แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฝนหลวง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฝนหลวง แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

14 พฤศจิกายน (วันพระบิดาแห่งฝนหลวง)


ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ด้วยวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นวันบิดาแห่งฝนหลวง วันนี้ ผมขอนำเรียนทุกท่านเกี่ยวกับโครงการฝนหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้ครับ  ความเป็นมาของโครงการฝนหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและใช้เพื่อการเกษตรกรรม เนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง อันมีสาเหตุมาจากความผันแปรของฤดูและอากาศตามธรรมชาติ เช่น ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน

โครงการฝนหลวงฯ เกิดขึ้นจากพระราชดำริที่ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินฯ ทางภาคพื้นดินและทางอากาศยานแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ยังไม่สามารถก่อตัวรวมกันเป็นฝนได้ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะๆ ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน

พระองค์จึงได้ทรงตระหนักว่า ด้วยประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนและอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงน่าจะใช้มาตรการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นฝนได้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรในพื้นที่แห้งแล้งเหล่านี้ จึงได้ ทรงศึกษา ค้นคว้าและวิจัยทางเอกสารทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระทัย แล้วจึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ก่อนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติการทดลองบนท้องฟ้า ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ เป็นต้นมา


จวบจนกระทั่งในปี 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืช กรมการข้าว เพื่อสนองแนวพระราชดำริและดำเนินตามพระราชประสงค์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512 มี ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองคนแรก โดยเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก

วิธีการทำฝนหลวง เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมากๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ สภาพของทิศทางลม และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน เช่น ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม นั่นคือ เมื่อมวลอากาศ ร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอจะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จนเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำขึ้นบนแกนกลั่นตัวจนกลายเป็นฝน ตกลงมา


        ขั้นตอนการดำเนินการ เป็นการผลิตสารเคมีที่เป็นสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้น กลไกการหมุนเวียนของ บรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อกระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังนี้

        ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง เป็นขั้นของการใช้สารเคมีไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือ ความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ ไม่ควรดำเนินการเกินช่วงเช้าของแต่ละวัน (หรือก่อน 10.00 น.) โดยใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิดมีการก่อตัวและเจริญเติบโตในแนวตั้ง จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อน โปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝน

        ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะเป็นการไปเพิ่มพลังงานให้กับการลอยตัวของก้อนเมฆให้ยาวนานออกไป จึงต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ หรือศิลปะแห่งการทำฝนควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตัดสินใจ โปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม

        ขั้นตอนที่สาม : โจมตี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง โดยใช้เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝน ที่ต้องมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ โดยภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้ จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีก และกระจังหน้าของเครื่องบิน ซึ่งในจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงในการลอยตัวของก้อนเมฆ หรือทำให้อายุการลอยตัวนั้นหมดไป


ทั้งนี้ การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ มีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนให้ตกลงมา และเพื่อให้กระตุ้นให้เกิดการกระจายการตกของฝน ด้วยผลการใช้ฝนหลวงได้ทวีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการ ฝนหลวง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๘ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป กระทั่งมีการปรับปรุง และพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

ผลจากการดำเนินโครงการฝนหลวง โครงการฝนหลวงได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต หลายด้าน ได้แก่

การเกษตร : ได้ใช้ฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน

การอุปโภคบริโภค :  ได้ช่วยตอบสนองภาวะความต้องการ น้ำกิน น้ำใช้ ที่ทวีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากคุณสมบัติของดินในภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทรายไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร

การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ : ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม อันเนื่องมาจากพื้นดินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง

ด้านการเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ : เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง จนไม่สามารถสัญจร ไปมาทางเรือได้ จึงได้ทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าว เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางน้ำยังเป็นอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรทางบก ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมาก

ด้านการป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม : หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อย และสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำฝนหลวง จึงช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว อีกทั้งการทำฝนหลวงยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษให้ออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง

ด้านการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า : เนื่องจากบ้านเมืองเราเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า การทำฝนหลวงจึงมีความสำคัญ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจโดยทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขของราษฎรชาวไทยเสมอมา

เนื่องในโอกาสวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านร่วมเรียนรู้พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ครับ.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙