แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นราธิวาส แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นราธิวาส แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ จ.ปัตตานี -นราธิวาส


วันที่15 ม.ค.2557 เวลา 10.03 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ ณ วัดนพวงศาราม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่แทนอุโบสถหลังเดิม ที่ถูกต้นไม้ใหญ่ล้มทับเนื่องจากพายุ เมื่อปี 2513 โดยทางวัดร่วมกับพุทธศาสนิกชนบูรณะซ่อมแซมอุโบสถขึ้นพร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานให้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ไว้ภายในพระมหาเจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สร้างขึ้นในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา

วัดนพวงศารามเป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี 2477 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชทานทรัพย์ร่วมสร้างอุโบสถและเสด็จมาทรงยกช่อฟ้าเมื่อปี 2513วัดนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำราชสกุลนพวงศ์ โดยหลวงประสานคดี หรือหม่อมราชวงศ์กมล นพวงศ์ ได้ร่วมสร้างวัดขึ้น ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์หรือ หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ ทรงรับไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ปัจจุบันมีพระราชวราจารย์เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดปัตตานียะลา นราธิวาส มีพระภิกษุจำพรรษา 8 รูป

เวลา 12.58 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินี เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 บ้านบูกาสาแลแม ตำบลปะโดอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ในพื้นห่างไกลทุรกันดาร โดยราษฎรได้ร่วมกันบริจาคที่ดินจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 106 คน ได้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครบทั้ง 8 โครงการ อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมครูให้รู้จักสร้างสื่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งจัดห้องสมุดของเล่นเพื่อการเรียนรู้ และสร้างพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมองแก่นักเรียน, โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเน้นให้เรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐานอาชีพในชีวิตประจำวัน โดยนำผลผลิตมาประกอบอาหารภายในโรงเรียนได้อย่างเพียงพอ ลดภาวะการขาดสารอาหาร และควบคุมไม่ให้เป็นโรคขาดสารไอโอดีน ตลอดจนให้ความรู้แก่หญิงมีครรภ์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเห็นประโยชน์หญ้าแฝก และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน อาทิ การจัดฝึกอบรมวิชาชีพแก่เด็กนักเรียน และผู้ปกครอง รวมทั้งราษฎรในชุมชนที่สนใจ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด กรมอาชีวศึกษา และวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี สนับสนุนงบประมาณและส่งวิทยากรไปฝึกอบรม ตามความต้องการของราษฎรในชุมชน อาทิ การแปรรูปถนอมอาหาร และทำขนม ซึ่งสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการรวมกลุ่มกันทำจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

โอกาสนี้ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานที่ไปออกหน่วยบริการตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยในพื้นที่ มีราษฎรที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง และครอบครัวยากจนไปขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ 19 คน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จอย่างทั่วถึง

เวลา 15.43 น. เสด็จออก ณ ห้องประชุม อาคารเรือนรับรองพิกุลทอง ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสายหยุด เพ็ชรสุข รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  นำคณะกรรมการจัดการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2556 เฝ้าทูลละอองพระบาท และนำนักเรียนจากโรงเรียนอัตตัรกียะก์อิสลามียะห์ จังหวัดนราธิวาส ที่ชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2556 และอาจารย์ที่ควบคุมทีม เฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานถ้วยรางวัล

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด บริเวณพื้นที่ลุ่ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความหลากหลายของจุลินทรีย์ในบริเวณพื้นที่พรุโต๊ะแดงที่ยังไม่ถูกรบกวน และโครงการศึกษาการใช้จุลินทรีย์จากพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร ที่มีพระราชดำริเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่แปลงโครงการแกล้งดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2556 โดยทรงให้ศึกษาความหลากหลายโครงสร้างประชากรจุลินทรีย์ในพื้นที่พรุโต๊ะแดง ควรเพิ่มเติมการศึกษาดินบริเวณรากต้นมะฮัง และพื้นที่บริเวณใจกลางพรุด้วย ซึ่งคณะทำงานวิจัยจุลินทรีย์ในพื้นที่พรุได้เข้าไปเก็บตัวอย่างดินบริเวณใจกลางพื้นที่พรุโต๊ะแดง จำนวน 3 จุด ตามระดับชั้นความลึกของชั้นดิน4 ชั้น และบริเวณรากพืช พบว่าจุลินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ กระจายอยู่ในชั้นดิน ทั้ง 3 จุด และมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นจุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนแบบอิสระและสร้างกรดออกซิน และกรดจิบเบอเรลลิก (Gibberellic) กระจายตัวมากที่สุดในชั้นดินและบริเวณรากพืช ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ให้พืชเจริญเติบโตได้ดี

โอกาสนี้ ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการศึกษาการยุบตัวในพื้นที่พรุ จังหวัดนราธิวาส ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2526 ถึง 2533 ในพื้นที่พรุบาเจาะ พรุ-โต๊ะแดง และพรุกาบแดง พบว่าอัตราการยุบตัวเฉลี่ยของพื้นที่พรุบาเจาะ และพรุกาบแดงที่เป็นพื้นที่เขตพัฒนา มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การยุบตัวของดินอินทรีย์ จะยุบตัวสูงกว่า พื้นที่พรุโต๊ะแดง ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์และเขตสงวน ที่ยุบตัวตามธรรมชาติ ส่วนผลการดำเนินงานโครงการศึกษาพันธุ์ข้าวประจำถิ่นในจังหวัดนราธิวาส ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ได้เก็บรวบรวมพันธฺ์ข้าวหอมกระดังงา ในปี 2552 จากแปลงเกษตรในพื้นที่อำเภอตากใบ จำนวน20 ตัวอย่าง มาศึกษาวิจัยตามกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยทดลองปลูกในแปลงนาภายในศูนย์ฯ จนได้สายพันธุ์ดีเด่น 6 สายพันธุ์ นำมาปลูกคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ 1 สายพันธุ์จึงนำมาศึกษาเปรียบเทียบผลผลิต ทดสอบการต้านทานโรคและแมลง รวมทั้งการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน วิเคราะห์คุณภาพทางเคมี พบว่า สายพันธุ์ที่ได้มีลักษณะเด่น เป็นข้าวเจ้า มีสีและมีกลิ่นหอม มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในรูปของข้าวกล้อง จึงดำเนินการขอรับรองพันธุ์ต่อไป        

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙