แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ใต้ร่มพระบารมี แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ใต้ร่มพระบารมี แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ใต้ร่มพระบารมี


ไม่มีพื้นแผ่นดินใดในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขพสกนิกรของพระองค์ท่านเสด็จฯไปทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะลำบากยากเย็นสักเพียงไรก็ตาม

  ระหว่างเดือนกันยายนถึงยังตุลาคมของทุกปี แม้อากาศทั่วประเทศไทยจะเริ่มเย็นลงเพราะย่างเข้าสู่ฤดูหนาว แต่ทว่าหัวใจของพสกนิกรที่อาศัยจังหวัดทางภาคใต้กลับอบอุ่นอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะนั่นคือช่วงระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะทรงเยี่ยมเยือนพสกนิกรทุกหมู่เหล่าของพระองค์อย่างใกล้ชิดและจะได้ทรงทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรเหล่านั้น เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงหาทางช่วยเหลือเพื่อให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนภาคใต้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยทรงเริ่มจากจังหวัดชุมพรไปจนถึง นราธิวาสจังหวัดใต้สุดที่ติดชายแดนมาเลเซีย รวมเวลาทั้งสิ้น 22 วัน โดยทรงประกอบพระราชกรณียกิจและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆมากมาย

  สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสด็จเยือนปัตตานีเป็นจังหวัดแรก ตามด้วยยะลา และนราธิวาส การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นมีพสกนิกรทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมหลั่งไหลมาเฝ้าแหนเพื่อคอยรับเสด็จอย่าง  “มืดฟ้า มัวดิน”  

  ทุกคนที่เดินทางมารับเสด็จต่างมิได้ย่อท้อต่อระยะทางไกลจากภูมิลำเนาของตนแต่อย่างไรเลย ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นได้จารึกไว้ว่า ผู้คนที่มาเฝ้ารอนั้นมีจำนวนมากมายจนกระทั่งบางคนถึงกับต้องลงไปยืนแช่น้ำในชายฝั่งทะเลสาบสงขลาเพราะทุกพื้นที่ต่างถูกจับจองเต็มไปหมด พสกนิกรต่างเดินทางมารับเสด็จเพื่อถวายความจงรักภักดีและชื่นชมพระบารมีอย่างล้นหลาม

  การเสด็จฯเยือนภาคใต้ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เหล่าพสกนิกรได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดโดยไม่ได้ทรงถือพระองค์ และเขาเหล่านั้นก็ได้แสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามแบบวัฒนธรรมของตน เช่น บางคนปูผ้าเช็ดหน้าเพื่อให้พระองค์ท่านทรงพระราชดำเนินประทับรอยพระบาท

  จากนั้นนำรอยพระบาทไปเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคล บางคนขอพระราชทานพระหัตถ์ของพระองค์ท่านขึ้นทูนเหนือศรีษะ เพื่อความเป็นสิริมงคลอันสูงสุดเช่นกัน ส่วนชาวไทยมุสลิมได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจูบพระหัตถ์อันเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด

  ที่จังหวัดนราธิวาสชาวไทยมุสลิมได้เชิญเสด็จเข้าประทับในสุเหร่า ทั้งๆที่ตามประเพณีทางศาสนาอิสลามจะไม่อนุญาตให้คนต่างศาสนาเข้าไปในศาสนสถานของตน 

  บางจังหวัดราษฎรได้นำสิ่งของที่มีค่าประจำตะกูลมาทูลเกล้าฯถวาย เช่น ดาบ พระพุทธรูปเก่าแก่ ซึ่งไม่ว่าราษฎรจะปฎิบัติต่อพระองค์ท่านเช่นไร พระองค์ท่านก็มิได้ทรงถือพระองค์แต่อย่างไรเลย  ยังความปิติและเป็นขวัญกำลังใจต่อราษฏรอย่างล้นพ้น

  หลังจากเสด็จฯเยือนภาคใต้เป็นครั้งที่ 2  ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์แทบทุกปี โดยนำมาซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายนับเป็นร้อยโครงการ อาทิ ด้านการเกษตร การชลประทาน การฟื้นฟูดินเปรี้ยว คมนาคม สาธารณสุข การศึกษา และด้านอื่นๆ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นในการพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนานี้ส่งผลให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

  ดังจะขอยกตัวอย่างส่วนหนึ่งด้วยเรื่องเล่าจากความซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัย ดังนี้

จันทร์ ชาญแก้ : เกษตรกร

บรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่าของจันทร์ ชาญแก้ ล้วนทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติมาโดยตลอด จึงไม่น่าจะเป็นคำกล่าวที่เกินไปนัก หากจะบอกว่าภายในกายของเขามีสายเลือดความเป็นเกษตรกรอยู่อย่างเข้มข้นในทุกอณู

  “ผมเป็นเกษตรกรอยู่ในหมู่บ้านโคกอิฐ-โคกใน จังหวัดนราธิวาส ครับ ผมมีที่ดินทั้งหมด 11 ไร่  ที่ใช้ทำนาทำสวนกันมาหลายชั่วคน ในบริเวณนี้มีปัญหาดินเปรี้ยวเช่นเดียวกับหมุ่บ้านอื่นๆ พื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหามากหน่อยก็ทำนาไม่ได้ผลเลย แต่เราก็ทำกันมาตามมีตามเกิด จนกระทั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยการขุดยกร่องสวน รวมถึงแจกหินปูนฝุ่นเพื่อมาโรยปรับปรุงดิน จากนั้นดินก็มีคุณภาพดีขึ้น แล้วเจ้าหน้าที่ เขาก็ให้พันธุ์ไม้อย่างกระท้อน เงาะ มะนาว  ส้มโอ มะพร้าวมาปลูก ประมาณ 3  ปีต่อมาผมก็มีผลผลิตมากพอที่จะนำไปขายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว”

  ยากจะอธิบายได้ว่าเกษตรกรนักสู้คนนี้มีมีความรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างไรต่อพระเมตตาปราณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทำให้เขามีชีวิตที่เป็นสุขได้ในทุกวันนี้ แต่จันทร์บอกกับเราว่าเป็นเรื่องยากมากกว่านั้นหากจะให้เขากล่าวถึงความในใจเมื่อครั้งได้เข้าเฝ้าฯพระองค์ท่านโดยบังเอิญเมื่อปี พ.ศ. 2517

  “ตอนนั้นผมอายุประมาณ 20 ปี กำลังดำนาอยู่ในแปลงข้างถนนแล้วเห็นขบวนรถแล่นมาจอด ผมจึงขึ้นจากนาไปดูใกล้ๆ ก็เห็นในหลวงทรงเปิดประตูรถแลนด์โรเวอร์พระที่นั่งลงมา แค่เห็นแวบแรกผมก็จำพระองค์ท่านได้ทันที ผมตกใจมาก ผมรีบคุกเข่าลงแล้วก็ประนมมือไหว้ ในครั้งนั้นสมเด็จพระเทพฯก็ตามเสด็จด้วย แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ตอนนั้นผมนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว เสื้อก็ไม่ได้ใส่ แต่ในหลวงก็ได้มีพระราชปฎิสันถารกับผมนานประมาณ 1 ชั่วโมงครับ  พระองค์ท่านทรงถามว่าพื้นที่บริเวณนี้มีทั้งหมดกี่ไร่ ผมยังดีใจที่ตอบได้ใกล้เคียงว่าประมาณสองพันไร่”

  “…พอตรัสถามว่าอำเภอนี้มีทั้งหมดกี่โคก ผมก็ไล่ชื่อทั้งหมดให้ฟัง โดยที่พระองค์ท่านทอดพระเนตรแผนที่ตามไปด้วย นอกจากนั้นก็ยังทรงซักถามถึงปัญหาต่างๆของราษฎรด้วย สุดท้ายพระองค์ท่านทรงชี้ไปยังทางที่ทุรกันดารว่า  รถจะสามารถแล่นผ่านไปได้ไหม ผมก็กราบบังคมทูลไปตามตรงว่าไม่ได้  เพราะไม่มีถนน

  ก่อนเสด็จฯกลับพระองค์ท่านจึงตรัสว่า  อีกหนึ่งสัปดาห์จะเสด็จฯ ไปทางนั้นให้ได้ เพื่อสำรวจแหล่งน้ำและตรวจดูว่ามีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมากน้อยแค่ไหน  วันต่อมาผมก็เห็นรถแทรกเตอร์และรถขนดินเข้ามาทำถนนจนเสร็จภายใน 3 วัน จากนั้นในหลวงก็เสด็จฯไปเยี่ยมประชาชนจนได้”

  เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้จันทร์รู้ซึ้งถึงพระวิริยะอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง เพราะทรงมีประโยชน์สุขของพสกนิกรเป็นที่ตั้ง

  “หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จฯมาครั้งนั้น  ในภาคใต้ก็เริ่มมีการพัฒนาต่างๆ ตามมามากมาย เพราะเมื่อทรงพบว่าราษฎรมีปัญหาอะไรก็จะทรงช่วยคิดหาทางแก้ไข แล้วในปีต่อๆมาก็เสด็จฯ มาเยี่ยมเยียนพวกเราเป็นประจำ

  บางครั้งพระองค์ท่านทรงลุยป่าลุยน้ำลุยคลองเข้าไปในพื้นที่ที่ยากลำบาก ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่าคนไทยมีบุญมากที่มีในหลวง  เวลาที่พระองค์ท่านเสด็จฯมา  ผมจะไปเฝ้าฯรับเสด็จทุกครั้ง ปีที่แล้วผมก็ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพฯ  เพราะเมื่อผมเป็นเกษตรกรในโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ก็ทำให้ได้ผลผลิตงดงามมาก พระองค์จึงเสด็จฯไปทอดพระเนตรสวนของผม

“…สมเด็จพระเทพฯรับสั่งถามเรื่องการเกษตรและเรื่องน้ำเป็นหลัก พระองค์ทรงจำผมได้ เพราะผมเข้าเฝ้าฯบ่อย และตอนที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นประจำปี พ.ศ.2547 และ พ.ศ. 2551 ผมก็ไปรับพระราชทานจากพระองค์ พระองค์ทรงเป็นกันเองมาก ไม่ทรงถือพระองค์ครับ อย่างตอนที่มีคนเรียกผมว่า “ลุงจันทร์” พระองค์ก็ตรัสว่า “อย่างนี้ไม่น่าจะเรียกว่าลุงจันทร์นะ น่าจะเรียกว่าพี่จันทร์มากกว่า”  (หัวเราะ)  ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระอารมณ์ขัน ทำให้เป็นที่รักยิ่งของชาวบ้าน เช่นเดียวกับในหลวงที่ทรงเป็นดั่งศูนย์รวมดวงใจของเราทุกคน”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงให้อย่างไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดตอบแทน ทุกวันนี้พื้นที่สวนของจันทร์พัฒนาขึ้นจาก 11 ไร่ เป็น 20 ไร่ โดยเขายึดมั่นทำการเกษตรตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“เมื่อก่อนผมไม่มีอะไรเลย ข้าวก็แทบจะไม่พอกิน แต่ตอนนี้ความเป็นอยู่ต่างกันมาก ผักผลไม้ก็มีกิน แล้วผมก็เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงวัวด้วย สมาชิกในครอบครัวของผม 6 คน อยู่กันอย่างสบาย ถ้าไม่มีในหลวงที่ทรงเป็นห่วงเป็นใยประชาชนชีวิตของผมคงไม่ดีขึ้นอย่างนี้ สิ่งที่พระองค์ท่านทรงให้ไม่ใช่ให้แล้วก็จบ แต่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่ครอบครัวของผมเท่านั้นนะครับ ประชาชนกว่าสองพันคนในแถบนี้ต่างเป็นหนี้บุญคุณพระองค์ท่านอย่างที่ชาตินี้ไม่มีวันใช้ได้หมด หลังจากที่ในหลวงไม่ได้เสด็จฯมาภาคใต้นานแล้วด้วยทรงมีพระอาการประชวร พวกเราทุกคนก็คิดถึงพระองค์ท่านมาก”

ถ้ามีโอกาสได้ไปเยี่ยมในหลวง ผมจะถวายพระพรให้มีพระพลานามัย ที่แข็งแรงและมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน อยู่เป็นพระมิ่งขวัญของพวกเราตลอดไป”

 เพียร สอิ้งทอง : เกษตรกร

จากชายหนุ่มลูกอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมืองปักษ์ใต้ เพียร  สอิ้งทอง หวังว่าเขาจะสามารถสร้างชีวิตที่เปี่ยมสุขได้บนผืนแผ่นดินนี้ แต่ด้วยปัญหานานัปการที่มี ความฝันของเขาคงจะไม่อาจเป็นจริงได้เลยหากปราศจากน้ำพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“เดิมที่ผมเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ แถวนั้นถึงจะปลูกพืชผักได้ง่ายแต่ก็ขายยาก ไม่ค่อยได้กำไร ผมกับภรรยาจึงย้ายเข้ามาทำงานที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ตั่งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ตัดไม้บ้าง กรีดยางบ้าง ใครจ้างทำอะไรก็ทำหมด เพราะความรู้ก็ไม่มี ผมจบแค่ชั้น ป. 4   เท่านั้น แม้ไมถึงกับต้องอดมื้อกินมื้อแต่ก็ทำงานหนักมากกว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2549  ภรรยาผมพาลูกไปหาหมอแล้วเผอิญสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯมาทรงเยี่ยมราษฎรในวันนั้นพอดี พระองค์ท่านจึงพระราชทานเงินช่วยเหลือมาหนึ่งหมื่นบาท

….จากนั้นก็ทรงพระเมตตาให้ภรรยาของผมไปทำงานทอผ้า ส่วนผมก็ไปฝึกงานแกะสลักไม้ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทำให้ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนที่แกะสลักไม้ด้วยกัน ว่าอยากจะหาที่ปลูกผักขาย แล้วก็นับเป้นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ในหลวงพระราชทานที่ดินทำกินในโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ผม 3  ไร่ ซึ่งก็ถือเป็นรุ่นที่เข้าไปบุกเบิกเลย สมัยนั้นยังเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวแต่ผมก็พยายามพัฒนาดินให้ทำการเกษตรได้  ในระหว่างที่ผมกำลังถางหญ้าอยู่ พอดีคุณนรา สุขไชย เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนพิกุลทองฯ มาพบเข้า เขาเห็นผมเป็นคนขยันเลยส่งเสริม

… ตอนแรกผมก็ปลูกอะไรไม่ได้มาก เพราะดินยังมีความเปรี้ยวอยู่ ผมจึงเริ่มจากพืชล้มลุกพวก ถั่ว แตง มะเขือ โดยทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำหินปูนฝุนและแร่โดโรไมท์มาให้เพื่อช่วยปรับปรุงดิน ทุกวันนี้ปัญหาดินเปรี้ยวก็ยังมีออยู่บ้างแต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ผมพบว่าสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้มากที่สุดก็คือ หญ้าแฝก เพราะหญ้าแฝก จะอุ้มน้ำช่วยให้ดินร่วนซุย ผมจึงปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวในร่องสวน หรือเวลาปลูกมะนาว ผมก็จะปลูกหญ้าแฝกล้อมเป็นวงกลม รวมถึงนำมาปูเป็นพรมบริเวณใต้ต้นด้วย  วิธีการนี้ได้ผลดีมากครับ”

เพียรถือเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ต่อยอดแนวพระราชดำริไปสู่การเพาะปลูกที่เหมาะสมกับตัวเอง เนื่องจากเขาเป็นคนมานะอดทน และใฝ่เรียนรู้ จากที่เพื่อนบ้านเคยปรามาสว่าการปลูกหญ้าแฝกไม่น่าช่วยอะไร ในวันนี้เขากลับได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นผู้ปลูกและส่งเสริมหญ้าแฝก และเกษตรกรดีเด่นประจำปี พ.ศ.2553 รวมถึงเป็นแบบอย่างของวิถีการเกษตรที่แพร่หลายในจังหวัด

“ทุกวันผมจะตื่นประมาณตีสี่ตีห้ามาทำงาน เหนื่อยเมื่อไรก็พัก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ   ล่าสุดก็เพิ่งทำนาไป 2 ไร่ ช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา ผมไม่ได้ผลกระทบอะไร เพราะการชลประทานเขามาจัดระบบให้ดีขึ้นตามพระราชดำริของในหลวง ที่ผ่านมาเวลาน้ำท่วมผลผลิตของผมจะเสียหายมากกว่านี้ แต่ปีนี้ถือว่าโชคดีมาก นี่ก็ได้ยินมาว่าอาจจะมีน้ำท่วมอีกระลอก แต่ผมก็ไม่หยุด ต้องทำต่อไป เรื่อยๆ อันไหนขายได้ก็ขาย ต้นอะไรล้มตายก็เอาไปทำปุ๋ยหมัก ผมไม่เคยท้อแท้หรอกครับ ดูอย่างในหลวงท่านทรงงานหนักกว่านี้มากก็ยังไม่เคยหยุด  ผมทำเพื่อครอบครัวเดียว แต่พระองค์ท่านทรงทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศเชียวนะ

…ตอนนี้ผมมีพื้นที่สวน 6 ไร่ ปลูกพืชเยอะมาก ทั้งมะนาว  ชะอม บัวบก  ผักกาดนกเขา กล้วย มะละกอ  โดยช่วยกันดูแลกับภรรยา และมีลูกๆมาช่วยบ้าง ผมมีลูกทั้งหมด 7 คน โดยมีสองคนไปอยู่กับ ตายายที่อีสาน แต่ผมก็มีรายได้พอเพียงที่จะเลี้ยงพวกเขาทุกคน เมื่อก่อนตอนทำงานรับจ้างผมมีรายได้วันละ 200 บาท แต่เดี๋ยวนี้ขายผลผลิตได้วันละ 800 บาท อย่างมะนาวในสวนก็จะสามารถเก็บขายได้อย่างน้อยวันละ 20 กิโล และจะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่เลย เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนชีวิตของผมจึงนับว่าดีขึ้นมาก”

จากชีวิตที่เปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัว เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ท่าน ในแววตาของเกษตรกรแห่งบ้านมูโนะจึงเต็มไปด้วยน้ำตาคลอหน่วย

“ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดีครับคำถามนี้มีคนถามผมบ่อย และทุกครั้งผมก็อยากจะตอบให้ดีที่สุด แต่พอพูดทีไรน้ำตาก็ไหล (เสียงสั่นเครือ)  เพราะพระองค์ท่านทรงให้ชีวิตใหม่กับผมและครอบครัว ผมอยากให้โครงการในพระราชดำริทั้งหลายคงอยู่ต่อไป เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือคนยากคนจนให้มีอยู่มีกิน ทุกวันนี้ผมมีความรู้อะไรเกี่ยวกับการเกษตรก็พยายามที่จะเผยแพร่แก่ผู้อื่น เพราะในหลวงทรงเป็นตัวอย่างให้เห็น เมื่อทรงให้แก่เราแล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะเผื่อแผ่แก่คนอื่นบ้าง ผมจึงบอกไม่ถูกจริงๆ ว่าพระองค์ท่านยิ่งใหญ่แค่ไหนในความรู้สึกของผม”

แม้เพียรจะไม่สามารถอธิบายความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลของตนเองได้ แต่น้ำตาที่ไหลจากหัวใจที่ภักดีก็ทำหน้าที่บอกเล่าถึงความรักและเทิดทูนที่เขามีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องมีถ้อยคำใดๆ มาอธิบาย

ขอบคุณ นิตยสาร ลิปส์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙