แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ผู้หญิง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ผู้หญิง แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระเกียรติยศแด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ราชินีผู้งามที่สุดในโลก
ครั้งหนึ่งในปี 2503 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนประเทศโปรตุเกส หนังสือพิมพ์ที่นั่นพาดหัวตัวใหญ่ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ราชินีผู้งามที่สุดในโลก” ความข้อนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาพสกนิกรทั่วโลก แต่ความงามนี้เป็นเพียงความงดงามภายนอก


และความงามภายนอกไม่อาจเทียบเท่าความงามภายในที่ทรงสั่งสมมาตั้งแต่ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเคียงข้างพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นความงามที่โลกร่ำลือ และกราบคารวะน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ เป็นความงามที่เพียบพร้อม และยังไม่อาจมีผู้ใดเสมอเหมือน ดังจะดูได้จากรางวัลต่างๆที่ทรงได้รับจากสถาบันอันทรงเกียรติทั้งในและนอกประเทศ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติ ศาสนา และปวงชน เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอด เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระสวามีในการอุปถัมภ์บำรุงพสกนิกร ให้มีความอยู่ดีกินดี มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง มีการศึกษา มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพการงาน มีความรักชาติบ้านเมือง และนิยมในศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ


ทั้งยังทรงดูแลไปถึงสภาพแวดล้อม และอนุรักษ์สรรพสิ่ง พระมหากรุณาธิคุณนี้ไม่เลือกเพศ ผิวพรรณ และชาติชั้นวรรณะใดๆ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเป็นที่ประจักษ์ต่อคนไทยทั้งชาติ ทั้งยังเลื่องลือไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย

พระเกียรติคุณแห่งพระราชกรณียกิจอเนกประการนี้ เป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนอกประเทศทั่วโลก จึงมีผู้ขอทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาและรางวัลเกียรติยศเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณเป็นอันมาก


เหรียญเซเรส (Ceres Medal) เป็นรางวัลที่ทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มอบแด่สุภาพสตรีที่มีส่วนช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของสตรีทั้งปวง

ดังคำจารึกที่ด้านหลังเหรียญเซเรสมีว่า “TO GIVE WITHOUT DISCRIMINATION” หรือในภาษาไทยว่า “ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” อันเป็นคติประจำพระทัยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

โดยทางผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรส เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อันเนื่องมาจากการที่ทรงเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล และทรงพยายามที่จะยกระดับเศรษฐกิจกับสวัสดิการทางสังคม

ดังความตอนหนึ่งในคำประกาศสดุดีว่า “โดยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แห่งประเทศไทย มีพระราชหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม พระราชทานพระมหากรุณาอนุเคราะห์เกื้อกูลพสกนิกรชาวไทยทั้งมวลอยู่เสมอมิได้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ขัดสนจนยากในท้องถิ่นชนบท ดังเห็นได้จากการที่ทรงทุ่มเทอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกำลังพระวรกาย หรือกำลังทรัพย์ โดยไม่ทรงคำนึงถึงพระองค์เองเลยแม้แต่น้อย พระราชทานความร่วมมือแก่องค์การสังคมสงเคราะห์กับองค์การกุศลต่างๆ อันมุ่งที่จะหาทางบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ยากจนทั้งหลาย โดยจัดหาอาหารเลี้ยงดูผู้อดอยากขาดแคลน ตลอดจนแสวงหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีอันต้องตกระกำลำบาก รวมทั้งบรรดาเด็กกำพร้าที่ไร้ญาติขาดมิตรทั้งหลายทั้งปวง”


นักอนุรักษ์ดีเด่นด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้นทรงงานร่วมกับ WWF ประเทศไทยมายาวนาน MR. Russel Train ประธานกรรมการบริหารของกองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งโลก จึงทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเทิดพระเกียรติ ในวโรกาสที่ทรงได้รับเลือกเป็นนักอนุรักษ์ดีเด่นด้านอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้กับองค์กรดังกล่าว ทั้งยังทรงริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อหาทุนช่วย WWF นอกจากนี้ทาง WWF ยังได้มีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงริเริ่ม นั่นคือโครงการอนุรักษ์ช้าง และโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลบนเกาะมันใน โดยมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงเป็นผู้นำที่ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย และทรงพยายามที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น ทั้งสำหรับมนุษย์และธรรมชาติ


สมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งกรุงลอนดอน

“เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศในพระมหากรุณาธิคุณ พระวิริยะอุตสาหะ และพระเกียรติคุณด้านการแพทย์ การสาธารณสุขและสังคมที่พระราชทานแก่พสกนิกร เพื่อช่วยลดปัญหาการเจ็บไข้ได้ป่วย และส่งเสริมสุขภาพอนามัยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในขบวนเสด็จ ที่ให้บริการแก่ประชาชนที่ยากจนเป็นประโยชน์แก่ประชาชนเอง และสร้างความจรรโลงใจให้อายุรแพทย์และแพทย์ทั้งหลายสนใจที่จะปฏิบัติงานในชนบทมากขึ้นกว่าเดิม”


นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความในประกาศพระเกียรติคุณที่ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งกรุงลอนดอน (The Royal College of Physician of London) ทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมกับสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ (The Honorary Fellowship of the Royal College of Physician of London) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2531 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เหรียญบุโรพุทโธทองคำ
เหรียญบุโรพุทโธทองคำ (Unesco Borobudur Gold Medal) นั้น เป็นเหรียญที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco) สร้างขึ้นเมื่อปี 2519 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการผดุงรักษาไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของประชาคมโลก


วันที่ 30 มกราคม 2535 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มิสเตอร์เฟเดอริโก้ มายอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญบุโรพุทโธทองคำ ในงานมรดกสิ่งทอของเอเชีย ดังความในคำประกาศสดุดีตอนหนึ่งว่า

“พระราชกรณียกิจของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ทรงมีต่องานศิลปหัตถกรรมนั้น นอกจากจะเป็นการฟื้นชีวิตแก่ผู้ยากไร้แล้ว ยังช่วยให้ช่างทั้งหลายมีรายได้สม่ำเสมอ ซึ่งหากปราศจากพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว งานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ก็คงจะสูญสิ้นไป จึงนับได้ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้พัฒนางานศิลปาชีพอย่างสมบูรณ์ ตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติที่ได้ดำเนินมาทั่วโลกคือ การส่งเสริมพัฒนาการของประเทศตามแนววัฒนธรรม เป้าหมายที่มีร่วมกันคือ การจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณประโยชน์แก่มวลชน”


UNICEF Special Recognition Award

เหรียญรางวัลพิเศษเพื่อสดุดีพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถขององค์การกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ตั้งอยู่บนฐานไม้ซึ่งสลักคำสดุดีไว้ว่า

“To Her Majesty Queen Sirikit In Recognition of Her Dedication and Profound Commitments to Improving the Lives of Mothers and Children in Thailand”

องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลพิเศษเพื่อสดุดีพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2535 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ระสานงานและดำเนินการจัดถวาย

ความในคำสดุดีพระเกียรติ ซึ่งมิสซิสคาริน ชัมพู รองผู้อำนวยการบริหารขององค์การยูนิเซฟกล่าวตอนหนึ่งว่า “ในช่วงเวลา 42 ปี นับแต่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรไทย เด็กและแม่นับล้านๆคน ได้รับประโยชน์จากบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ อาทิเช่น บริการสาธารณสุข การศึกษาและการส่งเสริมอาชีพ โดยผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิหรือโครงการทั้งหลายภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ และรวมทั้งที่เป็นผลจากกระแสพระราชเสาวนีย์และพระราชดำริต่างๆด้วย”

รางวัลแห่งความเป็นเลิศของกองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ
ในวันเดียวกันนั้นเองคือ วันที่ 2 สิงหาคม 2535 กองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศของกองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร อันเป็นรางวัลสากลที่ยูนิเฟมมอบแด่ผู้นำที่แสดงให้ประจักษ์ชัดถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะส่งเสริมบทบาทของสตรีละประกอบกิจกรรมด้านนี้อย่างเป็นเลิศ


มิสซิส Sharon Capling – Alakya ผู้อำนวยการกองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล โดยมีข้อความในคำประกาศพระเกียรติคุณตอนหนึ่งว่า

“ความห่วงใยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและในด้านสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยให้สตรีไทยได้ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น สตรีเป็นผู้พิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นแหล่งรวบรวมความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นนั้นๆ การที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเข้าพระราชหฤทัย และทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของบทบาทสตรีในด้านนี้ ได้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ชนในชาติได้รับรู้ถึงบทบาทของสตรีไทยที่มีส่วนส่งเสริมพัฒนาการของประเทศ”

บทความจาก นิตยสาร Hello

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙