แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ผู้ทรงงานหนักที่สุด แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ผู้ทรงงานหนักที่สุด แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน และพระราชทานปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕พ.ค.๒๔๙๓ ล่วงเลยมาตราบถึงวันนี้  แม้จะมีพระชนพรรษาย่าง ๘๔ พรรษาแล้วก็ตาม 

อีกทั้งยังทรงพระประชวรอยู่ต้องประทับรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราชมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนทว่า ในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านก็ยังมีแต่พสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริงทรงห่วงใยทุกข์สุขของประชาชนทุกคนมิต่างจากทุกข์สุขของพระองค์เองและทรงอุทิศพระองค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อทรงคลายร้อนผ่อนลำเค็ญนำพาความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงประชนชาวไทยทั้งประเทศสมกับที่ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกและทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหากษัตริย์ผู้เพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม

“พระเจ้าอยู่หัวยังต้องเหนื่อยต้องลำบากทุกวันนี้เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่เมื่อประชาชนยากจนแล้วอิสรภาพเขาจึงไม่มีและเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพเขาก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้” พระราชดำรัสดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสียสละเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงและคงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่าในบรรดาสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดจะทรงงานให้กับพระชาชนเท่ากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระองค์ในสถานะผู้ให้บริการรับใช้ประชาชนถึงแม่ว่าจะทรงเป็นประมุขของประเทศ

“มาทำงานกับฉันนั้นไม่มีอะไรจะให้นอกจากความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นฉันนับถือลัทธิเรื่อย ๆ คือทำไปเรื่อย ๆ ใครว่าอย่าไปสนใจฝากไว้ด้วยเพราะเราทำแล้วต้องถูกว่าต้องมีคนถูกด่าธรรมดาของการทำงานเพราะฉะนั้นลัทธิเรื่อยๆ ก็คือทำไปเรื่อยๆ ถูกว่าถ้าเห็นว่าผิดก็กลับไปทำใหม่ย้อนกลับมาที่ตั้งต้นใหม่ทำใหม่อย่าไปสนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าสนใจอะไรไปแล้วจะไม่มีกำลังใจอะไรเลย”

ในฐานะข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปพัฒนาผืนแผ่นดินทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและได้มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิดตลอดรระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล”เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้ถ่ายทอดถึงเรื่องราวต่างๆ ขององค์พระประมุขซึ่งทรงทำประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับแผ่นดินไทยอันถือเป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การน้อมนำเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

“ผมเคยวาดภาพว่า สถาบันกษัตริย์คงเป็นแบบที่เรานึกคิดเราอ่านนิทานประเภทจักรๆ วงศ์ๆ มาคงจะนึกว่าสุขสบายนึกอยากจะทำอะไรก็ทำ หรือระหว่างอยู่ต่างประเทศก็ได้ข่าวเจ้าชายองค์นั้นซื้อรถสปอร์ตขี่อีกแล้ว เจ้าชายองค์โน้นซื้อเรือยอชต์ใหม่อันนี้คือภาพที่ติดมากับตัวก่อนที่จะทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาทแต่พอมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับพระองค์พูดทีไรผมก็เกิดอาการขนลุกซู่ซ่าขึ้นมาทุกที

ไม่เคยนึกไม่เคยฝันไม่เคยวาดภาพมาก่อนว่าสถาบันกษัตริย์ของเราจะเป็นในลักษณะที่เห็นอยู่ในหลวงทรงอุทิศเวลาส่วนพระองค์ทั้งหมดของพระองค์ท่านเพื่อทุกข์สุขของราษฎรชีวิตทั้งวันของพระองค์นั้นได้ผ่านไปในลักษณะที่ว่า ทรงทุ่มเทอย่างมากที่สุดเมื่อเทียบกับกษัตริย์อื่นในโลกนี้

ทุกวันนี้เมื่อเราท่านดูทีวีดูข่าวหรือว่าอ่านหนังสือพิมพ์ท่านจะเห็นภาพของพระองค์ท่าน แต่ก็ดูเป็นลักษณะที่เห็น  แต่ว่าหากทุกคนลองมองสักนิดหนึ่ง  ท่านจะเห็นว่าพระองค์ทรงงานอย่างไรบ้างประทับนั่งราวกับราษฎรเสมอ  เหมือนในพื้นที่เดียวกัน  มิใยว่าตรงนั้นจะเปียกจะแฉะพระองค์ท่านจะประทับบนดินบนลูกรังหรืออะไร

ตอนแรกผมก็แต่งตัวดีเวลาตามเสด็จฯตอนหลังไม่ไหวแล้วพอกับมามอมแมมทุกทีกางเกงแพงๆ เสียไปหมดเลยก็เลยเปลี่ยนเอากางเกงที่มันไม่สกปรกง่ายทนๆหน่อย ผมใส่โรเล็กซ์แต่โรเล็กซ์นี้ของปลอมแท้คือซื้อจากไต้หวันใครจะถวายปาเต๊ะ ฟิลลิป อะไรต่างๆ พระองค์ไม่เคยทรงทรงแต่ของที่ถูกที่สุดทรงยึดประโยชน์เป็นหลัก”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองพระบรมราชโองการ ตามพระปฐมบรมราชโองการที่ได้รับสั่งไว้ทรงทุ่มเทตลอดเวลาหลายทศวรรษเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาราษฎร์อย่างแท้จริง

“ดร.สุเมธ” เล่าถึงชีวิตประจำวันขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกเยี่ยมเยียนประชาชนตามถิ่นทุรกันดารต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพ “การตามเสด็จฯจะเริ่มประมาณบ่ายสามถึงบ่ายสี่โมงส่วนมากจะไม่เสด็จฯออกก่อนบ่ายสามโมง นอกจากจะมีลักษณะการเดินทางต้องกินเวลาก็อาจจะเป็นว่า เริ่มจากตอนเที่ยงหรือตอนเช้าแต่ส่วนมากพระองค์จะเริ่มบ่ายสามโมงจะทรงขับรถด้วยพระองค์เอง

วันหนึ่งมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “เหตุที่ฉันไม่บอกนั้น เพราะว่าไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อนเพราะถ้าบอกทางจังหวัดต้องออกไปเตรียมการ ไปทำอะไรต่ออะไร ข้าราชการทั้งหมดไปรับเสด็จฯยุ่งยากกันไปหมดทั้งจังหวัด” เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงบอกใครอยากไปตามเสด็จฯก็ไป ใครไม่อยากตามเสด็จฯ ก็ไม่ถือโทษโกรธกัน

จะสังเกตเห็นว่า จุดแรกที่พระองค์ทำ คือว่าต้องหนีบแผนที่ เสด็จพระราชดำเนินไปหาประชาชนก่อนเพื่อนเลย ส่วนมากมักจะคุยกับคนแก่ๆ ไม่ใช่ถามเรื่องทุกข์สุขหรืออะไร พระองค์ท่านมีวิธีการทำงานแบบลักษณะสมัยใหม่

ในขณะที่พวกเรานักวิชาการใช้คอมพิวเตอร์ใช้อะไรต่างนั้น  พระองค์ใช้ขีดความสามารถของพระองค์เองเป็นผู้ดำเนินการแต่พระองค์เดียวทั้งสิ้น พวกเราถวายข้อมูลเข้าไปแค่นั้นเอง แล้วในแผนที่ พระองค์ท่านจะทรงเขียนบันทึกมากมาย ก็แสดงว่ามีการเตรียมตัวทำการบ้านมาก่อนแล้วว่า บริเวณที่จะเสด็จฯไปนั้น มีข้อมูลอะไรบ้างมีเขียนเต็มไปหมดเลยด้วยลายพระหัตถ์

สิ่งแรกคือ ทรงตรวจสอบข้อมูลเหมือนอย่างพวกเรานักวางแผน แล้วทรงมีข้อมูลพื้นฐานที่เขียนไว้เช็กข้อมูลกับประชาชนเลย พระองค์ทรงเช็กโดยละเอียด 400 เมตรไปข้างหน้าเลี้ยวซ้ายเจอลำธารหรือเปล่า ฉะนั้น คนที่ตอบได้ถูกต้อง จะต้องเป็นคนแก่ๆ ซึ่งรู้จักภูมิประเทศนั้นดี พระองค์จะทรงซักถาม บางทีเป็นชั่วโมง ประทับราบอยู่ที่นั้น

ทรงเช็กจนแน่ใจแล้วว่าภูมิประเทศ กับแผนที่ถูกต้องเพราะรับสั่งอยู่เสมอว่า การพัฒนาจะต้องวางแผนให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ พระพระองค์เช็กข้อมูลกับราษฎรเสร็จ จะเรียกหน่วยงานราชการเข้ามาเช็กข้อมูลซ้ำอีกที แล้วจึงเรียกหน่วยปฎิบัติขึ้นมาส่วนมากจะเป็นเรื่องน้ำ เชื่อไหมว่า พระองค์ทรงอัจริยะในลักษณะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ทรงใช้เวลา 2-3 นาที จะทรงกำหนดและขีดให้ได้ทันทีว่า สร้างเขื่อนตรงนี้ จากเขานี้ไปเขานี้กั้นตรงนี้ แล้วพระองค์จะทรงวาดต่อได้เลยว่า พอสร้างเสร็จแล้วน้ำเต็มแล้ว จะท่วมบริเวณไหนบ้าง ระบายเป็นสีน้ำเงิน ออกมาให้ได้ทันที

ทรงศึกษาก่อนที่จะทรงทำอะไร ไม่ใช่ว่าไปถึงประทับแล้วชี้แต่พระองค์ท่านทรงรู้อยู่ตลอดเวลา คือหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาจะทรงศึกษาก่อนไม่ว่าพระองค์จะทรงสนพระทัยเรื่องอะไร ตราบใดที่ยังไม่ทะลุปรุโปร่ง ไม่สุดปลายของปัญหา พระองค์จะไม่ทรงหยุด จะเห็นได้ว่า เวลารับสั่งอะไร ถึงแม้จะเรียบง่ายแต่ว่าลึกซึ้ง แล้วก็อยู่ในลักษณะที่ใช้ธรรมชาติที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเรานั่นเองมาใช้ประโยชน์ ไม่นิยมของแพง ไม่นิยมโครงการลงทุนสูง ถ้ารู้ว่าวิธีการพัฒนาชาวเขาอย่างไร วิธีการสร้างฝายแม้วอย่างไรจะทึ่งมาก

พระองค์ท่านเคยรับสั่งว่า การพัฒนาประเทศของพระองค์จะใช้หลักสังฆทาน คือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกใครทั้งสิ้น จะอยู่ในศาสนาไหน อยู่แห่งหนใด จะเป็นชาวเขา หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่นั้น

นอกจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เกือบ 3000 โครงการ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร การส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการสังคม สาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเป็นโครงการที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยมากที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงคิดทฤษฎีใหม่ๆมากมาย ทรงมิเคยวางพระองค์อยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ ที่ประกอบพระราชกรณียกิจในหน้าที่องค์พระประมุขเท่านั้น แต่ยังทรงงานอย่างหนักทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ ทรงถือโอกาสนี้เสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎร ในท้องถิ่นทุรกันดารอย่างทั่วถึงอีกด้วย เพื่อที่จะได้ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎรในพื้นที่เหล่านั้น เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลที่ทรงมีอยู่แล้ว จึงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

บ่อยครั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรผู้ยากไร้และประสบความเดือดร้อน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยใหญ่ทั่วประเทศในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังทรงไม่หายจากพระอาการประชวร และต้องประทับรักษาพระวรกายอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช

แต่ก็ไม่วาย ห่วงใยในความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน ได้โปรดเกล้าฯให้นำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้ราษฎรที่ประสบอุทกภัยตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ พร้อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ดร. สุเมธ บอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อทำการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ที่คนไทยได้รับผลกระทบทั้งจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ท่าน

ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จประทับโรงพยาบาลศิริราชทรงสั่งลงมาให้ประชุมหน่วยงานต่างๆ พยายามพระราชทานคำเสนอแนะให้เกิดการประสานงานกับทุกหน่วยราชการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมาหลายปีก่อนมีน้ำทะลักเข้ามาก้อนใหญ่ทุกคนก็เฉย

แต่เมื่อพระองค์ท่านอดทนไม่ไหว เลยรับสั่งเรียกหน่วยงานต่างๆ มาประชุม และทรงถามว่าน้ำเดินทางเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่แต่ละชั่วโมงมาถึงไหน เพื่อวางระบบการเตือนภัยให้ทันท่วงที ตอนผมไปถวายงานกับพระองค์ท่านหลายสิบปีแล้วพระองค์ท่านเตือนพวกเราว่าระวังนะอย่าไปรังแกธรรมชาติหากไปรังแกมากๆ เขาจะโกรธเอาและเขาก็จะทำร้ายเรา ซึ่งเป็นจริงตลอดเรื่องพวกนี้เราถูกเตือนหมดแล้วพระราชกรณียกิจ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา ล้วนเกี่ยวกับดินน้ำลมไฟพระองค์ท่านทรงเตือนให้รักษาแผ่นดินเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตอย่างผาสุก

 ขณะนี้พระองค์ท่านประทับอยู่ที่ศิริราชจะให้ทรงงานอีกหรือ  อะไรก็จะให้พระเจ้าอยู่หัวทำที่ผ่านมาพระองค์ท่านทรงทำทุกวัน  ถ้าเสด็จฯ ออกมาได้  เชื่อว่าพระองค์ท่านคงเสด็จฯ ออกมาแล้ว ทรงไม่ประทับอยู่อย่างนั้นหรอก ทรงติดตามดูอยู่ทุกวัน  แทนที่จะมองไปที่พระองค์ท่าน  อย่าเอาภาระไปใส่พระองค์  เราจะต้องเลี้ยวกับมาดูว่า  เราแต่ละคนควรทำอย่างไร การรักษาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่พระองค์อย่างเดียว”

“การปลูกฝังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสอนตลอดเวลาว่า ถ้าไม่มีประชาชนก็ไม่มีพวกเรา เราเกิดมาได้เป็นเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินคนเขาเคารพนับถือท่านสอนอย่างนี้เสมอ ข้าพเจ้าก็ทุ่มสุดตัวที่จะทำ สำหรับประเทศไทยอะไรที่ดีกับไทยก็ทำ อยากให้ทุกท่านคิดเหมือนกันว่าอะไรดีที่สุดสำหรับแผ่นดินแม่เราก็ควรทำถ้าไม่มีแผ่นดินไทยไทยล่มสลายจะไม่มีใครมีความสุขได้เลย”

พระดำรัสดังกล่าวของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี คงพอจะเตือนสติคนไทยได้บ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเหนื่อยหนักมาตลอดพระชนม์ชีพแล้วถึงเวลาที่ยังที่ประชาชนอย่างพวกเราจะช่วยแบ่งเบาพระราชภาระอันหนักอึ้งด้วยการรู้รักสามัคคีกันเพื่อแผ่นดินไทย
 
ขอขอบคุณ ไทยรัฐ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙