แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โครงการพระราชดำริ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โครงการพระราชดำริ แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“พระเทพฯ” ทรงนำคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ


เมื่อ 28 ต.ค.2556 เวลา 8.39 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานแปรรูปแมคคาเดเมีย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย วันที่ 2 ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงงาน ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งขึ้นในปี 2538  เพื่อเป็นสถานที่แปรรูปแมคคาเดเมียจากโครงการป่าเศรษฐกิจให้มีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีชาวเขาเผ่าอาข่า และมูเซอทำงาน รวม 65 คน  ภายในโรงงานแบ่งออกเป็น 4 ส่วน  คือ ส่วนคัดแยก, กะเทาะเปลือก, แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ สามารถแปรรูปแมคคาเดเมียดิบได้ 40-60 ตันต่อปี เป็นผลิตภัณฑ์ 6 ประเภท ได้แก่ แมคคาเดเมียปรุงรส, น้ำผึ้งแมคคา, แมคคาบด, แมคคาอบสมุนไพร, คุ๊กกี้แมคคาเดเมีย และเค้ก  นอกจากนี้ยังนำเปลือกเขียวของแมคคาเดเมียมาบดผสมกับมูลสัตว์ใช้เป็นปุ๋ยคอกบำรุงต้นส่วนเปลือกกะลา หรือเปลือกแข็งนำไปเผาสำหรับใช้เป็นถ่าน ผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดใหม่ที่จะออกจำหน่ายในปีนี้ คือ ชุดของขวัญคุ๊กกี้แมคคาไวท์ช็อคโกแลต และช็อคโกแลตชิป

โครงการป่าเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปลูกถั่วแมคคาเดเมีย รวมถึงกาแฟอาราบิก้า เนื่องจากผลผลิตมีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ใช้พื้นที่ปลูกไม่มากสามารถปลูกแซมในป่าได้ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนในระยะยาว โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ไม่ถูกทำลาย ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้คนกับป่าบนดอยตุงอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เวลา 9.32 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ โครงการพัฒนาดอยตุงพื้นที่ทรงงาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโรงกระดาษสา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสร้างอาชีพให้แก่ราษฎร และออกแบบพัฒนาคุณภาพการผลิตกระดาษสาให้ดียิ่งขึ้น  โดยใช้ความรู้พื้นฐานการผลิตกระดาษสาที่มีในท้องถิ่นผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ปัจจุบันมีคนงาน 30 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ ผลิตกระดาษสา 2 รูปแบบ คือ แบบไทย มีผิวหนา หยาบ ทนทาน และแบบญี่ปุ่น มีผิวบาง เรียบเนียน สามารถผลิตกระดาษสาทั้ง 2 แบบได้ 700 แผ่นต่อวัน นอกจากนี้ยังเพิ่มความสวยงามด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างลวดลายต่างๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง โดยปีนี้ได้นำใยผ้าจากโรงทอผ้าภายในศูนย์ฯ มาเป็นวัสดุเพิ่มลวดลายแบบใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาด

จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงทอผ้า ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการสร้างงานให้กับผู้หญิงชนเผ่าต่างๆ บนดอยตุง ซึ่งส่วนใหญ่มีความรู้ด้านงานฝีมือ ปักผ้า ทอผ้า และเย็บผ้า เพื่อสร้างเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัว ปัจจุบันมีคนงาน 127 คน สามารถผลิตผ้าประเภทต่างๆ ได้เฉลี่ยวันละ 300  เมตร ส่งจำหน่ายร้านดอยตุงในสนามบินสุวรรณภูมิ, เชียงราย, เชียงใหม่ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยที่โรงทอผ้าแห่งนี้ ได้สร้างโอกาสให้ผู้หญิง 3 วัย คือ รุ่นยาย, รุ่นแม่ และรุ่นลูกได้ทำงานในที่เดียวกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ไปข้องเกี่ยวกับการค้าประเวณี หรืออาชีพผิดกฎหมายอื่นๆ

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงคั่วเมล็ดกาแฟ ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2537 เพื่อรองรับผลผลิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้าจากโครงการป่าเศรษฐกิจใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมในกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้มาตรฐาน และคุณภาพคงที่  นอกจากนี้โรงงานยังมีการควบคุมกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ในปีที่ผ่านมาสามารถผลิตสารกาแฟ หรือ ผงกาแฟได้เฉลี่ย 104 ตัน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ไอซ์ คอฟฟี่ ซึ่งเป็นกาแฟที่สามารถชงเป็นเครื่องดื่มเย็น และยังคงรสชาติเข้มข้นไว้ และกาแฟแบบบรรจุในถุงกรอง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค

เวลา 11.02 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้าน นายสมศรี ใจสูง บ้านสันเกล็ดทอง ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย ทอดพระเนตรแปลงผักสด ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และโครงการปลูกผักปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานจีเอพี (GAP) หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูก และการดูแลแปลง ตลอดจนวางแผนการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผักสดที่มีคุณภาพ และปลอดสารพิษไว้บริโภคตลอดทั้งปี และมีเหลือจำหน่ายให้กับศูนย์ฯ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปัจจุบันขยายผลไปยังชุมชนตำบลโป่งงาม และตำบลโป่งผา  รวม 1,235 ครัวเรือน และหน่วยราชการอีก 18 แห่ง ผลผลิตส่วนหนึ่งยังนำไปจำหน่ายที่ร้านจันกะผัก ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ

เวลา 11.40 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งงาม ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ซึ่งโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับเมล็ดพันธุ์ และกล้าพันธุ์จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มาปลูกหมุนเวียนตามฤดูกาลในบริเวณพื้นที่ว่าง ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งใช้ประกอบอาหารมื้อกลางวันให้กับเจ้าหน้าที่สัปดาห์ละครั้ง และอนุญาตให้ผู้ป่วยเก็บกลับไปประกอบอาหารบริโภคที่บ้านได้ สนองพระราชดำริในการให้ราษฎรในชุมชนได้มีผักที่มีคุณภาพปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานราชการ เทศบาล ตลอดจนประชาชนที่สนใจได้เข้าไปศึกษาดูงานและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ว่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เวลา 12.11 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ อำเภอแม่สาย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสม สำรองไว้สำหรับเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไป รวมถึงผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนปรับปรุง และพัฒนาพันธุ์พืชสายพันธุ์ดี ทนทานต่อโรค และแมลง  ในการนี้ ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติฯ ชมนิทรรศการโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสถวายงาน และช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ผักสำรองเพียงพอตามพระราชประสงค์ เริ่มพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านชุดแรกแก่ผู้ประสบอุทกภัยในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัดในปี 2556 นอกจากนี้ ยังทรงรวบรวมพันธุ์พืชจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อพระราชทานแก่ศูนย์ฯ ไว้ทดลองปลูก โดยศูนย์ฯ เน้นพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้กับตนเอง และครอบครัวได้อย่างยั่งยืน สนองพระราชดำริ

เวลา 14.02 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ซึ่งหลังจากทรงพบว่าน้ำมันเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีประโยชน์สูงต่อร่างกายหลายด้าน จึงมีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันที่ได้รับจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปี 2547 ในรูปแบบของการปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะเกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน  โอกาสนี้ทอดพระเนตรนิทรรศการน้ำมันชาและพืชน้ำมันชนิดต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ผลิต และจำหน่าย โดยพื้นที่ส่วนนิทรรศการนี้เชื่อมต่อกับโรงหีบน้ำมัน ซึ่งเป็นโรงหีบน้ำมันชาแห่งแรก และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ออกแบบ และผลิตภายในประเทศ สามารถผลิตน้ำมันชา และน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ สำหรับบริโภคได้ เฉลี่ยเดือนละ 5,000 ลิตร ในการนี้ ทรงเยี่ยมร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตราเมล็ดชา เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมัน, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ที่ใช้น้ำมันชาเป็นส่วนผสม นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ตราภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา

เวลา 15.33 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-เมียนม่าร์ ณ โรงพยาบาลแม่สาย ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับสำนักงานสาธารสุขจังหวัดเชียงราย จัดทำขึ้น เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพชาวเมียนม่าร์ในเขตแนวชายแดน เพื่อควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อาทิ วัณโรค, โรคเท้าช้าง, ซิฟิลีส และตรวจหาเชื้อมาลาเรีย ที่ผ่านมาได้ออกหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพแล้ว 56 หมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดท่าขี้เหล็ก และเขตว้า มีผู้เข้ารับบริการ 5,853 คน  สามารถตรวจคัดกรองพบโรคมาลาเรีย, ไข้เลือดออก และวัณโรค รวม 17 คน ซึ่งได้ทำการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังให้บริการผู้ที่มีปัญหาทางช่องปากและฟันกว่า 600 คน โดยโครงการนี้มีห้วงระยะเวลาดำเนินงานระหว่างปี 2556-2561 ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สนับสนุนยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙