แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วังไกลกังวล แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วังไกลกังวล แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล



วันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๕๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล จากนั้น ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลลงทะเลน้อย และพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลกับพันธุ์ปลาชนิดอื่น ๆ ลงทะเลอ่าวไทย ณ บริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล
ในโอกาสนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย
ปลานวลจันทร์ทะเล หรือชื่อเรียกอื่น ได้แก่ ปลาดอกไม้ ปลาทูน้ำจืด ปลาชะลิน มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า มิลค์ฟิช (Milkfish) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชาโนส ชาโนส (Chanos Chanos) อาศัยอยู่ทั่วไปในท้องทะเลเขตร้อน และมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบมากบริเวณทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เพชรบุรี และบางส่วนของจังหวัดตราด ทั้งนี้ ปลานวลจันทร์ทะเลจัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และไต้หวัน เนื่องจากมีรสชาติดี เจริญเติบโตเร็ว ทนทานต่อโรค สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ และเลี้ยงง่าย เพราะกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งตะไคร่น้ำ แพลงตอน ไรน้ำ รำข้าว ขี้แดด รวมถึงอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การที่กินพืชได้ ทำให้การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลใช้ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ที่กินเนื้อ เหมาะสมต่อการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงสร้างรายได้
ประเทศไทยสำรวจพบปลานวลจันทร์ทะเลเป็นครั้งแรกบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ และได้มีการเพาะเลี้ยงขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเลี้ยงปลาดังกล่าว ณ สถานีประมงคลองวาฬ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ทรงพบว่า ราษฎรในพื้นที่ได้นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อมาเลี้ยงในบ่อ ซึ่งสภาพน้ำแม้จะมีระดับความเค็มต่ำ แต่ปลานวลจันทร์ทะเลก็เจริญเติบโตได้ และสามารถขายได้ราคาดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นอาชีพ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจำนวนหนึ่ง ปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ขณะนั้นราษฎรยังมิได้ให้ความสนใจเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมากนัก เนื่องจากปลาชนิดนี้จะขยายพันธุ์เฉพาะแต่ในทะเลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี กรมประมงได้ทดลองเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๐๘ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเพื่อเป็นอาชีพ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริดังกล่าว ไปดำเนินการสานต่ออย่างจริงจัง
ราวปี ๒๕๔๘ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จึงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การเร่งให้วางไข่นอกฤดูกาล การผสมเทียม และการเพิ่มอัตราการอยู่รอดของลูกปลา พร้อมกับส่งเสริมให้ราษฎรนำปลา
ที่เพาะพันธุ์ได้ดังกล่าวไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพตามพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจะนิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้ในกระชัง บ่อพักน้ำ นากุ้งร้าง หรืออาจเลี้ยงร่วมในบ่อเดียวกับกุ้งขาว ทั้งนี้ การเลี้ยงรอบหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๘ เดือน จึงจะได้ปลาที่มีน้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ คือตัวหนึ่งราว ๖๐๐ – ๘๐๐ กรัม ใช้ต้นทุนการเลี้ยง ๒๕ – ๓๐ บาทต่อน้ำหนักปลา ๑ กิโลกรัม และสามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ ๖๕ – ๗๐ บาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของการส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล คือ ปลาชนิดนี้มีก้างมาก ระยะแรกจึงไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาด ส่งผลให้ราคาไม่ดึงดูดความสนใจแก่ผู้เพาะเลี้ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงแก้ไขปัญหาโดยหาแนวทางแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ให้สามารถบริโภคได้ง่ายขึ้น วิธีการหนึ่งคือเรียนรู้เทคนิคการถอดก้างปลามาจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งปลานวลจันทร์ทะเลสด เมื่อถอดก้างแล้ว จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลายเช่น ปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ ปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว รมควัน และต้มเค็ม เป็นต้นนอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ราษฎรรวมกลุ่มกันเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลอย่างครบวงจรในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ดังที่ปรากฏเป็นกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และกราบบังคมทูลรายงาน กับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ “กรมประมงกับความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล” จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรวีดิทัศน์การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล เวลา ๗ นาที และทอดพระเนตรปลานวลจันทร์ทะเลกับปลาทูจากการเพาะเลี้ยง เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๙๙ ตัว ลงทะเลน้อย วังไกลกังวล แล้วทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดต่าง ๆ ที่แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล
จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง และนางนิออน พันธ์แก้ว ผู้แทนกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเลก้างนิ่มอบชานอ้อย และปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังบริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๕๙ ตัว ปลากุดสลาด หรือชื่อสามัญว่า บลูสปอตด์ กรูปเปอร์ (Blue Spotted Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ปลาเก๋าปะการัง หรือ โครัล กรูปเปอร์ (Coral Grouper) จำนวน ๔๙ ตัว ปลาทราย หรือ โอเรียนทัล ซิลลาโก (Oriental Sillago)
จำนวน ๓๙ ตัว และปลาเก๋าเสือ หรือ ไทเกอร์ กรูปเปอร์ (Tiger Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ลงทะเลอ่าวไทย สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อเวลา ๑๘.๒๓ น.

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ในหลวง” พระพักตร์แจ่มใส เสด็จฯทอดพระเนตรโครงการชั่งหัวมัน

 

เมื่อ 16 ธ.ค.2556 ‘ในหลวง’ เสด็จฯ ไปโครงการชั่งหัวมัน ทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านปศุสัตว์ พร้อมพระราชทานนมแก่ลูกโคเพศผู้ พันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชี่ยน อายุ 25 วัน เมื่อเวลา 10.09 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปทอดพระเนตรผลการดำเนินงานโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ในส่วนของพื้นที่ปศุสัตว์ ในการนี้พระราชทานนมแก่ลูกโค อายุ 25 วัน เป็นเพศผู้ พันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชี่ยน หรือที่รู้จักกันในกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมทั่วไปว่า พันธุ์ขาว-ดำ โดยเกิดจากแม่โคในโครงการเลี้ยงโคนมชื่อ แม่ใบบัว ปกติลูกโคจะได้กินนมวันละ 2 เวลาเช้า-เย็น ครั้งละ 2 ลิตร โดยใช้นมสดที่รีดมาจากแม่โค สำหรับโคนมพันธุ์ดังกล่าวเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา โดยมีคุณลักษณะพิเศษคือ ให้น้ำนมเยอะ จากนั้นได้พระราชทานหญ้าแก่แม่โคนมจำนวน 9 ตัว


ทั้งนี้ โครงการเลี้ยงโคนมแห่งนี้ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2553 ในระยะแรกได้นำโคนมที่ปลดจากการให้นมแล้วจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดามาเลี้ยง 14 ตัว ต่อมาปี 2555 เริ่มนำแม่พันธุ์โคนมเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ 19 ไร่ เป็นโคนมที่สหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรชุมพร รวมทั้งฟาร์มโคนมโชคชัย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ปัจจุบันได้เพิ่มปริมาณมีแม่โคที่สามารถรีดน้ำนมได้ 9 ตัว มีโคท้อง 2 ตัว และลูกโคอีก 9 ตัว การรีดน้ำนมจะทำวันละ 2 เวลา คือ เวลา 07.00 น. และ 16.00 น. โดยน้ำนมสดที่ได้เฉลี่ยวันละ 150 กิโลกรัม จากนั้นส่งไปจำหน่ายที่สหกรณ์โคนมชะอำ กิโลกรัมละ 17 บาท เพื่อแปรรูปเป็นนมพาสเจอไรซ์ส่งให้โครงการนมโรงเรียนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โครงการชั่งหัวมันจะขยายโครงการเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งจะก่อสร้างโรงงานผลิตนมพาสเจอไรซ์ และนมสเตอริไลซ์ ขึ้นภายในพื้นที่โครงการ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการก่อสร้างดังกล่าวในวงเงิน 60 ล้านบาท และทางโครงการจะสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้รับซื้อน้ำนมดิบในปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเพียงพอสำหรับป้อนโรงงานในปริมาณวันละ 10 ตัน

 นอกจากนี้จะรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งแต่เดิมส่งน้ำนมดิบไปยังโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของเกษตรกรไม่ให้เดินทางไกล รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ โดยจะผลิตเป็นนมพาสเจอไรซ์ และสเตอริไรซ์ วางจำหน่ายในพื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และอ.หัวหิน รวมทั้ง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายแม่โคสาวเพิ่มให้โครงการอีกจำนวน 14 ตัว สำหรับเลี้ยงภายในโครงการ ซึ่งดำเนินงานโดยเน้นให้เป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรที่สนใจได้ศึกษาดูงานเพื่อนำไปพัฒนาดำเนินงานในพื้นของตนเองต่อไป ตามพระราชประสงค์ และพระราชดำริ ที่ทรงจัดตั้งโครงการแห่งนี้ขึ้นให้เป็นศูนย์รวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ และการสาธิตการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นโครงการตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้



ทั้งนี้นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษา กลุ่มเกษตรกร เข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง และราษฎรในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์จากโครงการในหลายด้าน ทั้งมีไฟฟ้าใช้ มีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร และใช้อุปโภคบริโภค ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมสะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังเก็บผลผลิตทางการเกษตรส่งจำหน่ายให้โครงการ ซึ่งส่งไปจำหน่ายต่อยังร้านโกลเด้นเพลสสาขาต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานและความคืบหน้าในแต่ละส่วนของโครงการเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 86 พรรษาในหลวง ณ วังไกลกังวล


ในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์กว่า 231 ปี มีการจัดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเหล่าบรรพกษัตริย์ต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งส่วนใหญ่การจัดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาจะจัดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

แต่มีประวัติศาสตร์กล่าวอ้างว่ามีเพียงครั้งเดียวที่ มีการจัดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ณ พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม

แต่กระนั้น เมื่อสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งตรวจสอบจากนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ กลับปรากฏหลักฐานว่ามีความเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการจัดพระราชพิธีเฉลิมพระ ชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ณ พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม

เพราะในวันที่ 1 มกราคม ของช่วงรัชสมัย อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 6 มักจะไม่เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม แต่มักจะเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังมฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรีแทน


ฉะนั้น ต่อการที่มีการจัดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2556 จึงถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัชกาลปัจจุบัน นับจากพระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ที่มีการจัดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ มหาสมาคม ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผล เช่นนี้ จึงทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 ครั้งที่ 2/2556 

ภาย หลังการประชุม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ในศุภวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 ว่าปีนี้มีกิจกรรมลักษณะพิเศษ คือการเสด็จออกมหาสมาคมที่ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวลจ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 5 ธันวาคมเวลา 10.30 น. 

สำหรับ การเสด็จออกมหาสมาคมที่วังไกลกังวลนั้น เป็นการเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชฐานต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกในรัชกาล ปัจจุบัน เนื่องจากภายในศาลาราชประชาสมาคมจัดพื้นที่เพื่อให้พระราชวงศ์ และข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ เฝ้ารับเสด็จได้ประมาณ 600-800 คน ในวาระเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทหารรักษาพระองค์เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณด้วย 

ในส่วนของประชาชน มีโอกาสชมพระบารมีในระหว่างเส้นทางเสด็จฯ จากพระตำหนักที่ประทับมายังศาลาราชประชาสมาคม โดยใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ที่สามารถรองรับประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 10,000 คน 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะมาเฝ้า รับเสด็จ โดยจัดให้มีจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ตลอดเส้นทาง พร้อมทั้ง บริการความสะดวกอื่น ๆ เช่น น้ำดื่ม, อาหารว่าง, หน่วยพยาบาล และสุขาเคลื่อนที่ เพราะเป็นวาระสำคัญที่ประชาชนคนไทยจะได้มีความสุขร่วมกัน 

ขณะที่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยจะถ่ายทอดพระราชพิธีนี้ โดยละเอียด เพื่อให้ผู้ชมติดตามรายละเอียดงานพระราชพิธีโดยใกล้ชิดด้วย

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ ที่ทุกส่วนราชการ รวมทั้งภาคเอกชนร่วมกันจัดขึ้นดังนี้ 

หนึ่ง การจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในเวลา 19.29 น. ของวันที่ 5 ธันวาคม ทั่วทั้งประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมกิจกรรมดังกล่าวกับมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ที่ท้องสนามหลวงเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา

สอง การแสดงวงโยธวาทิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 "1 คีตมหาราชาในดวงใจ โยธวาทิตไทยสู่สากล" ของกองทัพไทย ที่สนามกีฬากองทัพบก ในวันที่ 17 ธันวาคม 2556 

สาม การจุดพลุเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 "ดวงประทีปพราวนภา เทิดราชาราชินี บารมีศรีแผ่นดิน ครั้งที่ 6" ของกระทรวงกลาโหม ที่ชายหาด อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 21 ธันวาคม เวลา 21.00 น.เป็นต้นไป 

นอกจากนี้ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2556 รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเตรียมการจัดงานไว้พร้อมแล้ว

ขณะที่ เทศบาลเมืองหัวหิน เตรียมธงโบก ทั้งธงตราสัญลักษณ์และธงชาติ จำนวน 11,000 ธง เทียนสีเหลืองอีก 10,000 เล่ม พร้อมน้ำดื่มสำหรับประชาชนด้วย โดยเบื้องต้นมีตัวแทนประชาชนที่แจ้งชื่อขอเข้าเฝ้ารับเสด็จ ทั้ง 8 อำเภอ พร้อมทั้งส่วนราชการ ราว 9,600 คน มารอเฝ้ารับเสด็จ ตั้งแต่อุโมงค์สนามบินหัวหินจนถึงวังไกลกังวล รวมระยะทางเกือบ 5 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงต่าง ๆ ที่ทราบข่าวการเสด็จพระราชดำเนินของทั้ง 2 พระองค์ จะหลั่งไหลมาเข้าเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก เพราะทุกคนต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการเสด็จแปรพระราชฐาน ณ มหาสมาคม ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ในหลวงเสด็จลอยพระประทีป


เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เวลา 16.39 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ ท่าลัดดา วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงประกอบพิธีลอยพระประทีป เนื่องในวันลอยกระทง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙