แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระเจ้าอยู่หัว แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระเจ้าอยู่หัว แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล



วันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๕๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล จากนั้น ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลลงทะเลน้อย และพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลกับพันธุ์ปลาชนิดอื่น ๆ ลงทะเลอ่าวไทย ณ บริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล
ในโอกาสนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย
ปลานวลจันทร์ทะเล หรือชื่อเรียกอื่น ได้แก่ ปลาดอกไม้ ปลาทูน้ำจืด ปลาชะลิน มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า มิลค์ฟิช (Milkfish) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชาโนส ชาโนส (Chanos Chanos) อาศัยอยู่ทั่วไปในท้องทะเลเขตร้อน และมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบมากบริเวณทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เพชรบุรี และบางส่วนของจังหวัดตราด ทั้งนี้ ปลานวลจันทร์ทะเลจัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และไต้หวัน เนื่องจากมีรสชาติดี เจริญเติบโตเร็ว ทนทานต่อโรค สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ และเลี้ยงง่าย เพราะกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งตะไคร่น้ำ แพลงตอน ไรน้ำ รำข้าว ขี้แดด รวมถึงอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การที่กินพืชได้ ทำให้การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลใช้ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ที่กินเนื้อ เหมาะสมต่อการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงสร้างรายได้
ประเทศไทยสำรวจพบปลานวลจันทร์ทะเลเป็นครั้งแรกบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ และได้มีการเพาะเลี้ยงขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเลี้ยงปลาดังกล่าว ณ สถานีประมงคลองวาฬ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ทรงพบว่า ราษฎรในพื้นที่ได้นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อมาเลี้ยงในบ่อ ซึ่งสภาพน้ำแม้จะมีระดับความเค็มต่ำ แต่ปลานวลจันทร์ทะเลก็เจริญเติบโตได้ และสามารถขายได้ราคาดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นอาชีพ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจำนวนหนึ่ง ปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ขณะนั้นราษฎรยังมิได้ให้ความสนใจเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมากนัก เนื่องจากปลาชนิดนี้จะขยายพันธุ์เฉพาะแต่ในทะเลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี กรมประมงได้ทดลองเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๐๘ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมให้ราษฎรเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเพื่อเป็นอาชีพ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริดังกล่าว ไปดำเนินการสานต่ออย่างจริงจัง
ราวปี ๒๕๔๘ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จึงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การเร่งให้วางไข่นอกฤดูกาล การผสมเทียม และการเพิ่มอัตราการอยู่รอดของลูกปลา พร้อมกับส่งเสริมให้ราษฎรนำปลา
ที่เพาะพันธุ์ได้ดังกล่าวไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพตามพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจะนิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้ในกระชัง บ่อพักน้ำ นากุ้งร้าง หรืออาจเลี้ยงร่วมในบ่อเดียวกับกุ้งขาว ทั้งนี้ การเลี้ยงรอบหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๘ เดือน จึงจะได้ปลาที่มีน้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ คือตัวหนึ่งราว ๖๐๐ – ๘๐๐ กรัม ใช้ต้นทุนการเลี้ยง ๒๕ – ๓๐ บาทต่อน้ำหนักปลา ๑ กิโลกรัม และสามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ ๖๕ – ๗๐ บาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของการส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล คือ ปลาชนิดนี้มีก้างมาก ระยะแรกจึงไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาด ส่งผลให้ราคาไม่ดึงดูดความสนใจแก่ผู้เพาะเลี้ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงแก้ไขปัญหาโดยหาแนวทางแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ให้สามารถบริโภคได้ง่ายขึ้น วิธีการหนึ่งคือเรียนรู้เทคนิคการถอดก้างปลามาจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งปลานวลจันทร์ทะเลสด เมื่อถอดก้างแล้ว จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลายเช่น ปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ ปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว รมควัน และต้มเค็ม เป็นต้นนอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ราษฎรรวมกลุ่มกันเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลอย่างครบวงจรในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ดังที่ปรากฏเป็นกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาเก้าเหลี่ยม ริมทะเลน้อย วังไกลกังวล นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และกราบบังคมทูลรายงาน กับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ “กรมประมงกับความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล” จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรวีดิทัศน์การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล เวลา ๗ นาที และทอดพระเนตรปลานวลจันทร์ทะเลกับปลาทูจากการเพาะเลี้ยง เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๙๙ ตัว ลงทะเลน้อย วังไกลกังวล แล้วทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดต่าง ๆ ที่แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล
จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง และนางนิออน พันธ์แก้ว ผู้แทนกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลานวลจันทร์ทะเล ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเลก้างนิ่มอบชานอ้อย และปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังบริเวณริมเขื่อน วังไกลกังวล ทรงปล่อยพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๕๙ ตัว ปลากุดสลาด หรือชื่อสามัญว่า บลูสปอตด์ กรูปเปอร์ (Blue Spotted Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ปลาเก๋าปะการัง หรือ โครัล กรูปเปอร์ (Coral Grouper) จำนวน ๔๙ ตัว ปลาทราย หรือ โอเรียนทัล ซิลลาโก (Oriental Sillago)
จำนวน ๓๙ ตัว และปลาเก๋าเสือ หรือ ไทเกอร์ กรูปเปอร์ (Tiger Grouper) จำนวน ๓๙ ตัว ลงทะเลอ่าวไทย สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อเวลา ๑๘.๒๓ น.

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"ในหลวง" ทรงขอให้คนไทยตระหนักถึงหน้าที่เพื่อประโยชน์ของชาติ



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เสด็จออกท้องพระโรงศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล เสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร เจ้าพนักงานรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญาณ ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก ประโคมแตร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะนั้นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายละ 21 นัด สมเด้จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร กราบบังคมทูลพระกรุณาแทนพระบรมวงศานุวงศ์ ใจความว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม บัดนี้วันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาได้เวียนมาอีกวาระหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์มีความปีติปราโมทย์พ้นประมาณที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้มาประชุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแสดงความจงรักภักดี และถวายพระพรชัยมงคล นับแต่เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย   ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงปฏิบัติพระองค์และปฏิบัติพระราชกิจน้อยใหญ่โดยบริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกสถาน  กล่าวคือทรงปฏิบัติพระองค์ธำรงมั่นอยู่ในราชนิติธรรมของพระมหากษัตริย์อย่างเคร่งครัดและทรงพระราชอุตสาหะปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ   เพื่อความผาสุกของประชาชนและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ พระเกียรติคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวโลก ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์สุดประเสริฐเลิศด้วยพระบุญญาธิการ และเพียบเพ็ญด้วยพระบารมี


ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีโชควาสนาอย่างยิ่งที่เกิดมาในแผ่นดินไทยภายใต้พระบุญญาบารมี   จึงได้รับพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้มีความสุขความเจริญ และมีเกียรติยศเป็นที่เชิดชูตามฐานานุศักดิ์   ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าต่างทราบตระหนักอยู่ทั่วหน้า ในมหาสมัยมงคลพิเศษนี้ จึงขอถวายสัตย์ปฏิญญาว่า จะตั้งใจประพฤติตนปฏิบัติงานโดยเต็มสติปัญญาความสามารถ ตามพระราชจริยาและพระบรมราโชบาย   ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างพระราชทานไว้   เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานพระราชปณิธานในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกับขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกกับทั้งพระบรมเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ จงพร้อมกันอภิบาลรักษาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ทรงพระเกษมสุขปราศจากมลทินทุกข์และพยาธิภัย   มีพระราชหฤทัยผ่องแผ้วปลอดพ้นจากเครื่องรบกวนกังวล  มีพระราชประสงค์จำนงใดที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่รัฐสีมาประชาชน   ขอจงสำเร็จสรรพศุภผล ดังพระราชหฤทัยจำนงทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม  ขอเดชะ

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลว่า  ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาเวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งในวันนี้ ข้าพุทธเจ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในนามคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ชมพระบารมีและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ในราชประชาสมาคมอุดมสันนิบาตนี้ เมื่อครั้งต้นรัชกาลซึ่งเป็นเวลามากว่า 60 ปีมาแล้วที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงริเริ่มโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น เป็นโครงการพระราชดำริแห่งแรก รวมไปถึงอีกหลายๆ โครงการที่ล้วนสร้างความก้าวหน้าและความปลาบปลื้มใจแก่ปวงชนชาวไทย ด้วยอำนาจแห่งพระมหากรุณา ที่ทรงปรารถนาจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดระยะเวลาอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน พระมหากรุณาที่ยิ่งฉายชัดและกระจ่างแจ้งไปทั่วราชอาณาเขต ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงผู้เป็นพสกนิกรได้ครองชีวิตที่เป็นสุขและร่มเย็น เพราะได้อาศัยพระปรีชาญาณและน้ำพระราชหฤทัยในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทหลั่งรินรดเศียรเกล้าตลอดมามิเคยห่างหาย ด้วยอำนาจพระคุณรัตนตรัย พระบรมเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าในอดีต และอำนาจแห่งคำสัตย์ความจริง ที่กราบบังคมทูลพระกรุณามาตั้งแต่ต้นขอผลบันดาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเจริญสุขเกษมสวัสดิ์สารพัดทุกข์โศกโรคภัยอย่าได้กล้ำกราย พระบาทยุคลทรงไกลกังวลและทรงเปี่ยมสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาล สมดังใจปรารถนาของปวงข้าพุทธเจ้า ผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ตราบฟ้าและดิน จากนั้น  นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลตามลำดับ จบแล้ว พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกราบบังคมทูลพระกรุณากล่าวนำทหารรักษาพระองค์ถวายคำสัตย์ปฏิญาณจบ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ ใจความว่า ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมกันมาให้พรวันเกิดรวมทั้งให้คำมั่นสัญญาด้วยประการต่างๆ ข้าพเจ้าขอสนองพรและไมตรีจิตเหล่านั้นด้วยใจจริงเช่นกัน บ้านเมืองของเราเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความเป็นปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ร่วมของชาติ คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มากและตั้งใจประพฤติตัวปฏิบัติงานให้สมฐานะและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมือง ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้มีแต่ความสุขและความเจริญตลอดไป


ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคมทั้งหมดถวายความเคารพ เจ้าพนักงานรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญาณ ชาวพนักงานประโคมเช่นเวลาเสด็จออก ทหารกองเกียรติยศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับเวลา 11.09 น.

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม


ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนองพระราชดำริ ในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง

กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร

พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์

พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน 

นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. 2495 อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-12.00 และ 16.00-19.00 วันอาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 หยุดทุกวันจันทร์

พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย..." (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล

ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน 

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ

ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ

ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ

นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน

นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผ้าไตร บำเพ็ญกุศลครบ 50 วัน


“ในหลวง-พระเทพฯ” พระราชทานผ้าไตรบำเพ็ญกุศลครบ 50 วัน (ปัญญาสมวาร) การละสังขาร ของหลวงปู่สุภา กนฺตสีโล

     
เมื่อ 22 ต.ค.2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผ้าไตร บำเพ็ญกุศลครบ 50 วัน (ปัญญาสมวาร) การละสังขาร ของพระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) อริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน
   
เมื่อเวลา 10.30 น. นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ประธานในพิธีอัญเชิญผ้าไตรพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ไตร และผ้าไตรพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1 ไตร ในพิธีบำเพ็ญกุศล 50 วัน (ปัญญาสมวาร) พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) อริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน อดีตเจ้าอาวาสวัดสิริสีลสุภาราม ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมีพระพรหมเวที เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นประธานสงฆ์ และแสดงพระธรรมเทศนา ท่ามกลางพระสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกา เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ที่โต๊ะสักการะ (เครื่องนอก) กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล ประธานจุดเครื่องทองน้อย (เครื่องใน) เสร็จแล้วพระพรหมเวที เจ้าคณะหนใหญ่ตะวันออก แสดงพระธรรมเทศนา จากนั้น เป็นพิธีถวายผ้าไตรพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ไตร และผ้าไตรพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1 ไตร ตามลำดับ พร้อมทั้งประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ แด่พระเดชพระคุณพระพรหมเวที เจ้าคณะหนใหญ่ตะวันออก

หลวง ปู่สุภา กนฺตสีโล ได้ละสังขารอย่างสงบเมื่อเวลา 05.05 น.วันที่ 2 กันยายน 2556 ในกุฏิภายในวัดคอนสวรรค์ ตำบลค้อเขียว อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ภายหลังเข้ารับการรักษาตัวจากอาการอาพาธที่โรงพยาบาลสกลนคร นานกว่า 3 เดือน ด้วยอาการโรคชรา และโรคอื่นๆ อีกหลายโรค คณะศิษยานุศิษย์ได้นำสรีระสังขารตั้งไว้ที่ศาลากลางน้ำ ซึ่งเป็นศาลาขนาดใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเวลา 17.00 น. วันที่ 3 กันยายน 2556 และเมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 5 กันยายน 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ อีก 6 พระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพวงมาลา เพื่อถวายสักการะบูชา ศพ ดร.พระมงคลวิสุทธิ์ หรือ หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล อดีตเจ้าอาวาสวัดสีลสุภาราม อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินสมทบ กองทุนบำรุงรักษาอาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร


เมื่อ 22 ต.ค.2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินสมทบ กองทุนบำรุงรักษาอาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และเป็นวันพยาบาลแห่งชาติ ในวันนี้ วันที่  21  ตุลาคม 2556 นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานในพิธีมอบเงินพระราชทานจากบัญชี “สมเด็จพระศรีฯ โดยสำนักพระราชวัง” เพื่อสมทบ “กองทุนบำรุงรักษาอาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร” แก่รองศาสตราจารย์ ฟองคำ ติลกสกุลชัย คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลาว่าการพระราชวัง ในพระบรมมหา-ราชวัง

โดยก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินที่ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสร่วมถวายสักการะพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2538 พร้อมผลประโยชน์ เพื่อก่อสร้างอาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร สำหรับเป็นอาคารเรียน, หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จังหวัดนครปฐม

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายธวัชชัย ทวีศรี พร้อมคณะเฝ้าฯ


  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายธวัชชัย ทวีศรี ประธานผู้ริเริ่มโครงการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชพลังแผ่นดินและพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช พร้อมคณะเฝ้าฯ        
  วันพุธ ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๒๐ น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายธวัชชัย ทวีศรี ประธานผู้ริเริ่มโครงการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชพลังแผ่นดินและพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช พร้อมด้วยผู้ให้การสนับสนุนโครงการ ฯ เฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินซึ่งเป็นรายได้จากการจัดการโครงการ ฯ เพื่อสมทบทุนจัดสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชโรงพยาบาลศิริราช
  การนี้ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานมูลนิธิคิงเพาเวอร์ และประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ น้อมเกล้า ฯ ถวายพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงาน และพระบรมรูปทรงผนวช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙