แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ครองใจคน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ครองใจคน แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“ครองใจคน” หลากหลายเหตุผลที่คนไทยรัก “ในหลวง”


“…. ผมเคยอยู่มาแล้วหลายแผ่นดิน แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินใดที่คนทั้งเมืองเขาเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ให้ความเคารพบูชาอย่างสนิทสนมอย่างทุกวันนี้… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน ๆ ทรงครองแผ่นดิน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ทรง “ครองใจคน..”

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 

ในหลวง พัฒนา พระราชดำริ 

“เดิมพันของเรานั้นสูง”
ครั้งหนึ่ง เมื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “เคยทรงเหนื่อย ทรงท้อบ้างหรือไม่”  ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสตอบว่า “ความ จริงมันน่าท้อถอยหรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้าน คือเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”
ข้อมูลจาก ไทยรัฐ ฉบัย 5 ธ.ค.32


“ราษฎรยังอยู่ได้”
ปีพุทธศักราช 2513 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไป เยี่ยมราษฎรในตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองพัทลุง อันเป็นแหล่งที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ปฏิบัติการรุนแรงที่สุดในภาคใต้ เวลานั้น ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งล้น ทางกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงรอให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่เป็น อยู่เสียก่อน แต่คำตอบที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้รับก็คือ “ราษฎรเขาเสี่ยง ภัยยิ่งกว่าเราหลายเท่า เพราะเขาต้องกินอยู่ที่นั่นเขายังอยู่ได้ แล้วเราจะขลาดแม้แต่จะไปเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของเขาเชียวหรือ…  คนเราจะอยู่สุขสบายแต่คนเดียวไม่ได้ ถ้าคนที่อยู่ล้อมรอบมีความทุกข์ยาก ควรต้องแบ่งเบาความทุกข์ยากของเขาบ้าง ตามกำลังและความสามารถเท่าที่จะทำได้!”
ข้อมูลจากคำอภิปรายเรื่อง “พระบิดาประชาชน”

“ดอกไม้จากหัวใจ”
ที่นครพนม บนเส้นทางรับเสด็จตรงสามแยกชยางกูร-เรณูนคร บายวันที่ 13 พ.ย. 2498 อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้บันทึกภาพในวินาทีสำคัญที่กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของประเทศ  ภาพที่พูดได้มากกว่าคำพูดหนึ่งล้านคำ

ในหลวง ยายแก่วันนั้น หลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารเสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูก จูงหลานหอบกันมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น ดังเช่นครอบครัว จันท์นิตย์ ที่ลูกหลายช่วยกันนำ แม่ตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี ไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จห่างจากบ้าน 700 เมตร โดยลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่าจำนวน 3 ดอก และพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด

เปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนสาย เที่ยงจนบ่าย แผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจรักภักดีของหญิงชรายังเบิกบาน เมื่อเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้นขึ้นจบเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดี อย่างสุดซึ้ง พระเจ้าแผ่นดินทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุด จนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลอย่างเอ็นดู พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชราชาวอีสานอยางอ่อนโยน

เป็นคำบรรยายเหมือนไม่จำเป็น สำหรับภาพที่ไม่จำเป็นต้องบรรยาย ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่าแม่เฒ่าไม่มีวันลืม

เช่น เดียวกับที่ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า “หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวังได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมทั้งพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนมให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก”  พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่ายืนยาวขึ้นอีกด้วยความสุขต่อมาอีกถึงสามปี เต็ม ๆ แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ราษฎรผู้โชคดีที่สุดคนหนึ่งในรัชกาลที่ 9 สิ้นอายุขัยอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่ออายุได้ 105 ปี
ข้อมูลจาก “แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์” ภาคพิเศษโดย คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ วารสารไทย

“เขาเดินมาเป็นวัน ๆ”
… มีอยู่ครั้งนึง ข้าพเจ้าอายุ 18 ปี ได้ตามเสด็จ…ตอนนั้นเป็นช่วงหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกจังหวัดและอำเภอใหญ่ๆ ก็เสด็จฯ ประมาณ 9 โมงเช้า เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรมาเรื่อยๆ ทีนี้ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า แหมนานเหลือเกิน ตอนนั้นยังไม่กางร่ม ตอนนั้นยังไม่ค่อยกลัวแดด ไม่ใส่หมวก ก็รู้สึกแดดเปรี้ยง หนังเท้านี้รู้สึกไหม้เชียว ก็เดินเข้าไปกระซิบท่านว่า พอหรือยัง ก็โดนกริ้ว

นี่เห็นไหมราษฎรเขาเดินมาเป็นวัน ๆ เพื่อมาดูเราแม้แต่นิดเดียว แต่นี่เรายืนอยู่ไม่เท่าไรล่ะ ตอนนี้ทนไม่ไหวเสียแล้ว..
พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 ส.ค. 2534

“ต่อไปจะมีน้ำ”
บทความ “น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม ทั่วเขตคามชื่นธารา” เขียนโดย มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 ธ.ค.2528 ได้เล่าให้ผู้อ่านชาวไทยได้ประจักษ์ถึงเรื่องอัศจรรย์ของ “ในหลวง” กับ “น้ำ” ที่เกิดขึ้นในคำวันหนึ่งของเดือน ก.พ.2528

ด้วยความทุกข์ที่เปี่ยมล้นใจอันเนื่องมาจากต้องเผชิญความแห้งแล้งอย่างหนัก หญิงชราคนนึ่งที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จได้คลานเข้ามากอดพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลด้วยน้ำตาอาบแก้ม ขอพระราชทานน้ำ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า “ยายไม่ต้องห่วงแล้วนะ ต่อไปนี้จะมีน้ำ เราเอาน้ำมาให้” แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระดำเนินกลับไปยังรถพระที่นั่งซึ่งจอด ห่างออกไปราว 5 เมตร ปรากฎว่าท่ามกลางอากาศที่ร้อนแล้ง จู่ๆ ก็เกิดฝนตกลงมาเป็นครั้งแรกในรอบปี ทำให้ผู้ตามเสด็จและราษฎรในที่นั้นถึงกับงุนงงไปตามๆ กัน

“เก็บร่ม”
ในหลวง งานพัฒนาการเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง แม้จะต้องเผชิญกับแดดร้อนหรือลมแรง ราษฎรก็ไม่เคยย้อท้อที่จะอดทนรอรับเสด็จให้ถึงที่สุด แม้ฝนจะตกหนักแค่ไหนก็ไม่มีใครยอมกลับบ้าน

ร้อยเอกศรีรัตน์ หริรักษ์ เล่าไว้ในบทความ “พระบารมีปกเกล้าฯ ที่อำเภอท่ายาง” ตีพิมพ์ในหนังสือ “72 พรรษาราชาธิราชเจ้านักรัฐศาสตร์” ว่า ครั้งหนึ่งที่โครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฎว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ราษฎรและข้าราชการที่มาเข้าแถวรอรับเสด็จต่างเปียกปอนกันหมด แต่ก็ยังตั้งแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่อย่างนั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ นายตำรวจราชองค์รักษ์ที่ตามเสด็จได้เข้าไปกางร่มถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาข้าราชการและราษฎรที่มายืนตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ต่าง ก็เปียกฝนโดยทั่วกัน  “จึงมีรับสั่งให้นายตำรวจราชอครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงพระดำเนินเยี่ยมข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จ โดยทรงเปียกฝนเช่นเดียวกับข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายที่ยืนรอรับเสด็จในขณะนั้น”

“สิ่งที่ทรงหวัง”
ครั้งหนึ่งขณะเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งได้ขอพระราชทานสัมภาษณ์ และได้กราบบังคมทูลถามว่า การที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรและมีโครงการตามพระราชดำริเกิดขึ้นมากมายนั้น ทรงหวังว่าจะให้คอมมิวนิสต์น้อยลงใช่หรือไม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรบสั่งตอบว่า มิได้ทรงสนพระทัยว่าคอมมิวนิสต์จะน้อยลงหรือไม่ แต่ทรงสนพระทัยว่าประชาชนของพระองค์จะหิวน้อยลงหรือไม่


“รักถึงเพียงนี้” และ “จุดเทียนส่งเสด็จ”
บทความชื่อ “แผ่นดินร่มเย็นที่นราธิวาส” ตีพิมพ์ในนิตยสาร “สู่อนาคต” ฉบับพิเศษเนื่องในวันเฉลิมฯ ได้เล่าย้อนให้เราได้เห็นภาพความยากลำบากในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทางภาใต้เมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะช่วงก่อนสร้างพระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้น เป็นที่รู้กันว่าจังหวัดนราธิวาสชุกชุมไปด้วยโจรร้าย โจรปล้นสะดมและพวกโจรเรียกค่าไถ่ ถึงขนาดที่ในหลายๆ หมู่บ้านนั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่กล้าย่างกรายเข้าไป

ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในทุกข์อันลึกล้ำของชาวบ้านที่ทั้งทุกข์เพราะยากจน และทุกข์เพราะภัยคุกคาม จึงได้เสด็จฯ ลงไปเยี่ยมเยียนเป็นขวัญกำลังใจให้ราษฎรของพระองค์โดยไม่ทรงหวาดหวั่น บางวันถึงกับเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์โดยปราศจากกำลังอารักขา และบางหมู่บ้านตำรวจเพิ่งถูกคนร้ายแย่งปืนแล้วยิ่งตายก่อเสด็จไปถึงเพียงไม่ กี่ชั่วโมง

ทรงรักราษฎรถึงเพียงนี้ จึงไม่แปลกที่หญิงชราคนหนึ่งในหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอรือเสาะจะเข้ามาเกาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร้องไห้แล้วบอกว่า “ไม่นึกเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไทยชาวพุทธ จะมารักมุสลิมได้ถึงขนาดนี้…”

บทความเดียวกันได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเดียวกันนั้น โต๊ะครูได้พาพรรคพวกมายืนรอรับเสด็จแล้วพูดขึ้นว่า “..รายอกลับไปเถอะ ประไหมสุหรีกลับไปเถิด ประเดี๋ยวพวกโจรจะลงจากเขา…”  และเมื่อถึงเวลาเสด็จฯ กลับที่มืดสนิทอย่างน่ากลัว โต๊ะครูกับชาวบ้านก็พากันมาจุดเทียนส่งเสด็จตลอดเส้นทางอันตราย ด้วยความห่วงใยใน “รายอ” และ “ประไหมสุหรี” หรือ พระราชาพระราชินีของพวกเขาอย่างสุดซึ้ง


“รถติดหล่มกับถนนสายนั้น”
หากย้อนกลับไปค้นหาจุดเริ่มต้นของพระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาแล้ว ชื่อของ “ลุงรวย” และ “บ้านห้วยมงคล” คือสองชื่อที่ลืมไม่ได้ เรื่องราวของ “ลุงรวย” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2495 หรือมากกว่าห้าสิบปีล่วงมาแล้ว ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

บ้านห้วย มงคลนี้อยู่ทั้ง “ใกล้และไกล” ตลาดหัวหิน ใกล้เพราะระยะทางที่ห่างกันนั้นไม่กี่กิโลเมตร แต่ไกลเพราะไม่มีถนน หากชาวบ้านจะขนพืชผักไปขายที่ตลาดต้องใช้เวลาเป็นวันๆ

ห่างไกลความเจริญถึงเพียงนี้ แต่วันหนึ่งกลับมีรถยนต์คันหนึ่งมาตกหล่มอยู่ที่หน้าบ้านลุงรวย เมื่อเห็นทหารตำรวจกว่าสิบนายระดมกำลังกันช่วยรถคันนั้นขึ้นจากหล่ม ลุงรวยผู้รวยน้ำใจสมชื่อก็กุลีกุจอออกไปช่วยทั้งงัด ทั้งดัน ทั้งฉุด จนที่สุดล้อรถก็หลุดจากหล่ม  เมื่อรถขึ้นจากหล่มแล้ว ลุงรวยจึงได้รู้ว่ารถคันที่ตัวทั้งฉุดทั้งดึงนั้นเป็นรถยนต์พระที่นั่งและคน ในรถนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชินีนาถ

แม้จะตื่นเต้นตกใจที่ได้เฝ้าฯ ในหลวงอย่างไม่คาดฝัน แต่ลุงรวยก็ยังจำได้ว่าวันนั้น “ในหลวง” มีรับสั่งถามลุงว่า “หมู่บ้านนี้มีปัญหาอะไรบ้าง..” ลุงได้กราบบังคมทูลว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่มีถนน จึงนอกจากจะโชคดีได้รับพระราชทาน “เงินก้นถุง” จำนวน 36 บาท ซึ่งลุงนำไปเก็บใส่หีบบูชาไว้เป็นสิริมงคลจนถึงทุกวันนี้แล้ว

อีกไม่นานหลังจากนั้น ลุงรวยก็ได้เห็นตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งเข้ามาช่วยกันไถดินที่บ้านห้วยมงคล และเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ชาวบ้านก็ได้ถนนพระราชทาน ถนนห้วยมงคลที่ทำให้ชาวไร้ห้วยมงคลสามารถขนพืชผักออกมาขายที่ตลาดหัวหินได้ ภายในเวลาเพียง 20 นาที

 ในหลวง พัฒนา ความเป็นธรรม

“สามร้อยตุ่ม”
มีหลายหนที่ทรงงานติดพันจนมืดสนิท ท่ามกลางฝูงยุงที่รุมตอมเข้ามากัดบริเวณพระวรกาย รอบพระศอ พระกร พระพักตร์ รวมทั้งแมลงตางๆ ที่เข้ามารุมรบกวนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวจะยังทรงทอดพระเนตรแผนที่อยู่ภายใต้แสงไฟฉายที่มีผ้ส่องถวายอยางไม่สะ ดุ้นสะเทือน อย่างมากที่ทรงทำคือโบกพระหัตถ์ปัดไล่เบาๆ เท่านั้น

ครั้งหนึ่งทรงมีรับสั่งเล่าเรื่อง “ยุง” ด้วยพระอารมณ์ขันว่า  “.. ที่บางจาก แต่ไม่มีจากหรอกนะ ยุงชุมมากเลย ไปยืนดูแผนที่ เลยโดนยุงรุมกัดขาทั้งสองข้าง กลับมาขาบวมแดง ไปสกลนครกลับมาแล้วถึงได้ยุบลง มองเห็นเป็นตุ่มแตง ลองนับดูได้ข้างละร้อยห้าสิบตุ่ม สองข้างรวมสามร้อยพอดี..”


“น้ำท่วมครั้งนั้น”
ในหลวงกับงานพัฒนา 007วันที่ 7 พ.ย. 26 ขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งกำลังทนทุกข์หนักกับสภาพน้ำท่วมขัง น้อยคนที่จะรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพยายามหาหนทางบรรเทาทุกข์ให้พวกเขาอยู่อย่างเงียบ ๆ

วันนั้นรถพระที่นั่งแวนแวคคอนเนียร์ แล่นออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ราวบ่ายสองโมงเศษ สู่ถนนศรีอยุธยาเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรี มุ่งสู่ถนนบางนาตราด ไม่มีหมายกำหนดการ ไม่มีการปิดถนน แม้แต่ตำรวจท้องที่ก็ไม่ทราบล่วงหน้า

รถยนต์พระที่นั่งชะลอเป็นระยะๆ เพื่อทรงตรวจดูระดับน้ำ จนเมื่อถึงคอสะพานสร้างใหม่ที่คลองลาดกระบัง จึงเสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่งเพื่อทรงหารือกับเจ้าหน้าที่ที่ตามเสด็จ

ทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง ทรงกางแผนที่ทอดพระเนตรจุดต่างๆ จนถึงเวลาบ่ายคล้อย รถยนต์พระที่นั่งจึงแล่นกลับ เมื่อถึงสะพานคลองหนองบอน รถพระที่นั่งหยุดเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายภาพบริเวณน้ำท่วม และทรงศึกษาแผนที่ร่องน้ำอีกครั้ง

ปรากฎว่าชาวบ้านทราบข่าวว่า “ในหลวงมาดูน้ำท่วม” ต่างก็พากันมาชมพระบารมีนับร้อยๆ คน จนทำให้การจราจรบนสะพานเกิดการติดขัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงโบกพระหัตถ์ให้รถขบวนเสด็จผ่านไปจนเป็น ที่เรียบร้อยด้วยพระองค์เอง!


“เชื่อมั่น”
เย็นย่ำแล้วแต่ขบวนรถยนต์พระที่นั่งยังไม่หมดภารกิจ เมื่อรถวิ่งกลับมาทางถนนพัฒนาการ ทรงแวะฉายภาพบริเวณคลองตัน ทอดพรเนตรระดับน้ำแล้วทรงวกกลับมาที่คลองจิก

เวลานั้นฟ้ามืดแล้วเพราะเป็นเวลาจวนค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงนำไฟฉายส่วนพระองค์ออกมาส่องแผนที่ป้องกัน น้ำท่วมและแนวพนังกั้นน้ำอยู่เป็นเวลานาน กลายเป็นอีกภาพหนึ่งที่สร้างความตื้นตันใจแก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ อย่างยิ่ง

ประชาชนคนหนึ่งในละแวกเคหะนคร 1 แขวงบางบอน เขตประเวศ บอกว่า “รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ทรงห่วงใยทุกข์ของราษฎร เสด็จฯ มาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยพระองค์เอง พวกเราถึงจะทนทุกข์เพราะน้ำท่วมขังเน่ามาเป็นเวลานานก็เชื่อมั่นว่าพระองค์ ทรงช่วยพวกเราได้อย่างแน่นอน”


“ฉันทนได้”
ในหลวงกับงานพัฒนา 006ในเดือนหนึ่งของปี 2528 พระทนต์องค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหักเฉียดโพรงประสาทฟัน พระทนต์องค์นั้นต้องการการถวายการรักษาเร่งด่วน แต่ขณะนั้นกรุงเทพฯ ก็กำลังประสบปัญหาอุทกภัย ต้องการการบรรเทาทุกข์เร่งด่วนเช่นกัน
เมื่อทันตแพทย์เข้ามาถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า “จะใช้เวลานานเท่าใด” ทันตแพทย์กราบบังคมทูลว่า อาจต้องใช้เวลา 1-2 ชม.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฏรและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมก่อน”

“คำสอนประโยคเดียว”
เมื่อนิตยสาร “สไตล์” ฉบับปี 2530 ได้ตั้งคำถามกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ถึง “คำสอน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประทับอยู่ในหัวใจ ดร.สุเมธ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร. ตอบว่า คำสอน ประโยคเดียวก็เกินพอนั้นคือพระราชดำรัสที่ว่า “มาอยู่กับฉันนั้น ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากความสุขที่จะมีร่วมกันในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น”

“ดีใจที่สุด”
สำหรับผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์มืดมน พระบรมฉายาลักษณ์ไม่เพียงเป็นรูปเคารพบูชา แต่ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความศรัทธาที่ช่วยให้มีแรงต่อสู้กับความทุกข์ต่อไปได้ ดังคุณยายละเมียด แสงเนียมวัย 72 ปี ชาวจังหวัดชุมพร ผู้ที่เผชิญกับอุทกภัยภาคใต้ในปี 2540 น้ำท่วมบ้านสูงมากจนอยู่อาศัยไม่ได้

“อยู่ๆ น้ำก็ท่วมมาเร็วมาก ยายต้องไปขออาศัยบ้านคนอื่นเขาอยู่ ต่อมาก็ขึ้นไปอยู่ชั้นบน ออกไปไหนไม่ได้เลย”  … พอดีที่บ้านนี้เขาปลูกมะละกอ ต้นมันสูงมาถึงหน้าต่างเราก็เอื้อมถึงพอดี เลยได้กินข้าวกับมะละกอ ก็กินมาสามวัน มาเมื่อวานผู้ใหญ่บ้านมาบอก มูลนิธิในหลวงจะเอาของมาแจกยายคิดเลยว่า ไม่อดตายแล้ว ทุกครั้งที่คนไทยเดือดร้อน ในหลวงจะให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง

ของที่ยายได้มา ที่ดีใจที่สุดคือมีรูปของท่านมาด้วย ที่บ้านเสียหายหมดแล้ว ยายจะเอารูปท่านไว้บูชา ยายพูดแล้วก็ก้มลงกราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความจงรักสุดหัวใจ

“ทุกข์บรรเทา”
“การประทับอยู่ในบ้านเมือง” ดังพระราชดำรัสนั้น ในเวลาต่อมาก็เป็นที่รู้กันว่ามิได้หมายถึงการประทับอยู่ในเมืองหลวงเท่า นั้น แต่ยังเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์จนแทบจะทั่วทุกตารางนิ้วที่พระบาทจะย่างไปถึงได้  ทรงวิทย์ แก้วศรี ผู้เรียบเรียงบทความ “บรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ” บันทึกไว้ว่า

วันที่ 13 ก.ย 2497 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 26 พรรษา และทรงครองราชย์เป็นปีที่ 8 ปรากฎว่าเกิดเหตุการณ์อัคคีภัยครั้ง ร้ายแรงขึ้นที่อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือนราษฎรชาวบ้านโป่งผู้ประสบภัยในพื้นที่ ทรงทอดพระเนตรบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้และพระราชทานสิ่งของบรรเทาทุกข์

ทุกข์ในยามยากเพราะสิ้นเนื้อประดาตัวจากภัยเพลิงนั้นมากล้น แต่เมื่อได้รู้ว่ายังมีใครสักคนคอยเป็นกำลังใจ ทุกข์สาหัสแค่ไหนก็ยังพอมีแรงกายลุกขึ้นสู้ต่อได้ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบภัยในครั้งนั้น นับได้ว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกในรัชกาล


“141 ตัน”
เป็นที่รู้กันดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และหลังจากนั้นบัณฑิตทุกคนก็เฝ้ารอที่จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์อย่างใจจดใจจ่อ

ภาพถ่ายวันรับพระราชทานปริญญาบัตรกลายเป็นของ ล้ำค่าที่ต้องประดับไว้ตามบ้านเรือนและเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของหนุ่ม สาวและความภาคภูมิใจของบิดามารดา

จน 29 ปีต่อมามีผู้คำนวณให้ฉุกใจคิดกันว่าพระราชภารกิจในการพระราชทานปริญญาบัตร นั้นเป็นพระราชภารกิจที่หนักหน่วงไม่น้อย หนังสือพมพ์ลงว่าหากเสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละราว 3 ชม. เท่ากับทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทานใบปริญญาบัตร 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมดที่พระราชทานมาแล้ว 141 ตัน

ไม่เพียงเท่านั้น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ยังเล่าเสริมให้เห็น “ความละเอียดอ่อนในพระราชภารกิจ” ที่ไม่มีใครคาดถึงว่า “ไม่ได้พระราชทานเฉยๆ ทรงทอดพระเนตรอยู่ตลอดเวลา โบหลุดอะไรหลุดพระองค์ท่านทรงผูกโบว์ใหม่ให้เรียบร้อย บางครั้งเรียงเอกสารไว้หลายวัน ฝุ่นมันจับ พระองค์ท่านก็ทรงปัดออก”
“สุขเป็นปี ๆ”
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ทรงลดการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรลงบ้าง โดยอาจงดเว้นการพระราชทานปริญญาบัตรในระดับป.ตรี คงไว้แต่เพียงระดับปริญญาโทขึ้นไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับมีพระราชกระแสรับสั่งตอบว่า พระองค์เองเสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาทีนั้น แต่ผู้ได้รับนั้นมีความสุขเป็นปี ๆ เปรียบกันไม่ได้เลย ที่สำคัญคือ ทรงเห็นว่าการพระราชทานปริญญาสำหรับผู้สำเร็จป.ตรี นั้นสำคัญ เพราะบางคนอาจไม่มีโอกาสศึกษาชั้นปริญญาโทและปริญญาเอก ดังนั้น “จะพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีไปจนกว่าจะไม่มีแรง..”


“พระมหากษัตริย์”
เมื่อมีผู้สื่อข่าว bbc ขอพระราชทานสัมภาษณ์เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Soul of Nation ในปี 2522 โดยได้กราบบังคมทูลถามถึงพระราชทัศนะเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์ได้พระราชทานคำตอบว่า

การที่จะอธิบายว่าพระมหากษัตริย์ คืออะไรนั้น ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว ดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักหรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้น ก็คือทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าถามว่า ข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบก็คือ ไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙