วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

ผู้แทนพระองค์มอบถุงพระราชทานผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดพะเยา น่าน และกาญจนบุรี


วันที่ 6ม.ค.2557 ผู้แทนพระองค์มอบถุงพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดพะเยา, น่าน และกาญจนบุรี

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ร้อยเอกไพบูลย์ สุขเจตนี รองผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทานภัยหนาว จำนวน 1,000 ถุง พร้อมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ให้บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยที่วัดท่าฟ้าเหนือ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และโรงเรียนบ้านวังยาว อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน                     

จังหวัดพะเยาประกาศให้พื้นที่ 9 อำเภอ เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ประสบภัยหนาวกว่า 83,000 คน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 35,750 คน นอกนั้นยังขาดแคลนเครื่องกันหนาว สำหรับที่อำเภอเชียงม่วน มีราษฎรเดือดร้อนกว่า 6,000 คนส่วนที่จังหวัดน่านมีผู้ประสบภัยหนาวที่ขาดแคลนเครื่องกันหนาวในพื้นที่ 15 อำเภอ กว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ, ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบความเดือดร้อน สำหรับที่อำเภอบ้านหลวง มีผู้ประสบภัยหนาวที่ยังขาดแคลน รวม 2,300 คน

ที่จังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกเจษฎา ศรีสุภาพ รองสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้แทนไปมอบสิ่งของพระราชทานแก่ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่บ้านกองม่องทะ และบ้านจะแก ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี ซึ่งปัจจุบันยังคงมีความเดือดร้อนตามประกาศของจังหวัด เรื่องประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอำเภอสังขละบุรี พื้นที่บ้านกองม่องทะ และบ้านจะแก เป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติฯ  

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

“ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ” พระราชทานกระบี่-ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ


วันที่ 6 ม.ค.2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  เสด็จแทนพระองค์ไปยังโรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ  พระราชทานกระบี่ และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรือต่างประเทศ ประจำปีการศึกษา 2555 จำนวน 54 คน

โรงเรียนนายเรือเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของกองทัพเรือ ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 4 ปี มีสิทธิได้รับปริญญาตรีสาขาต่างๆ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานยศ เรือตรี และร้อยตำรวจตรี

โอกาสนี้ มีพระโอวาทใจความสำคัญว่า “นักเรียนนายเรือทั้งหลายเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ย่อมมีภารกิจ และความรับผิดชอบอันสำคัญรออยู่เบื้องหน้า คือ การสร้างเสริม และรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมือง ในโอกาสที่ท่านจะเข้ามารับภาระอันสำคัญยิ่งนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะเสนอแนะหลักการสำคัญบางประการในการปฏิบัติงานให้ประสบผลสำเร็จ ประการแรก จะต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถให้สำเร็จผลสมบูรณ์ตรงตามวัตถุประสงค์ ด้วยความเข้มแข็ง และสุจริต โดยไม่มุ่งหวังบำเหน็จรางวัล หรือผลประโยชน์ในทางมิชอบ ประการที่สอง จะต้องเป็นคนมีระเบียบวินัย โดยประพฤติตนตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และให้สำเร็จทันภายในเวลาที่กำหนด ประการที่สาม  จะต้องมีความเป็นผู้นำที่ดีที่ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม  และหลักการที่ถูกต้อง รวมทั้งมีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ในงาน มีวิจารณญาณอันรอบคอบ สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด แม่นยำ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด”

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

“ในหลวง” ทรงอวยพรปีใหม่ 2557


วันที่ 31 ธ.ค.2556 “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงอวยพรปีใหม่ ให้นึกถึงส่วนรวมและความเป็นไทยเพื่อให้งานบรรลุผล

ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ให้มีความสุข ความเจริญ และความสำเร็จ สมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา ความปรารถนาของทุกๆ คนคงไม่แตกต่างกันนัก คือ ต้องการให้ตนเองมีความสุข ความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบ ร่มเย็น

 ในปีใหม่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ให้สมบูรณ์ แข็งแรง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มกำลัง ข้อสำคัญ จะคิด จะทำสิ่งใด ให้นึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยไว้เสมอ งานของตน และงานของชาติ จะได้ดำเนินก้าวหน้าไปโดยถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ติดขัด และบรรลุถึงประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญ และความสงบร่มเย็น ดังที่ทุกคนตั้งใจ ปรารถนา

 ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครอง รักษาท่านทุกคนให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดศกหน้านี้ โดยทั่วกัน

พร้อมทั้ง พระราชทาน ส.ค.ส. ปีพุทธศักราช 2557 แก่ประชาชนชาวไทย ใจความว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ Happy New Year 2014 ส.ค.ส. ๒๕๕๗ สวัสดีปีใหม่


ส.ค.ส.พระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2557 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สากลสีน้ำเงินเข้ม ทรงผูกเนกไทสีเขียวอ่อน มีลวดลายเข้าชุดกับผ้าปักพระกระเป๋า ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ฉลองพระบาทสีดำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระเก้าอี้สีขาว หน้าพระแกล หรือหน้าต่าง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน ทรงฉายกับคุณทองแดง สุนัขที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 สวมเสื้อสีเหลือง หมอบอยู่แทบพระบาทด้านขวา

ด้านขวาบน มีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับ ส่วนด้านซ้าย มีผอบทองประดับ ด้านล่างของผอบทอง มีตัวอักษรสีเหลือง ข้อความว่า “ส.ค.ส.2557″ และตัวอักษรสีส้ม ข้อความว่า “สวัสดีปีใหม่”

ด้านขวา ใต้ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มีข้อความภาษาไทยพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีฟ้า ว่า “ขอจงมีความสุขความเจริญ” และข้อความภาษาอังกฤษ พิมพ์ด้วยตัวอักษรสีเขียวเข้ม ว่า “HAPPY NEW YEAR 2014″

ด้านล่างของ ส.ค.ส.มีแถบสีเขียวเข้ม มุมล่างขวามีข้อความ “ก.ส.9 ปรุง 060931 ธ.ค.56 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvannachad publishing, D Bromaputra. Publisher”

กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ส่วนด้านบนและด้านล่างเรียงกันด้านละ 2 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม

“ในหลวง” ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการชั่งหัวมัน


วันที่ 2 ม.ค.2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการเลี้ยงโคนม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการชั่งหัวมันขึ้น เมื่อปี 2552 ในพื้นที่ 250 ไร่ เพื่อเป็นโครงการทดลองด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ และพืชพันธุ์ดีในพื้นที่มาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร โดยเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ

จนประสบผลสำเร็จ อาทิ การใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานทดแทน, การผลิตพืชปลอดภัยจากสารพิษ, ส่งเสริมการผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง, และพัฒนาการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  ในการนี้ พระราชทานหญ้าพันธุ์แพงโกล่าแก่แม่โคนม จำนวน 11 ตัว และพระราชทานนมแก่ลูกวัวเพศผู้ พันธุ์โฮลสไตล์ ฟรีเชี่ยนหรือพันธุ์ขาว-ดำ อายุ 41 วัน ที่ได้พระราชทานนมให้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2556 และได้พระราชทานชื่อว่า “ตุ้ม” ขณะนี้ ลูกวัวมีพัฒนาการดี ลักษณะเหมาะเป็นพ่อพันธุ์มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม สุขภาพแข็งแรง สามารถกินหญ้าได้เอง โดยเจ้าหน้าที่ยังให้นม 1 ลิตร เช้า-เย็นไปจนกว่ากระเพาะอาหารของลูกวัวจะย่อยหญ้าได้เต็มที่ เมื่ออายุ 6 เดือน สำหรับโครงการเลี้ยงโคนม เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบัน มีแม่โคที่สามารถรีดน้ำนมได้ 9 ตัว, โคท้อง 2 ตัว และลูกโคอีก 9 ตัว จะรีดน้ำนมเวลา 07.00 น.และ 16.00 น.สามารถรีดน้ำนมได้ 17 ลิตรต่อวัน ขณะนี้อากาศเริ่มอุ่นขึ้นทำให้รีดน้ำนมจากแม่โคนมบางส่วนได้น้อยลง เนื่องจากเป็นโคสายพันธุ์ยุโรปชอบอากาศเย็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้อาหารเสริมโปรตีน และให้การดูแลอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ในการเสด็จพระราชดำเนินมาในครั้งนี้ มีราษฎรในพื้นที่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และพื้นที่ใกล้เคียง มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนวนมาก โดยต่างปลื้มปิติ ที่เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระพลานามัยแข็งแรงซึ่งพร้อมใจเปล่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” กันอย่างกึกก้อง และรู้สึกเป็นสิริมงคล ที่ได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2557

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานโครงการหลวง 2556


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 เวลา 17.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานโครงการหลวง 2556 ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2556 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทรัพย์สินส่วนพระองค์กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


นามปากกา รามอินทรา
วันที่ 28 มี.ค.2554 ผมได้มีโอกาสพบปะผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านได้ปรารถให้ฟังว่าปัจจุบันนี้มีความพยายามของบุคคลบางคนที่ต้องการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการประโคมข่าวที่บิดเบือนความจริงไปตามสื่อต่างๆทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องที่ท่านกังวลใจได้แก่ การนำเอาเรื่องนิตยสารฟอร์บส์จัดลำดับความร่ำรวยของพระมหากษัตริย์ไทยมาชี้นำให้คนทั่วไปเห็นความขัดแย้งระหว่างความร่ำรวยกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผมชี้แจงไปว่า ท่านอย่าได้วิตกกังวลมากไปเลยความจริงไม่ได้เป็นไปอย่างที่คนเหล่านี้ออกมาพูดหรอก ปัญหาก็คือ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นยุคกระเบื้องลอยน้ำ-อันธพาลครองเมืองที่คนดีมักจะเก็บตัวไม่ค่อยแสดงออก ตรงกันข้ามกับคนชั่วช้าสามานย์ชอบออกมาแสดงอำนาจ แสดงความรอบรู้ ทั้งการเคลื่อนไหวและการพูดจาโกหกเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่นอย่างหน้าด้าน พวกเขาได้สร้างพฤติกรรมดังกล่าวออกทางสื่อต่างๆ จนเกิดความเคยชินแล้วสรุปเอาเองว่านี่แหละคือ วิถีทางประชาธิปไตยของพวกเขามันเป็นสงครามข่าวสารที่คนชั่วชอบใช้อยู่เป็นประจำ คนไทยทั่วไปนั้นทราบดี แต่ก็ไม่ค่อยมีใครออกมาต่อต้านอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับเรื่องปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองบางคนในทุกวันนี้
ผู้ใหญ่ท่านนั้นกล่าวต่อไปว่า ปัญหามันอยู่ที่คนซึ่งไม่ทราบความจริงมาก่อนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อได้รับข่าวสารที่บิดเบือนดังกล่าวบ่อยครั้งเข้าจะเกิดความเชื่อโดยไม่รู้ตัวได้ ผมเห็นด้วยกับท่านไม่เช่นนั้นเขาจะมีตำราสงครามจิตวิทยาไว้ทำไม การโฆษณาชวนเชื่อมีผลที่เป็นไปได้จริง ดังนั้นผมจึงต้องกลับมาเขียนเรื่องเดิมอีกครั้ง พวกเขาพูดบ่อยๆซ้ำๆ ผมก็จะเขียนบ่อยๆซ้ำๆเหมือนกันจนกว่ามันจะตายไปข้างหนึ่ง
การที่สื่อต่างประเทศเช่น เว็บไซด์แวนคูเวอร์ซันหรือนิตยสารฟอร์บส์จัดลำดับจากผลการสำรวจทรัพย์สินระบุว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีฐานะร่ำรวยอยู่ในลำดับที่หนึ่ง โดยได้นำเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าไปรวมกับทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่แล้ว
ตาม พรบ.ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2477 ได้ยกเว้นการเก็บภาษีอากรทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เว้นแต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ต้องเสียภาษี โดยได้ให้คำจำกัดความทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นหมายถึงอะไรบ้าง แต่เนื่องจากทรัพย์สินฯดังกล่าวของเดิมยังรวมกันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมพระคลังข้างที่ รัฐบาลสมัยนั้นที่มี พ.อ. พหล พลพยุหเสนา เป็น นรม. จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6 นาย โดยมี พระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็นประธานให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการเก็บภาษีทรัพย์สินส่วนพระองค์ ตาม พรบ.ดังกล่าวได้ ซึ่งคณะกรรมการก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย

ต่อมาได้มีการออกพรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์อีก 3 ฉบับ ในพ.ศ. 2479 พ.ศ. 2484 และพ.ศ. 2491 โดยได้แบ่งทรัพย์สินฯออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้คำจำกัดความเอาไว้ดังนี้
  - ทรัพย์สินส่วนพระองค์ หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใด นอกจากที่ทรงได้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์
 - ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง
- ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ นอกจากทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวมาแล้ว
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้ถูกจัดแบ่งออกไปอย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 จึงไม่สามารถที่จะนำเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปรวมกันแล้วนำมาจัดลำดับความร่ำรวยได้ แม้ว่ารายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 ของพรบ.ฯ แต่ตัวทรัพย์สินทั้งหมดยังคงอยู่และถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าพระองค์ใด เสด็จขึ้นมาครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆไปก็จะทรงมีสิทธิเฉพาะรายได้จากทรัพย์สินส่วนนี้สำหรับไว้ใช้ตามพระราชอัธยาศัย
เรื่องของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นี้ผมเคยอ่านพบในบทความหนึ่งเขียนเอาไว้ว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์แต่จัดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งผมเห็นว่าข้อเขียนนี้ก็ไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันที่ได้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินของแผ่นดินออกไปแล้ว บรรดาที่ดินซึ่งอยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีโฉนดทุกแปลงและส่วนใหญ่จะมีพระนามของพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆเป็นเจ้าของที่ดิน (ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) แตกต่างจากที่ดินสาธารณะประโยชน์ ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร ฯลฯ ซึ่งมิได้มีโฉนดและหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแล ถือว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
การกล่าวถึงข้อเท็จจริงเรื่องทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็เพื่อให้มีความชัดเจนว่าสื่อต่างประเทศจัดลำดับความร่ำรวยโดยใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามความร่ำรวยอันดับที่เท่าใดก็ไม่ได้มีความสำคัญในประเด็นนี้ การที่มีบุคคลบางคนได้พยายามนำเรื่องความร่ำรวยมาอ้างถึงให้เกี่ยวพันกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นสิ่งที่ขัดกันนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้นมาอย่างไร้สาระสิ้นดี วัตถุประสงค์ของพวกเขาเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการให้ร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นการชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตของบุคคลรวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีความมั่นคงไม่เกิดความผิดพลาดหรือเสียหายอย่างรุนแรงแม้จะเกิดเหตุการณ์วิกฤติใดๆขึ้น ไม่ได้มีข้อห้ามความร่ำรวยความเจริญก้าวหน้าแต่ประการใด
ทั้งคนรวย คนปานกลาง และคนจนก็สามารถที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นหลักในแนวทางการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพการงานได้ ความร่ำรวยมากน้อยเพียงใดก็มิได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าความร่ำรวยนั้นไม่ได้มีที่มาโดยมิชอบ
ความดี ความชั่ว ไม่ได้วัดกันที่ความร่ำรวยหรือความยากจน
คนรวยที่ทุจริตคอรัปชั่น บ่อนทำลายชาติบ้านเมือง มีพฤติกรรมที่เลวทรามเป็นคนชั่ว
คนจนหาเช้ากินค่ำ มีความประพฤติดี รักชาติบ้านเมือง เป็นคนดี

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ในหลวง” พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาว


วันที่ 26 ธ.ค.2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ภาคเหนือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยหนาวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา และหอประชุมที่ว่าการอำเภอสะเมิง รวม 1,000 ผืน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ คาดว่าสภาพอากาศทางภาคเหนือตอนบนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ อุณหภูมิจะต่ำสุด 13-21 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณเทือกเขา หรือยอดดอยจะมีอุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ทำให้จังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะในพื้นที่สูงจะได้รับผลกระทบจากภัยหนาวต่อไปอีก ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศให้ทั้ง 25 อำเภอเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สภากาชาดไทย ร่วมกับจังหวัดนครพนม นำผ้าห่มกันหนาว จำนวน 1,200 ชุด และเสื้อกันหนาวพร้อมอุปกรณ์การเรียน จำนวน 200 ชุด ไปมอบแก่ประชาชนและนักเรียน เพื่อบรรเทาความหนาวเย็น และสร้างขวัญกำลังใจ ที่วัดบัวขาว อำเภอเรณูนคร และหอประชุมโรงเรียนกุตาไก้วิทยาคม อำเภอปลาปาก โดยสภากาชาดไทยได้ให้สถานีกาชาดต่าง ๆ ที่รับผิดชอบพื้นที่ภัยหนาว ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ในหลวง” พระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย


วันที่ 24 ธ.ค.2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย และภัยหนาว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดต่าง ๆ โดยนายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิฯ และคณะ ไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบอุทกภัย ณ หอประชุมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41อำเภอรามัน จังหวัดยะลา 2,000 ครัวเรือน, องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล 2,000 ครัวเรือน, และโรงเรียนวัดตันตยาภิรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง อีก 1,000 ครัวเรือน โดยพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศมาเลเซีย ในช่วงวันที่ 22 – 23 ธันวาคมนี้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น  ทำให้มีฝนเพิ่มมากขึ้น เกิดน้ำป่าไหลหลาก, น้ำล้นตลิ่ง, และน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย            

ส่วนนายประวิทย์  หาญณรงค์ รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และคณะ ไปมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาว ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ รวม 1,000 ผืน โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และมีความกดอากาศสูงระลอกใหม่แผ่เสริมลงมาในช่วงวันที่ 21 – 23 ธันวาคมนี้ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นต่อไป ขณะนี้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาวแล้ว 12 จังหวัด 78 อำเภอ 519 ตำบล 5,806 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านครัวเรือน กว่า 3.2 ล้านคน

หน่วยแพทย์พระราชทานพระตำหนักจักรีบงกช จัดกิจกรรม “การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายอายุ 55 – 69 ปี” ณ บริเวณพระตำหนักจักรีบงกช จังหวัดปทุมธานี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 ภายใต้แนวคิด “ความรักพ่อนั้นยิ่งใหญ่ โปรดใส่ใจในสุขภาพของพ่อ” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีการเจาะเลือดเพื่อหาค่าของเอนไซม์ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และนิทรรศการความรู้เรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2552 พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากติดอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย ปัจจุบันพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นมากกว่าระยะลุกลาม เนื่องจากสามารถตรวจคัดกรองได้ นอกจากนี้ มีบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป กิจกรรมยางยืดพิชิตโรค และการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๖ พรรษา “พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์”


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๖ พรรษา "พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์” และลงนามถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กล่าวรายงาน ถึงวัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ 


ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศ และนายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ รับเสด็จ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ซึ่งนิทรรศการนี้รัฐบาล ร่วมกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ หรือ พระมหากษัตริย์โดยนิทรรศการได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ, การยกย่องเฉลิมพระเกียรติจากหน่วยงานและองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา อาทิ อัครศิลปิน, พระบิดาแห่งฝนหลวง, พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน นอกจากนี้ มีการแสดงประติมากรรมรูปกระต่าย สัญลักษณ์ปีพระบรมราชสมภพจากศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมทั้ง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหลวง

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“พระราชินีฯ” พระราชทานผ้าห่มกันหนาวช่วยเหลือประชาชน จ.ศรีสะเกษ


วันที่ 20 ธ.ค.2556  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานช่วยเหลือประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ผู้ประสบภัยหนาว จ.ศรีสะเกษ เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นและสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน


วานนี้ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกา สภากาชาดไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางมามอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ประชาชนที่กำลังประสบภัยหนาวในเขต อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จำนวนทั้งสิ้น 400 ชุด พร้อมทั้งถวายพระภิกษุสงฆ์จำนวน 30 ชุด โดยมี นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางศิรดา กีรติเรขา นายกเหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ และคณะกรรมการเหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ และร่วมพิธีมอบผ้าห่มกันหนาวในครั้งนี้

นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบภาวะความหนาวเย็น จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตนเป็นผู้แทนพระองค์นำเครื่องกันหนาว จำนวน 1,660 ชุดมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และมอบแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นและสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนในพื้นที่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ อ.ศิลาลาด อ.ราษีไศล และ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ

ขณะที่ในช่วงเช้าผู้แทนพระองค์ได้เดินทางไปที่หอประชุมที่ว่าการ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ และหอประชุมที่ว่าการ อ.ศิลาลาด เพื่อถวายผ้าห่มกันหนาวแด่พระภิกษุสงฆ์ อำเภอละ 30 ชุด และมอบผ้าห่มกันหนาว และเสื้อกันหนาวแก่ประชาชน อำเภอละ 400 ชุด จากนั้นในช่วงบ่ายได้เดินทางไปที่หอประชุมที่ว่าการ อ.ราษีไศล และหอประชุมที่ว่าการ อ.ยางชุมน้อย เพื่อถวายผ้าห่มกันหนาวแด่พระภิกษุสงฆ์ อำเภอละ 30 ชุด และมอบผ้าห่มกันหนาวและเสื้อกันหนาวให้แก่ประชาชน อำเภอละ 400 ชุด

นอกจากนี้ ยังมีผ้าห่มกันหนาวอีกกว่า 20,000 ผืนที่สภากาชาดไทยมอบหมายให้เหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่ประสบภัยหนาว นำไปมอบให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อน โดยเป็นผ้าห่มทอมือจากฝีมือชาวบ้าน 30 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสภากาชาดไทย ตามนโยบายด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นอีกภารกิจหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือประชาชนของสภากาชาดไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙