วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สองธรรมราชา


ช่วงก่อนที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ประมาณ พ.ศ. 2520
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มักเสด็จฯ ไปที่วัดเพื่อสนทนาธรรม 
โดยรับเสด็จที่โบสถ์บ้าง ที่ตำหนักบ้าง แต่ช่วงหลังไม่สะดวก 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงนิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
กับพระสงฆ์อีก 15 รูป เข้าไปในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 
เพื่อถวายสังฆทานทุกวันจันทร์ หลังจากถวายสังฆทานแล้ว
จะทรงสนทนาธรรมเป็นเวลานับชั่วโมง 

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกโอวาทและเทศนาต่างๆ ในพระอุโบสถ
และคำสอนพระใหม่ คำอบรมกรรมฐานตอนกลางคืน
ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร 
และของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมมสาโร) วัดราชผาติการาม 
แล้วนำไปฟัง ซึ่งน่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2510

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร 
อดีตนายตำรวจราชสำนัก กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า 

“ผมเชื่อว่าท่านทรงขึ้นต้นถูก และได้ครูที่มีความสามารถ ครูองค์นี้หรือรูปนี้ 
คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน 
ท่านเป็นพระพี่เลี้ยงพระเจ้าอยู่หัวในขณะที่ประทับอยู่ที่วัดบวรฯ 
เพราะฉะนั้นก็ได้ครูธรรมที่เรียกว่าชั้นยอดที่สุดของเมืองไทย 
ผมเห็นท่านทรงศึกษาจากตำราของครูบาอาจารย์เอง 
เสด็จฯ ไปที่ไหนก็ตาม ที่มีพระที่มีความรู้ทางกรรมฐาน ทางวิปัสสนา
จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมและรับสั่งกับพระเหล่านี้ทุกรูป

เมื่อผมยังอยู่ในวัง ผมมีหน้าที่หาพระถวายท่านเวลาเสด็จไปประทับต่างจังหวัด
เพราะเรามีหน้าที่ศึกษาภูมิประเทศเพื่อจะเตรียมการเสด็จพระราชดำเนิน
ตอนที่ออกเดินไปศึกษาภูมิประเทศ พบพระดีๆ
เราก็ต้องกลับมากราบบังคมทูลท่านว่ามีพระอยู่วัดนี้
ตอนเสด็จไปทางนั้นเราจะจัดเสด็จพระราชดำเนินให้สอดคล้องกัน
คือให้ทรงมีเวลาที่จะแวะวัดนั้นและพระเหล่านั้นด้วย
ถ้าท่านทรงศึกษาขนาดนี้แล้ว การไปหาพระก็จำเป็นน้อยลง” 
(หนังสือ ๙๙ คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช )


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็น 
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อวันศุกร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช 1351
ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
ท่ามกลางมหาสังฆนิบาติ พระบรมวงศานุวงศ์ 
และข้าราชการทหารพลเรือน เป็นแบบแผนพระราชพิธีที่ปฏิบัติต่อมา
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต สืบต่อจาก 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) 
เริ่มด้วยการจารึกพระสุพรรณบัฏ
ภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันแรก 

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตร
พระสุพรรณบัฏ พระตราตำแหน่ง พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ ฯลฯ
แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙