วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานโครงการหลวง 2556


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 เวลา 17.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานโครงการหลวง 2556 ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2556 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทรัพย์สินส่วนพระองค์กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


นามปากกา รามอินทรา
วันที่ 28 มี.ค.2554 ผมได้มีโอกาสพบปะผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านได้ปรารถให้ฟังว่าปัจจุบันนี้มีความพยายามของบุคคลบางคนที่ต้องการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการประโคมข่าวที่บิดเบือนความจริงไปตามสื่อต่างๆทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องที่ท่านกังวลใจได้แก่ การนำเอาเรื่องนิตยสารฟอร์บส์จัดลำดับความร่ำรวยของพระมหากษัตริย์ไทยมาชี้นำให้คนทั่วไปเห็นความขัดแย้งระหว่างความร่ำรวยกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผมชี้แจงไปว่า ท่านอย่าได้วิตกกังวลมากไปเลยความจริงไม่ได้เป็นไปอย่างที่คนเหล่านี้ออกมาพูดหรอก ปัญหาก็คือ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นยุคกระเบื้องลอยน้ำ-อันธพาลครองเมืองที่คนดีมักจะเก็บตัวไม่ค่อยแสดงออก ตรงกันข้ามกับคนชั่วช้าสามานย์ชอบออกมาแสดงอำนาจ แสดงความรอบรู้ ทั้งการเคลื่อนไหวและการพูดจาโกหกเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่นอย่างหน้าด้าน พวกเขาได้สร้างพฤติกรรมดังกล่าวออกทางสื่อต่างๆ จนเกิดความเคยชินแล้วสรุปเอาเองว่านี่แหละคือ วิถีทางประชาธิปไตยของพวกเขามันเป็นสงครามข่าวสารที่คนชั่วชอบใช้อยู่เป็นประจำ คนไทยทั่วไปนั้นทราบดี แต่ก็ไม่ค่อยมีใครออกมาต่อต้านอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับเรื่องปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองบางคนในทุกวันนี้
ผู้ใหญ่ท่านนั้นกล่าวต่อไปว่า ปัญหามันอยู่ที่คนซึ่งไม่ทราบความจริงมาก่อนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อได้รับข่าวสารที่บิดเบือนดังกล่าวบ่อยครั้งเข้าจะเกิดความเชื่อโดยไม่รู้ตัวได้ ผมเห็นด้วยกับท่านไม่เช่นนั้นเขาจะมีตำราสงครามจิตวิทยาไว้ทำไม การโฆษณาชวนเชื่อมีผลที่เป็นไปได้จริง ดังนั้นผมจึงต้องกลับมาเขียนเรื่องเดิมอีกครั้ง พวกเขาพูดบ่อยๆซ้ำๆ ผมก็จะเขียนบ่อยๆซ้ำๆเหมือนกันจนกว่ามันจะตายไปข้างหนึ่ง
การที่สื่อต่างประเทศเช่น เว็บไซด์แวนคูเวอร์ซันหรือนิตยสารฟอร์บส์จัดลำดับจากผลการสำรวจทรัพย์สินระบุว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีฐานะร่ำรวยอยู่ในลำดับที่หนึ่ง โดยได้นำเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าไปรวมกับทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่แล้ว
ตาม พรบ.ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2477 ได้ยกเว้นการเก็บภาษีอากรทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เว้นแต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ต้องเสียภาษี โดยได้ให้คำจำกัดความทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นหมายถึงอะไรบ้าง แต่เนื่องจากทรัพย์สินฯดังกล่าวของเดิมยังรวมกันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมพระคลังข้างที่ รัฐบาลสมัยนั้นที่มี พ.อ. พหล พลพยุหเสนา เป็น นรม. จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6 นาย โดยมี พระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็นประธานให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการเก็บภาษีทรัพย์สินส่วนพระองค์ ตาม พรบ.ดังกล่าวได้ ซึ่งคณะกรรมการก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย

ต่อมาได้มีการออกพรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์อีก 3 ฉบับ ในพ.ศ. 2479 พ.ศ. 2484 และพ.ศ. 2491 โดยได้แบ่งทรัพย์สินฯออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้คำจำกัดความเอาไว้ดังนี้
  - ทรัพย์สินส่วนพระองค์ หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใด นอกจากที่ทรงได้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์
 - ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง
- ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ นอกจากทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวมาแล้ว
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้ถูกจัดแบ่งออกไปอย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 จึงไม่สามารถที่จะนำเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปรวมกันแล้วนำมาจัดลำดับความร่ำรวยได้ แม้ว่ารายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 ของพรบ.ฯ แต่ตัวทรัพย์สินทั้งหมดยังคงอยู่และถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าพระองค์ใด เสด็จขึ้นมาครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆไปก็จะทรงมีสิทธิเฉพาะรายได้จากทรัพย์สินส่วนนี้สำหรับไว้ใช้ตามพระราชอัธยาศัย
เรื่องของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นี้ผมเคยอ่านพบในบทความหนึ่งเขียนเอาไว้ว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์แต่จัดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งผมเห็นว่าข้อเขียนนี้ก็ไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันที่ได้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินของแผ่นดินออกไปแล้ว บรรดาที่ดินซึ่งอยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีโฉนดทุกแปลงและส่วนใหญ่จะมีพระนามของพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆเป็นเจ้าของที่ดิน (ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) แตกต่างจากที่ดินสาธารณะประโยชน์ ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร ฯลฯ ซึ่งมิได้มีโฉนดและหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแล ถือว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
การกล่าวถึงข้อเท็จจริงเรื่องทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็เพื่อให้มีความชัดเจนว่าสื่อต่างประเทศจัดลำดับความร่ำรวยโดยใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามความร่ำรวยอันดับที่เท่าใดก็ไม่ได้มีความสำคัญในประเด็นนี้ การที่มีบุคคลบางคนได้พยายามนำเรื่องความร่ำรวยมาอ้างถึงให้เกี่ยวพันกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นสิ่งที่ขัดกันนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้นมาอย่างไร้สาระสิ้นดี วัตถุประสงค์ของพวกเขาเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการให้ร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นการชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตของบุคคลรวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีความมั่นคงไม่เกิดความผิดพลาดหรือเสียหายอย่างรุนแรงแม้จะเกิดเหตุการณ์วิกฤติใดๆขึ้น ไม่ได้มีข้อห้ามความร่ำรวยความเจริญก้าวหน้าแต่ประการใด
ทั้งคนรวย คนปานกลาง และคนจนก็สามารถที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นหลักในแนวทางการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพการงานได้ ความร่ำรวยมากน้อยเพียงใดก็มิได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าความร่ำรวยนั้นไม่ได้มีที่มาโดยมิชอบ
ความดี ความชั่ว ไม่ได้วัดกันที่ความร่ำรวยหรือความยากจน
คนรวยที่ทุจริตคอรัปชั่น บ่อนทำลายชาติบ้านเมือง มีพฤติกรรมที่เลวทรามเป็นคนชั่ว
คนจนหาเช้ากินค่ำ มีความประพฤติดี รักชาติบ้านเมือง เป็นคนดี

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ในหลวง” พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาว


วันที่ 26 ธ.ค.2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ภาคเหนือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยหนาวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา และหอประชุมที่ว่าการอำเภอสะเมิง รวม 1,000 ผืน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ คาดว่าสภาพอากาศทางภาคเหนือตอนบนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ อุณหภูมิจะต่ำสุด 13-21 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณเทือกเขา หรือยอดดอยจะมีอุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ทำให้จังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะในพื้นที่สูงจะได้รับผลกระทบจากภัยหนาวต่อไปอีก ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศให้ทั้ง 25 อำเภอเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สภากาชาดไทย ร่วมกับจังหวัดนครพนม นำผ้าห่มกันหนาว จำนวน 1,200 ชุด และเสื้อกันหนาวพร้อมอุปกรณ์การเรียน จำนวน 200 ชุด ไปมอบแก่ประชาชนและนักเรียน เพื่อบรรเทาความหนาวเย็น และสร้างขวัญกำลังใจ ที่วัดบัวขาว อำเภอเรณูนคร และหอประชุมโรงเรียนกุตาไก้วิทยาคม อำเภอปลาปาก โดยสภากาชาดไทยได้ให้สถานีกาชาดต่าง ๆ ที่รับผิดชอบพื้นที่ภัยหนาว ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ในหลวง” พระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย


วันที่ 24 ธ.ค.2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย และภัยหนาว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดต่าง ๆ โดยนายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิฯ และคณะ ไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบอุทกภัย ณ หอประชุมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41อำเภอรามัน จังหวัดยะลา 2,000 ครัวเรือน, องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล 2,000 ครัวเรือน, และโรงเรียนวัดตันตยาภิรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง อีก 1,000 ครัวเรือน โดยพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศมาเลเซีย ในช่วงวันที่ 22 – 23 ธันวาคมนี้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น  ทำให้มีฝนเพิ่มมากขึ้น เกิดน้ำป่าไหลหลาก, น้ำล้นตลิ่ง, และน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย            

ส่วนนายประวิทย์  หาญณรงค์ รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และคณะ ไปมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาว ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ รวม 1,000 ผืน โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และมีความกดอากาศสูงระลอกใหม่แผ่เสริมลงมาในช่วงวันที่ 21 – 23 ธันวาคมนี้ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นต่อไป ขณะนี้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาวแล้ว 12 จังหวัด 78 อำเภอ 519 ตำบล 5,806 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านครัวเรือน กว่า 3.2 ล้านคน

หน่วยแพทย์พระราชทานพระตำหนักจักรีบงกช จัดกิจกรรม “การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายอายุ 55 – 69 ปี” ณ บริเวณพระตำหนักจักรีบงกช จังหวัดปทุมธานี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 ภายใต้แนวคิด “ความรักพ่อนั้นยิ่งใหญ่ โปรดใส่ใจในสุขภาพของพ่อ” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีการเจาะเลือดเพื่อหาค่าของเอนไซม์ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และนิทรรศการความรู้เรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2552 พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากติดอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย ปัจจุบันพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นมากกว่าระยะลุกลาม เนื่องจากสามารถตรวจคัดกรองได้ นอกจากนี้ มีบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป กิจกรรมยางยืดพิชิตโรค และการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๖ พรรษา “พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์”


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๖ พรรษา "พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์” และลงนามถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กล่าวรายงาน ถึงวัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ 


ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศ และนายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ รับเสด็จ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ซึ่งนิทรรศการนี้รัฐบาล ร่วมกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ หรือ พระมหากษัตริย์โดยนิทรรศการได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ, การยกย่องเฉลิมพระเกียรติจากหน่วยงานและองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา อาทิ อัครศิลปิน, พระบิดาแห่งฝนหลวง, พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน นอกจากนี้ มีการแสดงประติมากรรมรูปกระต่าย สัญลักษณ์ปีพระบรมราชสมภพจากศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมทั้ง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหลวง

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“พระราชินีฯ” พระราชทานผ้าห่มกันหนาวช่วยเหลือประชาชน จ.ศรีสะเกษ


วันที่ 20 ธ.ค.2556  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานช่วยเหลือประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ผู้ประสบภัยหนาว จ.ศรีสะเกษ เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นและสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน


วานนี้ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกา สภากาชาดไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางมามอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ประชาชนที่กำลังประสบภัยหนาวในเขต อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จำนวนทั้งสิ้น 400 ชุด พร้อมทั้งถวายพระภิกษุสงฆ์จำนวน 30 ชุด โดยมี นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางศิรดา กีรติเรขา นายกเหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ และคณะกรรมการเหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ และร่วมพิธีมอบผ้าห่มกันหนาวในครั้งนี้

นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบภาวะความหนาวเย็น จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตนเป็นผู้แทนพระองค์นำเครื่องกันหนาว จำนวน 1,660 ชุดมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และมอบแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นและสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนในพื้นที่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ อ.ศิลาลาด อ.ราษีไศล และ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ

ขณะที่ในช่วงเช้าผู้แทนพระองค์ได้เดินทางไปที่หอประชุมที่ว่าการ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ และหอประชุมที่ว่าการ อ.ศิลาลาด เพื่อถวายผ้าห่มกันหนาวแด่พระภิกษุสงฆ์ อำเภอละ 30 ชุด และมอบผ้าห่มกันหนาว และเสื้อกันหนาวแก่ประชาชน อำเภอละ 400 ชุด จากนั้นในช่วงบ่ายได้เดินทางไปที่หอประชุมที่ว่าการ อ.ราษีไศล และหอประชุมที่ว่าการ อ.ยางชุมน้อย เพื่อถวายผ้าห่มกันหนาวแด่พระภิกษุสงฆ์ อำเภอละ 30 ชุด และมอบผ้าห่มกันหนาวและเสื้อกันหนาวให้แก่ประชาชน อำเภอละ 400 ชุด

นอกจากนี้ ยังมีผ้าห่มกันหนาวอีกกว่า 20,000 ผืนที่สภากาชาดไทยมอบหมายให้เหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่ประสบภัยหนาว นำไปมอบให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อน โดยเป็นผ้าห่มทอมือจากฝีมือชาวบ้าน 30 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสภากาชาดไทย ตามนโยบายด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นอีกภารกิจหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือประชาชนของสภากาชาดไทย

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ในหลวง-พระราชินีฯ” พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรในพื้นที่ต่างๆ


เมื่อ 19 ธ.ค.2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรในพื้นที่ต่างๆ โดยนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน กปร. และคณะ ไปติดตามความสำเร็จของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข อำเภอปง จังหวัดพะเยา พร้อมกับมอบข้าวพันธุ์พื้นเมือง เบียเลียะ, ข้าวพันธุ์ กข.39, และข้าวพันธุ์ก่ำล้านนา แก่ราษฎรบ้านสันติสุข สำหรับทำนาดำขั้นบันได และมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อบรรเทาความหนาวเย็น

โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านสันติสุข ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งปลูกฝังให้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าและแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำยม  โดยยึดระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินงาน  ปัจจุบัน ได้ส่งเสริมการปลูกพืชบนพื้นที่สูงแบบอนุรักษ์ และการทำนาดำ โดยสนับสนุนให้ราษฎรทำนาขั้นบั้นไดเพิ่มจาก 90 ไร่เป็น 610 ไร่ ได้ผลผลิตไร่ละ 40-50 ถัง ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากครอบครัวละ 15,000 บาทต่อปี เป็น 50,000 บาทต่อปี  นอกจากนี้ยังฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 ไร่ด้วย

ที่จังหวัดศรีสะเกษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะจากส่วนกลาง ไปเยี่ยมครอบครัวเด็กกำพร้าที่บิดาเสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย ปี 2556 ได้แก่ ครอบครัวเด็กหญิงศศิภัทร เครือวัลย์ อาศัยอยู่ที่อำเภอไพรบึง ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านหัวช้าง, และครอบครัวเด็กชายธีระนัย  จารุนัย อาศัยอยู่ที่อำเภอขุขันธ์ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อพิจารณามอบทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์

ส่วนที่หอประชุมอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ร้อยเอกไพบูลย์ สุขเจตนี รองผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทาน จำนวน 1,000 ถุง แก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาว พร้อมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานฯ ไปตรวจรักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย  ทั้งนี้ จังหวัดสกลนคร มีสภาพอากาศที่เย็นลงโดยเฉพาะในตอนเช้าและกลางคืน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และก่อไฟผิงเพื่อบรรเทาความหนาวเย็น โดยมีอุณหภูมิลดลงต่ำสุด 13-14 องศาเซลเซียส ส่วนยอดภูพานมีอุณหภูมิ 9-10 องศาเซลเซียส ราษฎรขาดแคลนเครื่องกันหนาวใน 18 อำเภอ กว่า 200,000 คน

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หัวหิน..ถิ่นท่องเที่ยวมนต์เสน่ห์..ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ


“หัวหิน”ชุมชนเมืองในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 86.36 ตารางกิโลเมตร หรือ 53,945 ไร่เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศริมทะเลชั้นนำระดับประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 200 กิโลเมตร สามารถเดินทางไป-กลับได้ในวันเดียวด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบายทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัวรถโดยสารรถไฟและเครื่องบินโดยมีทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) และทางรถไฟสายใต้ตัดผ่านเมืองหัวหิน

“ชุมชนเมืองหัวหิน” ตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ.2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3เมื่อราษฎรกลุ่มหนึ่งย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหาดทรายที่สวยงามมีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปปัจจุบันเป็นพื้นที่บริเวณใกล้ๆ กับเขาตะเกียบเรียกกันว่า “บ้านสมอเรียง”

ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ( ต้นราชสกุลกฤดากร ) ได้มาสร้างตำหนักใหญ่ทางด้านใต้ของหมู่หินชื่อ “แสนสำราญสุขเวศน์”

และทรงตั้งชื่อหาดทรายขาวละเอียดอันสวยงามที่ทอดยาวกว่า5กิโลเมตรบริเวณนี้ใหม่ว่า “หัวหิน” ซึ่งในเวลาต่อๆ มาพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดจึงเรียกกันว่า “หัวหิน”


ณวันนี้“หัวหิน”ยังคงความสวยงามตามธรรมชาติมีหาดทรายขาวละเอียดและทรงคุณค่าในประวัติศาสตร์เป็นเมืองท่องเที่ยวเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่หลากหลายทุกยุคทุกสมัยดังเช่น“ตลาดฉัตรไชย”ตลาดเก่าแก่กว่า80ปีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่7ในปีพ.ศ.2469

“สถานีรถไฟหัวหิน” สถาปัตยกรรมย้อนยุคสร้างด้วยไม้ มีห้องสมุดรถไฟหัวหินที่ดัดแปลงมาจากรถไฟดีเซลราง “วัดห้วยมงคล” ที่ประดิษฐานหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลกมีหน้าตักกว้าง 9.9 เมตรสูง 11.5 เมตร“เพลินวาน”แหล่งท่องเที่ยวที่จำลองร้านรวงและบรรยากาศต่างๆ ที่หลากหลายในอดีตมารวมไว้ที่แห่งเดียว

นอกจากนี้ ยังมีตลาดน้ำหัวหินหมู่บ้านช้างตลอดจนตลาดโต้รุ่งถนนคนเดินที่เป็นสีสันยามราตรี

แต่ที่สำคัญหัวหินยังเป็นสถานที่ตั้งของ “พระราชวังไกลกังวล” บ้านของพ่อของคนไทยทั้งประเทศ
หัวหินวันนี้จึงเป็นตลาดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลมาเที่ยวเยี่ยมชนตลอดทั้งปี

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดนักท่องเที่ยวของหัวหินขยายตัวอย่างรวดเร็วจากจำนวน 1.97 ล้านคนในปี2553เพิ่มขึ้นเป็น 2.40 ล้านคนในปี 2554และเป็น 3.25 ล้านคนในปี 2555 โดยมีสัดส่วนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยประมาณ 20 – 25% ของตลาดท่องเที่ยวโดยรวมของหัวหิน

ทั้งนี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในหัวหินเพิ่มขึ้นจาก17,318 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 22,668 ล้านบาทในปี 2555 และเป็น 27,000ล้านบาทในปี 2556 โดยร้อยละ 64 ประมาณ 17,300 ล้านบาทมาจากนักท่องเที่ยวไทยและร้อยละ 36 ประมาณ 9,700 ล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ


ในความสำเร็จของการท่องเที่ยวของหัวหินดังกล่าวแหล่งท่องเที่ยวเป็นความประทับใจแต่หัวใจสำคัญคือความสะดวกและการเข้าถึงเมืองหัวหินโดยเขตเทศบาลเมืองหัวหินเป็นพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงธรรมชาติ

 การเติบโตของเมืองหัวหินอย่างรวดเร็วมีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนและบ้านจัดสรรจำนวนมากเมื่อเกิดฝนตกหนักจึงขวางทิศทางการไหลของน้ำที่จะระบายลงสู่ทะเลชุมชนเมืองหัวหินและเส้นทางคมนาคมเกิดน้ำท่วมจึงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากมาย

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในเมืองหัวหินอย่างเป็นระบบกล่าวคือ

• ด้านทิศเหนือของเมืองหัวหินทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างคลองระบายน้ำสายหัวหิน ความยาว 8.115 กิโลเมตรเพื่อเป็นคลองรับน้ำฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกของทางรถไฟและน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ป้องกันไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่ด้านในเมืองหัวหินแล้วผันน้ำลงคลองธรรมชาติที่ขุดลอกปรับปรุงใหม่แล้วระบายน้ำออกสู่ทะเล

• พื้นที่ใจกลางเมืองหัวหินบริเวณตลาดฉัตรไชยและสถานีรถไฟหัวหินทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงทางระบายน้ำขนานทางรถไฟ เพื่อรับน้ำจากกลางเมืองหัวหินและพื้นที่ลุ่มน้ำสถานีรถไฟหนองแก ระบายน้ำสู่คลองเขาตะเกียบแล้วระบายลงสู่ทะเล

อีกสิ่งหนึ่งในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเมืองหัวหินเป็นพระเมตตาของพระองค์ที่น้อยคนนักจะรู้โดยมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้พื้นที่วังไกลกังวลซึ่งเสมือนเป็นบ้านของพระองค์เป็นพื้นที่รับน้ำและช่วยระบายน้ำ

 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างช่องรับน้ำตลอดแนวกำแพงพระราชวังไกลกังวล เพื่อรับน้ำจากพื้นที่ท่วมขังและจากถนนเพชรเกษมโดยให้ไหลลงคูระบายน้ำและทรงผันน้ำที่ทรงให้ก่อสร้างในพื้นที่วังไกลกังวลเพื่อลงทะเลน้อยแล้วระบายออกสู่ทะเล

นี่คือ “พ่อของแผ่นดิน” ที่มีแต่ “ให้” ความช่วยเหลือแก่ลูกตลอดเวลา

การจัดการระบบระบายน้ำท่วมขังเมืองหัวหินตามแนวพระราชดำริดังกล่าวสามารถระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ด้านทิศเหนือประมาณ 72.20 ลบ.ม./วินาทีคลองธรรมชาติด้านทิศเหนือ 115.35 ลบ.ม./วินาทีพื้นที่ด้านทิศใต้สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 85.07 ลบ.ม./วินาทีและในพื้นที่วังไกลกังวลสามารถระบายน้ำได้ 15.25 ลบ.ม./วินาทีซึ่งส่งผลดีต่อการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้รวดเร็วขึ้น

เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรและยังเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในเมืองหัวหินอย่างอเนกอนันต์

พระเมตตาและน้ำพระทัยของพระองค์ส่งผลให้เมืองหัวหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ตลอดกาลขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2555 โดยปีนี้ สภามหาวิทยาลัยมีมติถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  จากนั้นพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ปริญญาโท ประกาศนียบัตรบัณฑิต และปริญญาตรี รวม 9,173 คน

ในการนี้ มีพระราโชวาทใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นบัณฑิต บัณฑิตที่แท้นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติที่สำคัญ คือเป็นผู้มีความรู้ดี มีความคิดดี และมีจิตใจดี คุณสมบัติทั้งสามประการนี้ บัณฑิตจะต้องหมั่นฝึกฝนอบรมให้มีขึ้นอย่างครบถ้วน และต้องใช้ให้ประกอบพร้อมกันไปทุกส่วน จะละเลยสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปมิได้  ทั้งนี้เพราะการใช้ความรู้โดยปราศจากความคิดนั้นจะทำให้ไม่สามารถนำความรู้อันเป็นหลักวิชาไปปรับใช้ให้บังเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน การใช้ความคิดโดยมิได้ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความรู้ก็อาจจะทำให้เกิดความบกพร่องหละหลวมในวิธีคิด ซึ่งอาจส่งผลให้ทำงานผิดพลาดได้ ที่สำคัญ หากบุคคลใช้ความรู้ความคิดโดยปราศจากจิตใจที่ตั้งมั่นในสุจริตธรรมเป็นเครื่องควบคุมกำกับ ก็อาจเห็นผิดเป็นชอบ นำความรู้ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร อันจะส่งผลร้ายทั้งแก่ตนเอง แก่สังคม และแก่ประเทศชาติได้ จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาสิ่งที่พูดนี้ให้เข้าใจชัด จะได้สามารถประพฤติตน ปฏิบัติงานให้สมกับที่เป็นบัณฑิตที่แท้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารสัตววิทยรักษ์” โรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์สุขภาพ วิจัย และชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ และรองรับภารกิจด้านการเรียนการสอนของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ตลอดจนหารายได้เพื่อพึ่งพาตนเองในอนาคต โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลากฤษอาคารเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 และพระราชทานชื่ออาคารอันหมายถึง อาคารซึ่งเป็นสถานที่รักษาสัตว์และให้ความรู้เรื่องสัตว์ และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับเหนือชื่ออาคาร โดยเป็นอาคาร 5 ชั้น แบ่งเป็นอาคารรักษาสัตว์เลี้ยง มีห้องให้บริการต่าง ๆ อาทิ ห้องอายุรกรรม ศัลยกรรม ธาราบำบัด ห้องพักสัตว์ป่วย และห้องปฏิบัติการวิจัย สามารถรองรับการบริการสุขภาพสัตว์มากกว่า 300 ราย ต่อวัน และอาคารรักษาสัตว์ใหญ่โคและม้า ให้บริการปศุสัตว์ด้านโรคอายุรกรรม สูติกรรม และศัลยกรรม แก่โค ม้า และสุกร เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 20.00 น.

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ในหลวง” พระพักตร์แจ่มใส เสด็จฯทอดพระเนตรโครงการชั่งหัวมัน

 

เมื่อ 16 ธ.ค.2556 ‘ในหลวง’ เสด็จฯ ไปโครงการชั่งหัวมัน ทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านปศุสัตว์ พร้อมพระราชทานนมแก่ลูกโคเพศผู้ พันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชี่ยน อายุ 25 วัน เมื่อเวลา 10.09 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปทอดพระเนตรผลการดำเนินงานโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ในส่วนของพื้นที่ปศุสัตว์ ในการนี้พระราชทานนมแก่ลูกโค อายุ 25 วัน เป็นเพศผู้ พันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชี่ยน หรือที่รู้จักกันในกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมทั่วไปว่า พันธุ์ขาว-ดำ โดยเกิดจากแม่โคในโครงการเลี้ยงโคนมชื่อ แม่ใบบัว ปกติลูกโคจะได้กินนมวันละ 2 เวลาเช้า-เย็น ครั้งละ 2 ลิตร โดยใช้นมสดที่รีดมาจากแม่โค สำหรับโคนมพันธุ์ดังกล่าวเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา โดยมีคุณลักษณะพิเศษคือ ให้น้ำนมเยอะ จากนั้นได้พระราชทานหญ้าแก่แม่โคนมจำนวน 9 ตัว


ทั้งนี้ โครงการเลี้ยงโคนมแห่งนี้ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2553 ในระยะแรกได้นำโคนมที่ปลดจากการให้นมแล้วจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดามาเลี้ยง 14 ตัว ต่อมาปี 2555 เริ่มนำแม่พันธุ์โคนมเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ 19 ไร่ เป็นโคนมที่สหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรชุมพร รวมทั้งฟาร์มโคนมโชคชัย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ปัจจุบันได้เพิ่มปริมาณมีแม่โคที่สามารถรีดน้ำนมได้ 9 ตัว มีโคท้อง 2 ตัว และลูกโคอีก 9 ตัว การรีดน้ำนมจะทำวันละ 2 เวลา คือ เวลา 07.00 น. และ 16.00 น. โดยน้ำนมสดที่ได้เฉลี่ยวันละ 150 กิโลกรัม จากนั้นส่งไปจำหน่ายที่สหกรณ์โคนมชะอำ กิโลกรัมละ 17 บาท เพื่อแปรรูปเป็นนมพาสเจอไรซ์ส่งให้โครงการนมโรงเรียนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โครงการชั่งหัวมันจะขยายโครงการเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งจะก่อสร้างโรงงานผลิตนมพาสเจอไรซ์ และนมสเตอริไลซ์ ขึ้นภายในพื้นที่โครงการ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการก่อสร้างดังกล่าวในวงเงิน 60 ล้านบาท และทางโครงการจะสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้รับซื้อน้ำนมดิบในปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเพียงพอสำหรับป้อนโรงงานในปริมาณวันละ 10 ตัน

 นอกจากนี้จะรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งแต่เดิมส่งน้ำนมดิบไปยังโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของเกษตรกรไม่ให้เดินทางไกล รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ โดยจะผลิตเป็นนมพาสเจอไรซ์ และสเตอริไรซ์ วางจำหน่ายในพื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และอ.หัวหิน รวมทั้ง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายแม่โคสาวเพิ่มให้โครงการอีกจำนวน 14 ตัว สำหรับเลี้ยงภายในโครงการ ซึ่งดำเนินงานโดยเน้นให้เป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรที่สนใจได้ศึกษาดูงานเพื่อนำไปพัฒนาดำเนินงานในพื้นของตนเองต่อไป ตามพระราชประสงค์ และพระราชดำริ ที่ทรงจัดตั้งโครงการแห่งนี้ขึ้นให้เป็นศูนย์รวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ และการสาธิตการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นโครงการตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้



ทั้งนี้นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษา กลุ่มเกษตรกร เข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง และราษฎรในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์จากโครงการในหลายด้าน ทั้งมีไฟฟ้าใช้ มีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร และใช้อุปโภคบริโภค ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมสะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังเก็บผลผลิตทางการเกษตรส่งจำหน่ายให้โครงการ ซึ่งส่งไปจำหน่ายต่อยังร้านโกลเด้นเพลสสาขาต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานและความคืบหน้าในแต่ละส่วนของโครงการเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙