วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ยูเนสโกยกย่อง “ร.7-สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ-หม่อมงามจิตต์” บุคคลสำคัญของโลก ปี56


เมื่อ 21พ.ย.2556 ยูเนสโกยกย่อง “ร.7-สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ-หม่อมงามจิตต์” บุคคลสำคัญของโลก ปี56

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 37 ณ สำนักงานใหญ่ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับคืนวันที่ 20 พฤศจิกายน ตามเวลาในประเทศไทย ได้ประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของโลก และร่วมเฉลิมฉลองประจำปี 2556 ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้รับการยกย่องบุคคลสำคัญของโลก และร่วมเฉลิมฉลองตามที่มีหน่วยงานเสนอพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และเสนอชื่อผู้ที่มีผลงานดีเด่นให้ยูเนสโก ดังนี้ 1.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสนอโดยสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในการประกอบพระราชกรณียกิจในประเทศไทย หลังจากเสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2457 และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบรอบ 10 ปีนักษัตร วันที่ 8 พฤศจิกายน ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

นางสุทธศรีกล่าวต่อว่า 2.สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เสนอโดยราชินีมูลนิธิ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบ 150 ปี วันที่ 1 มกราคม 2556 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรี การศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสังคมและมนุษยศาสตร์ และ 3.หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เสนอโดยมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในปี พ.ศ.2558 เนื่องจากเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชุมชน และการศึกษาด้านวัฒนธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ผู้พิพากษา-ตุลาการเฝ้าฯถวายสัตย์


เมื่อ 21 พ.ย.2556 เวลา 17.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ศาลาเริง พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำตุลาการศาลทหารสูงสุด ตุลาการศาลทหารกลาง และตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารชั้นต้น เฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

'ในหลวง' เสด็จออกท้องพระโรง 5ธันวา


'ในหลวง'เสด็จออกท้องพระโรงวังไกลกังวล 5 ธันวาคม รัฐ-เอกชนร่วมจัดงานเฉลิมพระเกียรติตลอดเดือน ส่วนราชการจัดนิทรรศการ'พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์'

เมื่อ 19 พ.ย.56 เวลา 13.50 น. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเตรียมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2556

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบความคืบหน้าการเตรียมการพระราชพิธี และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ในศุภวาระเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2556 โดยสำนักพระราชวังแจ้งว่าบัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีหมายกำหนดการที่จะเสด็จออก ณ ท้องพระโรงศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม เวลา 10.30 น.

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เสด็จออก ณ ท้องพระโรงศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล โอกาสเดียวกันนี้ ทหารรักษาพระองค์จะได้เฝ้าฯ ถวายคำสัตย์ปฏิญาณด้วย

"รัฐบาลได้รับทราบข่าวที่เป็นมงคลนี้ด้วยความปีติยินดี และจะได้มอบหมายให้สื่อมวลชนของรัฐ และขอความร่วมมือสื่อภาคเอกชน ถ่ายทอดพระราชพิธีสำคัญทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีโดยทั่วถึงกัน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายธงทอง กล่าวว่า รัฐบาลประสานกับทุกส่วนราชการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์” ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม นี้ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณที่ทรงได้รับยกย่องจากสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น พระราชสมัญญาต่างๆ รางวัล ปริญญากิตติมศักดิ์ และสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เห็นตระหนักชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามิได้ทรงเป็นเพียงพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระราชภาระหลักเท่านั้น หากยังทรงมีความรู้เชี่ยวชาญและทรงพระปรีชาสามารถในสรรพวิทยาการหลากแขนง ได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประชาชนคนไทยมาตลอดเวลากว่าหกสิบปี จึงขอเชิญชวนประชาชน ร่วมกิจกรรมในงานนิทรรศการดังกล่าว" ปลัดสำนักนายกฯ กล่าว

นายธงทอง กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนยังได้ร่วมมือร่วมใจจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอีกมากมายหลายรายการ เช่น การจุดเทียนชัยถวายพระพรในค่ำวันที่ 5 ธันวาคม เวลา 19.29 น. ณ ท้องสนามหลวงและสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ กระทรวงกลาโหมจัดการแสดงวงโยธวาทิต “1 คีตมหาราชาในดวงใจ โยธวาทิตไทยสู่สากล” และการแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ “ดวงประทีปพราวนภา เทิดราชาราชินี บารมีศรีแผ่นดิน ครั้งที่ 6”

กระทรวงพลังงานจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเรื่อง “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ สำนักงาน ก.พ.จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาล นอกจากการจัดนิทรรศการ “พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์” ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในวันที่ 7 ธันวาคม เวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลจะได้จัดงานสโมสรสันนิบาตเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายชัยมงคลในศุภวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา เช่นเดียวกันกับทุกปีที่ผ่านมาด้วย

ด้าน พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 1 จัดเตรียมทหารรักษาพระองค์ 12 กองพัน และกองพันทหารม้ารักษาพระองค์ 1 กองพัน เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติอาจมีการปรับลดกำลังทหารที่ร่วมพิธีเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ ส่วนรายละเอียด และพิธีการจะมีความชัดเจนหลังจากสำนักนายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับกองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทหารรักษาพระองค์ทั้ง 13 กองพันได้ทำการซ้อมในพระราชพิธีฯ อยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.) และในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ทหารรักษาพระองค์ทั้งหมดจะทำการซ้อมในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในสถานที่จริง ณ วังไกลกังวล และในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ จะมีการซ้อมใหญ่ในพระราชพิธีทุกขั้นตอนอย่างละเอียดทั้งหมด
             
ขณะนี้ทางกองทัพภาคที่ 1 ได้จัดเตรียมทหารรักษาพระองค์จำนวน 12 กองพัน และกองพันทหารม้ารักษาพระองค์จำนวน 1 กองพัน เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติอาจมีการปรับลดกำลังทหารที่ร่วมพิธีเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานที่ ส่วนในรายละเอียด และพิธีการที่ชัดเจนนั้น จะต้องรอรับทราบในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ภายหลังสำนักนายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับกองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตามขณะนี้ทหารรักษาพระองค์ทั้ง 13 กองพันได้ทำการซ้อมในพระราชพิธีฯอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.) และในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ทหารรักษาพระองค์ทั้งหมดจะทำการซ้อมในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในสถานที่จริง ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในวันที่ 3 ธันวาคมนี้จะมีการซ้อมใหญ่ในพระราชพิธีทุกขั้นตอนอย่างละเอียดทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ในหลวงเสด็จลอยพระประทีป


เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เวลา 16.39 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ ท่าลัดดา วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงประกอบพิธีลอยพระประทีป เนื่องในวันลอยกระทง

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม


ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนองพระราชดำริ ในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง

กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร

พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์

พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน 

นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. 2495 อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-12.00 และ 16.00-19.00 วันอาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 หยุดทุกวันจันทร์

พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย..." (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล

ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน 

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ

ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ

ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ

นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน

นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

14 พฤศจิกายน (วันพระบิดาแห่งฝนหลวง)


ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ด้วยวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นวันบิดาแห่งฝนหลวง วันนี้ ผมขอนำเรียนทุกท่านเกี่ยวกับโครงการฝนหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้ครับ  ความเป็นมาของโครงการฝนหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและใช้เพื่อการเกษตรกรรม เนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง อันมีสาเหตุมาจากความผันแปรของฤดูและอากาศตามธรรมชาติ เช่น ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน

โครงการฝนหลวงฯ เกิดขึ้นจากพระราชดำริที่ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินฯ ทางภาคพื้นดินและทางอากาศยานแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ยังไม่สามารถก่อตัวรวมกันเป็นฝนได้ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะๆ ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน

พระองค์จึงได้ทรงตระหนักว่า ด้วยประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนและอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงน่าจะใช้มาตรการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นฝนได้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรในพื้นที่แห้งแล้งเหล่านี้ จึงได้ ทรงศึกษา ค้นคว้าและวิจัยทางเอกสารทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระทัย แล้วจึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ก่อนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติการทดลองบนท้องฟ้า ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ เป็นต้นมา


จวบจนกระทั่งในปี 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืช กรมการข้าว เพื่อสนองแนวพระราชดำริและดำเนินตามพระราชประสงค์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512 มี ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองคนแรก โดยเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก

วิธีการทำฝนหลวง เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมากๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ สภาพของทิศทางลม และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน เช่น ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม นั่นคือ เมื่อมวลอากาศ ร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอจะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จนเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำขึ้นบนแกนกลั่นตัวจนกลายเป็นฝน ตกลงมา


        ขั้นตอนการดำเนินการ เป็นการผลิตสารเคมีที่เป็นสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้น กลไกการหมุนเวียนของ บรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อกระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังนี้

        ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง เป็นขั้นของการใช้สารเคมีไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือ ความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ ไม่ควรดำเนินการเกินช่วงเช้าของแต่ละวัน (หรือก่อน 10.00 น.) โดยใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิดมีการก่อตัวและเจริญเติบโตในแนวตั้ง จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อน โปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝน

        ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะเป็นการไปเพิ่มพลังงานให้กับการลอยตัวของก้อนเมฆให้ยาวนานออกไป จึงต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ หรือศิลปะแห่งการทำฝนควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตัดสินใจ โปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม

        ขั้นตอนที่สาม : โจมตี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง โดยใช้เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝน ที่ต้องมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ โดยภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้ จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีก และกระจังหน้าของเครื่องบิน ซึ่งในจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงในการลอยตัวของก้อนเมฆ หรือทำให้อายุการลอยตัวนั้นหมดไป


ทั้งนี้ การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ มีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนให้ตกลงมา และเพื่อให้กระตุ้นให้เกิดการกระจายการตกของฝน ด้วยผลการใช้ฝนหลวงได้ทวีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการ ฝนหลวง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๘ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป กระทั่งมีการปรับปรุง และพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

ผลจากการดำเนินโครงการฝนหลวง โครงการฝนหลวงได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต หลายด้าน ได้แก่

การเกษตร : ได้ใช้ฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน

การอุปโภคบริโภค :  ได้ช่วยตอบสนองภาวะความต้องการ น้ำกิน น้ำใช้ ที่ทวีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากคุณสมบัติของดินในภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทรายไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร

การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ : ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม อันเนื่องมาจากพื้นดินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง

ด้านการเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ : เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง จนไม่สามารถสัญจร ไปมาทางเรือได้ จึงได้ทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าว เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางน้ำยังเป็นอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรทางบก ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมาก

ด้านการป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม : หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อย และสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำฝนหลวง จึงช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว อีกทั้งการทำฝนหลวงยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษให้ออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง

ด้านการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า : เนื่องจากบ้านเมืองเราเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า การทำฝนหลวงจึงมีความสำคัญ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจโดยทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขของราษฎรชาวไทยเสมอมา

เนื่องในโอกาสวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านร่วมเรียนรู้พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ครับ.

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“ในหลวง-ราชินี” พระราชทานแจกันดอกไม้แก่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ


เมื่อ 12 พ.ย.2556 แถลงการณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแจกันดอกไม้แก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีซึ่งทรงเข้ารับการถวายการรักษานิ่วในท่อพระวักกะ

สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่าวันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา ได้รายงานว่า ผลการตรวจทางรังสีวิทยา ยังพบนิ่วอยู่ที่ท่อพระวักกะ หรือไตขวา คณะแพทย์ฯ จึงได้ถวายการรักษาด้วยการส่องกล้องเพื่อนำนิ่วออก เมื่อเช้าวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2556 คณะแพทย์ฯ สามารถนำนิ่วที่พบอยู่นั้นออกได้หมด หลังถวายการรักษาด้วยการส่องกล้อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระอาการดีขึ้น คณะแพทย์ฯยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะต่อไป  และกราบบังคมทูลให้ประทับพักในโรงพยาบาลต่ออีกสักระยะหนึ่ง

และที่ตึกว่องวานิช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้เชิญแจกันดอกไม้พระราชทานไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พร้อมกันนี้ องคมนตรี และคู่สมรส ได้ลงนามถวายพระพร ณ โถงชั้นล่าง ตึกอานันทมหิดล  ซึ่งตลอดทั้งวัน มีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้ถวายงานโครงการตามพระราชดำริ และประชาชน ไปลงนามถวายพระพร อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมัธยมพระราชทานนายาว จังหวัดฉะเชิงเทรา, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, กรมประมง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ รวมถึงนายปริวัฒน์ เศรษฐบุตร ผู้จัดการฝ่าย พร้อมผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 ที่ร่วมกันวาดภาพ ถวายพระพรให้มีพระพลานามัยแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย, ประธานพระครูพราหมณ์ในฐานะผู้แทนองค์กรศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในประเทศไทย, กองทัพภาคที่ 4 และกองทัพภาคที่ 1

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน และพระราชทานปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕พ.ค.๒๔๙๓ ล่วงเลยมาตราบถึงวันนี้  แม้จะมีพระชนพรรษาย่าง ๘๔ พรรษาแล้วก็ตาม 

อีกทั้งยังทรงพระประชวรอยู่ต้องประทับรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราชมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนทว่า ในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านก็ยังมีแต่พสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริงทรงห่วงใยทุกข์สุขของประชาชนทุกคนมิต่างจากทุกข์สุขของพระองค์เองและทรงอุทิศพระองค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อทรงคลายร้อนผ่อนลำเค็ญนำพาความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงประชนชาวไทยทั้งประเทศสมกับที่ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกและทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหากษัตริย์ผู้เพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม

“พระเจ้าอยู่หัวยังต้องเหนื่อยต้องลำบากทุกวันนี้เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่เมื่อประชาชนยากจนแล้วอิสรภาพเขาจึงไม่มีและเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพเขาก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้” พระราชดำรัสดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสียสละเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงและคงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่าในบรรดาสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดจะทรงงานให้กับพระชาชนเท่ากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระองค์ในสถานะผู้ให้บริการรับใช้ประชาชนถึงแม่ว่าจะทรงเป็นประมุขของประเทศ

“มาทำงานกับฉันนั้นไม่มีอะไรจะให้นอกจากความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นฉันนับถือลัทธิเรื่อย ๆ คือทำไปเรื่อย ๆ ใครว่าอย่าไปสนใจฝากไว้ด้วยเพราะเราทำแล้วต้องถูกว่าต้องมีคนถูกด่าธรรมดาของการทำงานเพราะฉะนั้นลัทธิเรื่อยๆ ก็คือทำไปเรื่อยๆ ถูกว่าถ้าเห็นว่าผิดก็กลับไปทำใหม่ย้อนกลับมาที่ตั้งต้นใหม่ทำใหม่อย่าไปสนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าสนใจอะไรไปแล้วจะไม่มีกำลังใจอะไรเลย”

ในฐานะข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปพัฒนาผืนแผ่นดินทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและได้มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิดตลอดรระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล”เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้ถ่ายทอดถึงเรื่องราวต่างๆ ขององค์พระประมุขซึ่งทรงทำประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับแผ่นดินไทยอันถือเป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การน้อมนำเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

“ผมเคยวาดภาพว่า สถาบันกษัตริย์คงเป็นแบบที่เรานึกคิดเราอ่านนิทานประเภทจักรๆ วงศ์ๆ มาคงจะนึกว่าสุขสบายนึกอยากจะทำอะไรก็ทำ หรือระหว่างอยู่ต่างประเทศก็ได้ข่าวเจ้าชายองค์นั้นซื้อรถสปอร์ตขี่อีกแล้ว เจ้าชายองค์โน้นซื้อเรือยอชต์ใหม่อันนี้คือภาพที่ติดมากับตัวก่อนที่จะทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาทแต่พอมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับพระองค์พูดทีไรผมก็เกิดอาการขนลุกซู่ซ่าขึ้นมาทุกที

ไม่เคยนึกไม่เคยฝันไม่เคยวาดภาพมาก่อนว่าสถาบันกษัตริย์ของเราจะเป็นในลักษณะที่เห็นอยู่ในหลวงทรงอุทิศเวลาส่วนพระองค์ทั้งหมดของพระองค์ท่านเพื่อทุกข์สุขของราษฎรชีวิตทั้งวันของพระองค์นั้นได้ผ่านไปในลักษณะที่ว่า ทรงทุ่มเทอย่างมากที่สุดเมื่อเทียบกับกษัตริย์อื่นในโลกนี้

ทุกวันนี้เมื่อเราท่านดูทีวีดูข่าวหรือว่าอ่านหนังสือพิมพ์ท่านจะเห็นภาพของพระองค์ท่าน แต่ก็ดูเป็นลักษณะที่เห็น  แต่ว่าหากทุกคนลองมองสักนิดหนึ่ง  ท่านจะเห็นว่าพระองค์ทรงงานอย่างไรบ้างประทับนั่งราวกับราษฎรเสมอ  เหมือนในพื้นที่เดียวกัน  มิใยว่าตรงนั้นจะเปียกจะแฉะพระองค์ท่านจะประทับบนดินบนลูกรังหรืออะไร

ตอนแรกผมก็แต่งตัวดีเวลาตามเสด็จฯตอนหลังไม่ไหวแล้วพอกับมามอมแมมทุกทีกางเกงแพงๆ เสียไปหมดเลยก็เลยเปลี่ยนเอากางเกงที่มันไม่สกปรกง่ายทนๆหน่อย ผมใส่โรเล็กซ์แต่โรเล็กซ์นี้ของปลอมแท้คือซื้อจากไต้หวันใครจะถวายปาเต๊ะ ฟิลลิป อะไรต่างๆ พระองค์ไม่เคยทรงทรงแต่ของที่ถูกที่สุดทรงยึดประโยชน์เป็นหลัก”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองพระบรมราชโองการ ตามพระปฐมบรมราชโองการที่ได้รับสั่งไว้ทรงทุ่มเทตลอดเวลาหลายทศวรรษเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาราษฎร์อย่างแท้จริง

“ดร.สุเมธ” เล่าถึงชีวิตประจำวันขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกเยี่ยมเยียนประชาชนตามถิ่นทุรกันดารต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพ “การตามเสด็จฯจะเริ่มประมาณบ่ายสามถึงบ่ายสี่โมงส่วนมากจะไม่เสด็จฯออกก่อนบ่ายสามโมง นอกจากจะมีลักษณะการเดินทางต้องกินเวลาก็อาจจะเป็นว่า เริ่มจากตอนเที่ยงหรือตอนเช้าแต่ส่วนมากพระองค์จะเริ่มบ่ายสามโมงจะทรงขับรถด้วยพระองค์เอง

วันหนึ่งมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “เหตุที่ฉันไม่บอกนั้น เพราะว่าไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อนเพราะถ้าบอกทางจังหวัดต้องออกไปเตรียมการ ไปทำอะไรต่ออะไร ข้าราชการทั้งหมดไปรับเสด็จฯยุ่งยากกันไปหมดทั้งจังหวัด” เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงบอกใครอยากไปตามเสด็จฯก็ไป ใครไม่อยากตามเสด็จฯ ก็ไม่ถือโทษโกรธกัน

จะสังเกตเห็นว่า จุดแรกที่พระองค์ทำ คือว่าต้องหนีบแผนที่ เสด็จพระราชดำเนินไปหาประชาชนก่อนเพื่อนเลย ส่วนมากมักจะคุยกับคนแก่ๆ ไม่ใช่ถามเรื่องทุกข์สุขหรืออะไร พระองค์ท่านมีวิธีการทำงานแบบลักษณะสมัยใหม่

ในขณะที่พวกเรานักวิชาการใช้คอมพิวเตอร์ใช้อะไรต่างนั้น  พระองค์ใช้ขีดความสามารถของพระองค์เองเป็นผู้ดำเนินการแต่พระองค์เดียวทั้งสิ้น พวกเราถวายข้อมูลเข้าไปแค่นั้นเอง แล้วในแผนที่ พระองค์ท่านจะทรงเขียนบันทึกมากมาย ก็แสดงว่ามีการเตรียมตัวทำการบ้านมาก่อนแล้วว่า บริเวณที่จะเสด็จฯไปนั้น มีข้อมูลอะไรบ้างมีเขียนเต็มไปหมดเลยด้วยลายพระหัตถ์

สิ่งแรกคือ ทรงตรวจสอบข้อมูลเหมือนอย่างพวกเรานักวางแผน แล้วทรงมีข้อมูลพื้นฐานที่เขียนไว้เช็กข้อมูลกับประชาชนเลย พระองค์ทรงเช็กโดยละเอียด 400 เมตรไปข้างหน้าเลี้ยวซ้ายเจอลำธารหรือเปล่า ฉะนั้น คนที่ตอบได้ถูกต้อง จะต้องเป็นคนแก่ๆ ซึ่งรู้จักภูมิประเทศนั้นดี พระองค์จะทรงซักถาม บางทีเป็นชั่วโมง ประทับราบอยู่ที่นั้น

ทรงเช็กจนแน่ใจแล้วว่าภูมิประเทศ กับแผนที่ถูกต้องเพราะรับสั่งอยู่เสมอว่า การพัฒนาจะต้องวางแผนให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ พระพระองค์เช็กข้อมูลกับราษฎรเสร็จ จะเรียกหน่วยงานราชการเข้ามาเช็กข้อมูลซ้ำอีกที แล้วจึงเรียกหน่วยปฎิบัติขึ้นมาส่วนมากจะเป็นเรื่องน้ำ เชื่อไหมว่า พระองค์ทรงอัจริยะในลักษณะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ทรงใช้เวลา 2-3 นาที จะทรงกำหนดและขีดให้ได้ทันทีว่า สร้างเขื่อนตรงนี้ จากเขานี้ไปเขานี้กั้นตรงนี้ แล้วพระองค์จะทรงวาดต่อได้เลยว่า พอสร้างเสร็จแล้วน้ำเต็มแล้ว จะท่วมบริเวณไหนบ้าง ระบายเป็นสีน้ำเงิน ออกมาให้ได้ทันที

ทรงศึกษาก่อนที่จะทรงทำอะไร ไม่ใช่ว่าไปถึงประทับแล้วชี้แต่พระองค์ท่านทรงรู้อยู่ตลอดเวลา คือหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาจะทรงศึกษาก่อนไม่ว่าพระองค์จะทรงสนพระทัยเรื่องอะไร ตราบใดที่ยังไม่ทะลุปรุโปร่ง ไม่สุดปลายของปัญหา พระองค์จะไม่ทรงหยุด จะเห็นได้ว่า เวลารับสั่งอะไร ถึงแม้จะเรียบง่ายแต่ว่าลึกซึ้ง แล้วก็อยู่ในลักษณะที่ใช้ธรรมชาติที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเรานั่นเองมาใช้ประโยชน์ ไม่นิยมของแพง ไม่นิยมโครงการลงทุนสูง ถ้ารู้ว่าวิธีการพัฒนาชาวเขาอย่างไร วิธีการสร้างฝายแม้วอย่างไรจะทึ่งมาก

พระองค์ท่านเคยรับสั่งว่า การพัฒนาประเทศของพระองค์จะใช้หลักสังฆทาน คือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกใครทั้งสิ้น จะอยู่ในศาสนาไหน อยู่แห่งหนใด จะเป็นชาวเขา หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่นั้น

นอกจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เกือบ 3000 โครงการ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร การส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการสังคม สาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเป็นโครงการที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยมากที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงคิดทฤษฎีใหม่ๆมากมาย ทรงมิเคยวางพระองค์อยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ ที่ประกอบพระราชกรณียกิจในหน้าที่องค์พระประมุขเท่านั้น แต่ยังทรงงานอย่างหนักทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ ทรงถือโอกาสนี้เสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎร ในท้องถิ่นทุรกันดารอย่างทั่วถึงอีกด้วย เพื่อที่จะได้ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎรในพื้นที่เหล่านั้น เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลที่ทรงมีอยู่แล้ว จึงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

บ่อยครั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรผู้ยากไร้และประสบความเดือดร้อน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยใหญ่ทั่วประเทศในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังทรงไม่หายจากพระอาการประชวร และต้องประทับรักษาพระวรกายอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช

แต่ก็ไม่วาย ห่วงใยในความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน ได้โปรดเกล้าฯให้นำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้ราษฎรที่ประสบอุทกภัยตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ พร้อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ดร. สุเมธ บอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อทำการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ที่คนไทยได้รับผลกระทบทั้งจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ท่าน

ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จประทับโรงพยาบาลศิริราชทรงสั่งลงมาให้ประชุมหน่วยงานต่างๆ พยายามพระราชทานคำเสนอแนะให้เกิดการประสานงานกับทุกหน่วยราชการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมาหลายปีก่อนมีน้ำทะลักเข้ามาก้อนใหญ่ทุกคนก็เฉย

แต่เมื่อพระองค์ท่านอดทนไม่ไหว เลยรับสั่งเรียกหน่วยงานต่างๆ มาประชุม และทรงถามว่าน้ำเดินทางเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่แต่ละชั่วโมงมาถึงไหน เพื่อวางระบบการเตือนภัยให้ทันท่วงที ตอนผมไปถวายงานกับพระองค์ท่านหลายสิบปีแล้วพระองค์ท่านเตือนพวกเราว่าระวังนะอย่าไปรังแกธรรมชาติหากไปรังแกมากๆ เขาจะโกรธเอาและเขาก็จะทำร้ายเรา ซึ่งเป็นจริงตลอดเรื่องพวกนี้เราถูกเตือนหมดแล้วพระราชกรณียกิจ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา ล้วนเกี่ยวกับดินน้ำลมไฟพระองค์ท่านทรงเตือนให้รักษาแผ่นดินเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตอย่างผาสุก

 ขณะนี้พระองค์ท่านประทับอยู่ที่ศิริราชจะให้ทรงงานอีกหรือ  อะไรก็จะให้พระเจ้าอยู่หัวทำที่ผ่านมาพระองค์ท่านทรงทำทุกวัน  ถ้าเสด็จฯ ออกมาได้  เชื่อว่าพระองค์ท่านคงเสด็จฯ ออกมาแล้ว ทรงไม่ประทับอยู่อย่างนั้นหรอก ทรงติดตามดูอยู่ทุกวัน  แทนที่จะมองไปที่พระองค์ท่าน  อย่าเอาภาระไปใส่พระองค์  เราจะต้องเลี้ยวกับมาดูว่า  เราแต่ละคนควรทำอย่างไร การรักษาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่พระองค์อย่างเดียว”

“การปลูกฝังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสอนตลอดเวลาว่า ถ้าไม่มีประชาชนก็ไม่มีพวกเรา เราเกิดมาได้เป็นเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินคนเขาเคารพนับถือท่านสอนอย่างนี้เสมอ ข้าพเจ้าก็ทุ่มสุดตัวที่จะทำ สำหรับประเทศไทยอะไรที่ดีกับไทยก็ทำ อยากให้ทุกท่านคิดเหมือนกันว่าอะไรดีที่สุดสำหรับแผ่นดินแม่เราก็ควรทำถ้าไม่มีแผ่นดินไทยไทยล่มสลายจะไม่มีใครมีความสุขได้เลย”

พระดำรัสดังกล่าวของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี คงพอจะเตือนสติคนไทยได้บ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเหนื่อยหนักมาตลอดพระชนม์ชีพแล้วถึงเวลาที่ยังที่ประชาชนอย่างพวกเราจะช่วยแบ่งเบาพระราชภาระอันหนักอึ้งด้วยการรู้รักสามัคคีกันเพื่อแผ่นดินไทย
 
ขอขอบคุณ ไทยรัฐ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙