญของพวกท่านท่าน(เธอ)จะแก้หรือไม่ยังรอได้ราษฎรยังไม่ตายแต่น้ำท่วมและอุทกภัยราษฎรตายตายจริงขอให้เอาจริงกับปัญหาของราษฎรก่อนได้ไหม

ผมอยากรู้จริงๆว่าพวกคุณจะอายไหม…………
……………………………………..
ที่มา:เฟซบุ๊คพลตรีม.จ.จุลเจิมยุคลhttps://www.facebook.com/chulcherm.yugala

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย



สถาบันพระมหากษัตริย์
 
สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่เหนือการเมืองและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และชอบที่จะให้มีการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีนิติรัฐและความผาสุก ถ้าการเมืองมีความมั่นคงแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีเสถียรภาพไปด้วย ถ้าการเมืองไม่มั่นคงหรือมีความปั่นป่วนในสังคม สถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่มั่นคงตามไปด้วย
 
สถาบันพระมหากษัตริย์จะรู้สึกไม่เป็นปกติทุกครั้งที่ประเทศไทยไร้เสถียรภาพซึ่งเป็นขอเท็จจริงที่สำคัญ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อาจเข้ากับฝ่ายใดได้เนื่องจากจะเสียความเป็นกลาง สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการรบกวนจากการที่มีการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานในปี พ.ศ.๒๕๔๗ เนื่องจากไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และขณะนี้สถาบันฯ ก็ได้รับการรบกวนอีกครั้งจากทุกฝ่ายในความขัดแย้งครั้งนี้เนื่องจากทุกฝ่ายไม่ได้ใช้ปัญญาหรือแสดงความเสียสละเพื่อประเทศชาติเพื่อให้ประเทศชาติสามารถก้าวต่อไปบนทิศทางที่ควร
 
สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและแม้ว่าจะมีหนังสือบางเล่มพยามยามให้เราเข้าใจเป็นอย่างอื่น แต่ความจริงแล้วประชาธิปไตยที่อ่อนแอและนิติรัฐที่อ่อนแอจะส่งผลร้ายต่อความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เท่าเทียมกัน กล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้ามีดุลยภาพในระบบของไทยและประชาชนชาวไทยมีความสุขและปรองดองกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีเสถียรภาพตามไปด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถจะอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสภาพแวดล้อมของไทยได้
 
สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ต้องการการเมืองที่ไม่มีความมั่นคงเพื่อที่จะได้เลือกข้างกองทัพเพื่อให้มาปกป้อง“ผลประโยชน์และอภิสิทธิ” อย่างที่นิตยสารดิอีโคนอมิสต์ได้กล่าวอ้างอย่างผิดๆ การเมืองที่ไม่มีเสถียรจะส่งผลต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน  ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องการความมีเสถียรทางการเมืองในประเทศรอบข้าง เช่น ลาว กัมพูชา มาเลเซีย หรือพม่า ประเทศไทยจะไม่มีเสถียรภาพถ้าเพื่อนบ้านไร้เสถียรภาพทางการเมืองหรือมีเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ถ้าเพื่อนบ้านของไทยมีเสถียรภาพและความรุ่งเรือง ไทยก็จะได้รับประโยชน์จากเสถียรภาพและความรุ่งเรืองนั้นไปด้วย
 
สหรัฐอเมริกาก็ต้องการให้เม็กซิโกมีสุขภาพและเสถียรภาพที่ดี และไม่ต้องการเห็นวิกฤติเปโซครั้งต่อไป
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันอื่นในประเทศไทยควรจะได้รับการพิจารณาจากมุมมองนี้ ถ้ามีดุลยภาพในสังคมไทยและสถาบันต่างๆ มีความเข้มแข็งภายใต้หลักนิติรัฐแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีเสถียรภาพตามไปด้วย
บทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงความเป็นกลาง โดยทรงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีและรัฐธรรมนูญ ทรงตักเตือนหลายครั้งให้ชาวไทยสามัคคีกันและใช้ปัญญาในการป้องกันไม่ให้ประเทศล่มจม และทรงใช้คำว่า “ล่มจม” หลายครั้ง
 
นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชให้ยุบสภาเพื่อยุติปัญหาการเมือง โดยมีนัยยะว่าถ้านักการเมืองไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองได้ก็ควรจะคืนอำนาจสู่พระมหากษัตริย์
หลังจากการเลือกตั้งแล้ว พระมหากษัตริย์ก็จะทรงพระราชทานอำนาจคืนสู่ปวงชนชาวไทยผ่านรัฐสภา ในลักษณะนี้ก็จะมีการคงอยู่ของอำนาจการเมืองไทยตลอดเวลา โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่คงอยู่ตลอดเวลา
 
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงสูญเสียพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชในปี พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น ไม่ทรงพระราชทานอำนาจให้แก่บุคคลใด แต่ทรงพระราชทานพระราชอำนาจนั้นให้ปวงชนชาวไทยอย่างเต็มเปี่ยม
 
เมื่อใดก็ตามที่ชาวไทยไม่สามารถตกลงวิกฤติการเมืองกันได้ ก็จะถวายอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อไปอีกครั้งหนึ่งโดยได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ นี่คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศไทย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้โอบอุ้ม
 
เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารฟอร์บส์ ได้ตีพิมพ์ผลสำรวจว่ากษัตริย์ไทยเป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วย ทรัพย์สินมูลค่า 35 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
 
นิตยสารดังกล่าวไม่ทราบว่าทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ การดูแลรักษา เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
2. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลรักษาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
3. ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติแผ่นดิน เช่นพระราชวังต่างๆ
 
ดังนั้นการสำรวจทรัพย์สินจึงควรต้องพิจารณา เฉพาะทรัพย์สินส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับที่เราคงไม่อาจนับรวมทำเนียบขาวเข้าไปในบรรดาทรัพย์สินของประธานาธิบดีบุชได้ แต่ความร่ำรวยมากน้อยเพียงใด ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดประการใดถ้าความร่ำรวยนั้นไม่ได้มาโดยมิชอบ สำหรับที่ดินในกรุงเทพฯ จำนวนมากที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือครองอยู่นั้นมีเพียงร้อยละ ๗ เท่านั้น ที่ได้จัดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่วนที่เหลือให้เช่าแก่บุคคลรายได้น้อย องค์กรการกุศลและองค์กรต่างๆ ของรัฐ ในอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป
 
อันที่จริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 และพระองค์มิได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเอกชาติชายในปี พ.ศ.2534 แต่เนื่องจากการทำรัฐประหารเมื่อทำไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับหรือยกเลิกได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องลงพระปรมาภิไธยเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ มิเช่นนั้นก็จะเกิดสุญญากาศในการบริหารกิจการบ้านเมือง (การที่ไม่มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศอยู่ในสภาวะสูญญากาศทางการเมืองและเกิดความสับสนวุ่นวาย)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและและทรงเป็นพุทธมามกะที่ยิ่งใหญ่ การที่ทรงเป็นพุทธมามกะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีความเห็นแก่พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีแต่ให้ พระองค์มิทรงเคยเอาผลประโยชน์จากประชาชนชาวไทย

เงินหรือการบริจาคจากสาธารณชนที่ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะถูกส่งต่อไปยังองค์กรการกุศลอื่นๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชจริยวัตรเรียบง่ายและเสวยพระกระยาหารธรรมดา พระองค์จะทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์หรือทรงใช้รถพระที่นั่งลีมูซีนต่อเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชพิธีอย่างเป็นทางการ

นั่นคือถ้าเป็นพระราชกรณียกิจที่เป็นทางการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทำอย่างเป็นทางการ แต่หากเป็นพระราชกรณียกิจที่ไม่เป็นทางการ พระองค์จะทรงทำอย่างเรียบง่าย
 
ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งการครองราชย์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย คำว่า“ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย”นี้เป็นสิ่งซึ่งอยู่ในพระราชหฤทัยเป็นลำดับแรกเสมอมา

บางครั้งคนไทยก็เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “พ่อหลวง” คำนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นกษัตริย์ในสมัยสุโขทัย แต่พระองค์ทรงปกครองประชาชนเฉกเช่นพ่อปกครองลูก

 “ประชาชนชาวไทยรู้อยู่ลึกๆ ในใจว่า
พ่อหลวงจะไม่ทรงคิดร้ายแก่ประเทศไทย
พ่อหลวงไม่ทรงเห็นแก่พระองค์”
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทไทยดำเนินชีวิตโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับที่ดินและสิ่งแวดล้อมของตนเอง เมื่อพวกเขาสามารถดำรงชีพได้อย่างพอเพียงบนผืนดินและสิ่งแวดล้อมของเขาเองแล้วพวกเขาก็จะสามารถมีเงินออมเพื่อใช้ในอนาคตโดยการขายส่วนที่เหลือกินเหลือใช้

ในความเป็นจริง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรมากที่สุดในโลก เรามีสภาพภูมิอากาศที่ดีมาก มีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยมาก ข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก ผลไม้ไทยก็เป็นผลไม้ที่ดีที่สุดในโลก ผืนดินก็อุดมสมบูรณ์และต้นไม้ก็สามารถเติบโตได้เองโดยธรรมชาติ ที่นี่คือสุวรรณภูมิ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งทองคำคุ้มครองโดยพระสยามเทวาธิราช

แต่ระบบและค่านิยมแบบสมัยนิยมผลักดันให้ชาวชนบทไทยออกห่างจากชุมชนของพวกเขาอันเป็นการทำลายโครงสร้างทางสังคมของพวกเขาลง พวกเขาจะถูกเอาเปรียบจากคนรวยในพื้นที่และสังคมชนบทก็ยิ่งถูกทำให้อ่อนแอลง ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและความไม่ยุติธรรมพบเห็นได้ในประเทศไทยมานานก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์เสื้อแดงเสียอีก

การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดงก็เป็นผลจากช่องว่างของความคิดหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและคุณค่าของสังคมไทย ในขณะนี้เราก็ยังคงมีความต้องการประชาธิปไตยแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ามันคืออะไรหรือการทำให้เกิดประชาธิปไตยจริงๆ ได้อย่างไร และไม่ว่ารัฐธรรมนูญของเราจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วนเพียงใด เรายังคงจะมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และมีภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมอยู่ในรัฐสภา

เมื่อใดก็ตามที่เรามีการเลือกตั้งเรามักจะพูดว่ามันเป็นสิ่งดี ที่ในที่สุดเสียงของประชาชนก็ได้รับความสนใจเพราะพวกเราไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงการเมืองไทยเต็มไปด้วยความทุจริต ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนหรือปฏิรูปการเมืองหรือแม้กระทั่งมีรัฐประหาร นักการเมืองหน้าเดิมๆก็กลับมาหลอกหลอนพวกเราอีก ประชาธิปไตยของไทยช่างน่าสิ้นหวังจริงๆ

ในความเป็นจริงหากคนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเรามีความสุขกับการมีสถาบันพระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมอันมากมายที่ไม่มีในชาติอื่น เราก็จะยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ไปตราบเท่าที่เราต้องการ ประชากรไทยเท่านั้นที่จะตัดสินใจ ไม่ใช่นักวิชาการจอมปลอม สื่อต่างชาติ นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน หรือแม้แต่ผู้นิยมลัทธิมากซ์

หมายเหตุ บทความนี้เป็นบางส่วนของบทความ “เผด็จการเสียงข้างน้อย กับเผด็จการเสียงข้างมาก” (TheTyranny of the Minority vs the Tyranny of the Majority) ของทนง ขันทอง จาก http://blog.nationmultimedia.com/thanong/2008/10/08/entry-2 เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2551

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระมหากษัตริย์ กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย


วัฒนธรรมไทยเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย หากจะขยายความคำว่าเอกลักษณ์ของชาติคือ ลักษณะของสิ่งทั้งหลาย หรือพฤติกรรมทั้งมวลในชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับฝังลึกอยู่ในกระบวนการชีวิตและจิตใจของคนไทย โดยมีวัฒนธรรมประจำชาติเป็นสิ่งพื้นฐาน เอกลักษณ์จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรม

เอกลักษณ์ของชาติมีองค์หลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศ กลไกในการปกครอง ตลอดจนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยเหตุผลที่ว่า

1. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติศักดิ์ เพราะทรงมีพระราชตระกูลสูง ย่อมทำให้เกิดความไว้วางใจและศรัทธาต่อพระองค์ สมคำกล่าวที่ว่า “พระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น”

2. เหตุที่ทรงรับตำแหน่ง เพราะสืบราชสันตติวงศ์ ไม่ใช่เพราะคะแนนเสียงจากผู้ใด จึงทำให้ทรงเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างแท้จริง มีผลให้ทรงประสานผลประโยชน์ของชาติลุล่วงได้ด้วยดี

3. เพราะทรงเป็นประมุขของประเทศอย่างถาวร ทำให้ทรงมีโอกาสสะสมประสบการณ์ มีพระปรีชาสามารถ เข้าพระราชหฤทัยถึงปัญหาของการบริหารราชการ

4. ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นชาติและความสามัคคีของคนในชาติ ในขณะที่นักการเมืองอื่นไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อมีการเมืองเข้าเกี่ยวข้องก็อาจเกิดความขัดแย้งกันได้

โดย มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งกำหนดพระราชอำนาจที่จำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศไทย พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายที่มิได้กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ถึงกระนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับทรงนิยามพระราชกรณียกิจของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ไทยคือ การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรทุกหมู่เหล่าในแผ่นดินไทย พระองค์ทรงเลือกที่จะเป็นพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพสกนิกรของพระองค์ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่า คนไทยกับพระมหากษัตริย์นั้นคู่กันมาตั้งแต่เป็นชาติไทยแล้ว ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จึงได้ดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้แต่ให้ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ดังพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 บัญญัติว่า “มาตรา 3 กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามกษัตริย์”

เมื่อรัฐธรรมนูญตกลงในหลักการที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติแล้ว ก็จำเป็นต้องถวายความเคารพยกย่องพระราชฐานะ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 จึงบัญญัติว่า “มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และกำหนดโดยปริยายว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง กล่าวคือ ต้องทรงวางพระองค์เป็นกลาง ไม่เข้ากับพรรคการเมืองใด การปรึกษาราชการแผ่นดินต้องทรงกระทำกับคณะรัฐมนตรีหรือคณะองคมนตรีเท่านั้น และจะต้องทรงปลีกพระองค์จากปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง คือไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในที่สาธารณะ ในทางกลับกัน ย่อมถือเป็นมารยาททางการเมืองว่านักการ เมืองจะไม่อ้างถึงพระมหากษัตริย์ว่าทรงพระกรุณาแก่ตนเป็นพิเศษอย่างใดรวม ทั้งไม่นำพระราชกระแสพระราชดำริทางการเมืองออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยเด็ดขาด

พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติทางรัฐสภา ดังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 บัญญัติว่า “มาตรา 93 ร่างบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”

อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดที่ไม่ทรงเห็นชอบด้วย ด้วยการพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือทรงเก็บร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ ในกรณีที่พระราชทานร่างพระราชบัญญัติคืนมา หรือพ้น 90 วันแล้วยังไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยว่าสองในสามของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง หากไม่ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้ บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (มาตรา 98)

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยยังคงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานพระราชดำริเป็นการเตือนสติแก่รัฐสภา รัฐสภาต้องพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายนั้นเป็นกรณีพิเศษ ใช้คะแนนเสียงข้างมาก และอำนาจในการชี้ขาดขั้นสุดท้ายก็เป็นของรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวทรงปฏิบัติพระองค์ตามทศพิธราชธรรม จะเห็นได้จากพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจต่างๆ ทรงปฏิบัติอย่างเที่ยงตรงต่อภาระหน้าที่ เที่ยงตรงต่อเวลา เที่ยงตรงต่อพระราชปณิธานในพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรโดยมิได้ละเลย และย่อท้อ

โดยเฉพาะทศพิธราชธรรมข้อที่เก้า คือขันติ อดทนต่อทุกสิ่งที่มากระทบต่อพระวรกาย และพระราชหฤทัย ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในกรอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศว่า พระองค์ทรงเป็น “ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์”

ตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม


**บางส่วนจากหนังสือ เย็นศิระเพราะพระบริบาล ของทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

การปกครองโดยพระมหากษัตริย์


กษัตริย์ โบราณ
Absolute Monarchy
การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ หรือราชาธิปไตย (Monarchy) เป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งสืบทอดมาจากระบบการปกครองแบบมีหัวหน้าเผ่า พระมหากษัตริย์บางพระองค์อาจอ้างว่าได้สิทธิอันศักสิทธิ์จากพระเจ้าให้มาปกครองประเทศตามความปรารถนาของพระเจ้า ซึ่งมักอ้างอิงกับหลักความเชื่อทางศาสนา (Divine right of King) พระมหากษัตริย์บางพระองค์ก็อาจมาจากการเลือกตั้ง (อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ) ซึ่งอาจเลือกโดยคณะบุคคลที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น ในรัฐเผ่าเยอรมัน หรือโดยคนกลุ่มเล็กๆ เช่น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในอดีต มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือพระมหากษัตริย์อาจจะมาจากการสืบทอดอำนาจ หรืออาจมาจากการแย่งชิงบัลลังก์ หรืออาจจะเกิดจากหลายๆ วิธีรวมกัน
เอนกนิกรสโมสรสมมติาชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งได้อำนาจปกครองโดยการสืบราชสมบัติ ลักษณะที่ทำให้ระบอบราชาธิปไตยแตกต่างจากระบอบสาธารณรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ หรือเป็นประมุขอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ และจะส่งต่ออำนาจให้กับองค์รัชทายาทซึ่งอาจเป็นพระราชโอรสของพระองค์ต่อไป ส่วนในบอบสาธารณรัฐ ประมุขของรัฐ (ประธานาธิบดี) โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีที่มาจากการเลือกตั้ง และทำหน้าที่อยู่ในช่วงในเวลาที่แน่นอน เช่น ๔ หรือ ๖ ปี
คำว่าราชาธิปไตยนั้นอาจหมายถึงกลุ่มคน (ราชวงศ์) และองค์กรที่รวมตัวกันเป็นสถาบันกษัตริย์ ทุกวันนี้ อำนาจของกษัตริย์นั้นแตกต่างกันไปตามประเทศ ในระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น อำนาจสูงสุดของประเทศจะถือว่าอยู่ที่กษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุข แต่อำนาจที่แท้จริงนั้นจะอยู่ที่ประชาชน พระมหากษัตริย์มักจะทำหน้าที่ในงานพิธีต่างๆ ในบางประเทศพระมหากษัตริย์อาจมีอำนาจอยู่บ้าง แต่ก็ถูกจำกัดไว้ด้วยความเห็นของประชาชน หลักธรรม หรือบรรทัดฐานของพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ในบางประเทศ พระมหากษัตริย์จะมีอำนาจมาก และอาจใช้อำนาจได้อย่างไร้ขอบเขต อย่างไรก็ตามระบอบการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่ในทุกวันนี้จะอยู่ภายใต้กฎหมายมากกว่าจะทำตามอำเภอใจได้

ประเภทของสถาบันพระมหากษัตริย์
การปกครองโดยสถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท พอสรุปได้ดังนี้
พระมหากษัตริย์
๑. พระมหากษัตริย์ในระบบฟิวดัล (Feudal Monarchy) คือ การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจเหนือแผ่นดินและเพื่อตอบแทนเหล่าขุนนาง พระมหากษัตริย์ในระบอบ นี้จึงให้ที่ดินเป็นการตอบแทนเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานของเหล่าขุนนาง เป็นการลดความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองและขุนนางต่างๆ อีกทั้งเป็นการประสานประโยชน์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และขุนนางให้การ บริหารรัฐเป็นไปโดยสงบ
๒. พระมหากษัตริย์ในลัทธิเทวสิทธิ์ (Absolute Monarchy) จากลัทธินี้จึงมีความเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดจากอำนาจของพระเจ้า พระมหากษัตริย์จึงเป็นเจ้าชีวิต เป็นเจ้าของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จึงมีอำนาจอันชอบธรรมโดยองค์การของพระเจ้าในการปกครอง ประชาชนต้องยอมรับและปฏิบัติตนตามโองการของพระเจ้า สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีอำนาจสมบูรณ์ เราจึงเรียกการปกครองลักษณะนี้ว่า การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ทั้งนี้การปกครองอยู่บนรากฐานของหลักของศีลธรรมอันดีงามเป็นแนวปฏิบัติ
๓. พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย (Constitutional Monarchy)แนวคิดนี้เริ่มพัฒนาเมื่อมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาทำให้การปกครองแนวคิดนี้เชื่อในเรื่องปัจเจกบุคคล และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วนในการปกครอง และยังเชื่อว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองนั้นเป็นของประชาชนทุกคน ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง

ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๐๐ ระบอบราชาธิปไตยส่วนใหญ่ได้ถูกยกเลิกเนื่องจากการแบ่งแยกหรือการรวมดินแดน หรือการเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ ประเทศที่ยังใช้ใช้ราชาธิปไตยอยู่ในปัจจุบันมักจะเป็นประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีประเทศบางประเทศที่ยังใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ เช่น บรูไน โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สวาซิแลนด์ และ นครรัฐวาติกัน ซึ่งปัจจุบันมีราชวงศ์ ๒๘ ราชวงศ์ ปกครองดินแดนทั้งหมด ๔๓ ประเทศทั่วโลก
การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ ในหลวง
แผนที่ ประเทศ กษัตริย์

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระมหากษัตริย์ไทย


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมหากษัตริย์ไทย คือ ประมุขของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามระบอบราชาธิปไตยและราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะลดลงหลังจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 กับทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับว่า พระมหากษัตริย์ "ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ยังทรงได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายอาญา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์พระองค์เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นฉบับปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ทรงเป็นจอมทัพไทย พุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก มีพระราชอำนาจสถาปนาและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์กับฐานันดรศักดิ์ พระราชทานอภัยโทษ ประกาศสงครามและสงบศึก รวมตลอดถึงพระราชอำนาจอื่น ๆ ซึ่งจะทรงใช้ได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ยกเว้นพระราชอำนาจบางประการที่ทรงใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย คือ ตั้งและถอดองคมนตรีกับบรรดาข้าราชการในพระองค์
พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นประมุขราชวงศ์จักรีมีที่ประทับอย่างเป็นทางการคือพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร เสวยราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐที่นานที่สุดในโลก
รัชทายาทของพระมหากษัตริย์ไทยมีตำแหน่งเรียกว่าสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ การสืบมรดกของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 โดยมีลักษณะเป็นการโอนจากบิดาสู่บุตรตามหลักบุตรคนหัวปีเฉพาะที่เป็นชาย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฉบับปัจจุบันเปิดให้เสนอพระนามพระราชธิดาขึ้นสืบราชบัลลังก์ได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙