แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประชาธิปไตย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประชาธิปไตย แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระมหากษัตริย์ กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย


วัฒนธรรมไทยเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย หากจะขยายความคำว่าเอกลักษณ์ของชาติคือ ลักษณะของสิ่งทั้งหลาย หรือพฤติกรรมทั้งมวลในชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับฝังลึกอยู่ในกระบวนการชีวิตและจิตใจของคนไทย โดยมีวัฒนธรรมประจำชาติเป็นสิ่งพื้นฐาน เอกลักษณ์จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรม

เอกลักษณ์ของชาติมีองค์หลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศ กลไกในการปกครอง ตลอดจนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยเหตุผลที่ว่า

1. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติศักดิ์ เพราะทรงมีพระราชตระกูลสูง ย่อมทำให้เกิดความไว้วางใจและศรัทธาต่อพระองค์ สมคำกล่าวที่ว่า “พระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น”

2. เหตุที่ทรงรับตำแหน่ง เพราะสืบราชสันตติวงศ์ ไม่ใช่เพราะคะแนนเสียงจากผู้ใด จึงทำให้ทรงเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างแท้จริง มีผลให้ทรงประสานผลประโยชน์ของชาติลุล่วงได้ด้วยดี

3. เพราะทรงเป็นประมุขของประเทศอย่างถาวร ทำให้ทรงมีโอกาสสะสมประสบการณ์ มีพระปรีชาสามารถ เข้าพระราชหฤทัยถึงปัญหาของการบริหารราชการ

4. ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นชาติและความสามัคคีของคนในชาติ ในขณะที่นักการเมืองอื่นไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อมีการเมืองเข้าเกี่ยวข้องก็อาจเกิดความขัดแย้งกันได้

โดย มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งกำหนดพระราชอำนาจที่จำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศไทย พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายที่มิได้กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ถึงกระนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับทรงนิยามพระราชกรณียกิจของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ไทยคือ การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรทุกหมู่เหล่าในแผ่นดินไทย พระองค์ทรงเลือกที่จะเป็นพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพสกนิกรของพระองค์ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่า คนไทยกับพระมหากษัตริย์นั้นคู่กันมาตั้งแต่เป็นชาติไทยแล้ว ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จึงได้ดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้แต่ให้ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ดังพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 บัญญัติว่า “มาตรา 3 กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามกษัตริย์”

เมื่อรัฐธรรมนูญตกลงในหลักการที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติแล้ว ก็จำเป็นต้องถวายความเคารพยกย่องพระราชฐานะ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 จึงบัญญัติว่า “มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และกำหนดโดยปริยายว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง กล่าวคือ ต้องทรงวางพระองค์เป็นกลาง ไม่เข้ากับพรรคการเมืองใด การปรึกษาราชการแผ่นดินต้องทรงกระทำกับคณะรัฐมนตรีหรือคณะองคมนตรีเท่านั้น และจะต้องทรงปลีกพระองค์จากปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง คือไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในที่สาธารณะ ในทางกลับกัน ย่อมถือเป็นมารยาททางการเมืองว่านักการ เมืองจะไม่อ้างถึงพระมหากษัตริย์ว่าทรงพระกรุณาแก่ตนเป็นพิเศษอย่างใดรวม ทั้งไม่นำพระราชกระแสพระราชดำริทางการเมืองออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยเด็ดขาด

พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติทางรัฐสภา ดังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 บัญญัติว่า “มาตรา 93 ร่างบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”

อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดที่ไม่ทรงเห็นชอบด้วย ด้วยการพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือทรงเก็บร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ ในกรณีที่พระราชทานร่างพระราชบัญญัติคืนมา หรือพ้น 90 วันแล้วยังไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยว่าสองในสามของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง หากไม่ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้ บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (มาตรา 98)

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยยังคงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานพระราชดำริเป็นการเตือนสติแก่รัฐสภา รัฐสภาต้องพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายนั้นเป็นกรณีพิเศษ ใช้คะแนนเสียงข้างมาก และอำนาจในการชี้ขาดขั้นสุดท้ายก็เป็นของรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวทรงปฏิบัติพระองค์ตามทศพิธราชธรรม จะเห็นได้จากพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจต่างๆ ทรงปฏิบัติอย่างเที่ยงตรงต่อภาระหน้าที่ เที่ยงตรงต่อเวลา เที่ยงตรงต่อพระราชปณิธานในพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรโดยมิได้ละเลย และย่อท้อ

โดยเฉพาะทศพิธราชธรรมข้อที่เก้า คือขันติ อดทนต่อทุกสิ่งที่มากระทบต่อพระวรกาย และพระราชหฤทัย ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในกรอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศว่า พระองค์ทรงเป็น “ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์”

ตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม


**บางส่วนจากหนังสือ เย็นศิระเพราะพระบริบาล ของทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙